5 มิ.ย. 2022 เวลา 02:33 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางมังกร ตอนที่ 1.1 ยุทธการลำน้ำเฝยสุ่ย
ความเสื่อมถอยและขาดเอกภาพในการปกครองในราชวงศ์จิ้นตะวันตก และสงคราม 8 อ๋อง ซึ่งก็คือการเข่นฆ่ากันเองของลูกหลานตระกูลสุมา จนกระทั่งชนเผ่านอกด่านได้เพิ่มอิทธิพลมากขึ้นในดินแดนเดียวกัน ชาวฮั่นอพยพลงใต้ ราชวงศ์จิ้นตะวันออกเริ่มขึ้นที่เมืองเจี้ยนคัง ทางใต้แม่น้ำแยงซีเกียง ไม่ใช่เพราะเหตุผลอื่นใด แต่มันคือการถอยร่น
เพราะบัดนี้ ผู้ครองแผ่นดินทางตอนเหนือ คือกลุ่มที่เรียกว่า 5 ชนเผ่า 16 แคว้น ตั้งแต่ คศ.304 เป็นต้นมา การปกครองทางตอนเหนือถูกผลัดเปลี่ยนอำนาจไปมาอยู่หลายครั้ง จนกระทั่ง ฝูเจียน ผู้ปกครองชนเผ่าตี แห่งอาณาจักรเฉียนฉิน ได้กลายมาเป็นผู้ครองแคว้นที่มีความโดดเด่น
อาณาจักรจากตอนกลางของประเทศมองโกเลีย ลงมาถึงแม่น้ำแยงซีเกียง คืออาณาเขตที่เฉียนฉินรวบรวมมาได้ ดังนั้น ก้าวสุดท้ายของฝูเจียนก็คือ การผนวกดินแดนฝ่ายจิ้น หรือจิ้นตะวันออก แล้วรวมเป็นแผ่นดินเดียวกัน แต่มันจะเป็นไปได้หรือ กับคนต่างชาติหลากหลายชนเผ่า ภารกิจนี้ย่อมเชื่อได้ว่า ยากยิ่งกว่า สมัยของ ฉินซีฮ่องเต้
ความยากของการผนวกแผ่นดินของหลากหลายชนเผ่านี้เอง ทำให้เราต้องมาหาคำตอบว่า ก่อนที่ฝูเจียนจะกล้าคิดเรื่องนี้ เขาได้ทำอะไรลงไปแล้วบ้าง
ฝูเจียนในวัยเด็กเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่รักในการศึกษาหาความรู้ ได้ร่ำเรียนในลัทธิขงจื๊อและมีอาจารย์ผู้ฝึกสอนอยู่มากมาย โดย ฝูสง ผู้เป็นปู่มีความโปรดปรานในตัวหลานคนนี้มาก จึงส่งเสริมในเรื่องของการจัดหาอาจารย์ที่มีความสามารถมาให้ความรู้แก่ฝูเจียน ฝูเจียนจึงเติบโตขึ้นมาในฐานะของบัณฑิตผู้มีทรงภูมิ และข้างกายของเขาก็เต็มไปด้วยผู้มีสติปัญญา
1
ย้อนกลับไปที่ฝูหง ปู่ของฝูเจียนซึ่งเป็นอดีตขุนพลของอาณาจักรโฮ่วเจ้า หนึ่งในชนเผ่าที่แย่งชิงดินแดนทางเหนือของจีน ต่อมาฝูหงได้สร้างความดีความชอบจนได้ปกครองเมืองฟางเฉิง และเมื่ออาณาจักรโฮ่วเจ้าอ่อนแอลง ฝูหงจึงสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเฉียนฉิน
เมื่อสิ้นฝูหงผู้ก่อตั้งอาณาจักร ฝูเจี้ยน บุตรชายคนโตได้ครองอาณาจักรต่อ โดย ฝูสง บิดาของฝูเจียน และเป็นพี่น้องกับฝูเจี้ยน(ไม่ใช่ฝูเจียน) ได้ดำรงตำแหน่งตงไห่อ๋อง
ซึ่งต่อมาฝูเจียนได้ครองบรรดาศักดิ์อ๋องสืบต่อจากบิดา จนกระทั่ง ปี คศ.353 ฝูเชิงขึ้นเป็นกษัตริย์แทนฝูเจี้ยนผู้บิดา ย้ายเมืองหลวงมาที่ฉางอาน แต่ฝูเชิงกลับเป็นคนที่ไร้ความสามรถ ปกครองอาณาจักรด้วยความโหดร้าย จนได้รับการจารึกว่าเป็นหนึ่งในทรราชของแผ่นดิน
อย่างไรก็ตามฝูเชิงก็ถือว่าเป็นนักรบที่เข้มแข็งคนหนึ่ง เหล่าขุนนางและชาวเมืองต่างมีความนิยมในตัวของฝูเจียนซึ่งมีสติปัญญาและความโอบอ้อมอารีมากกว่า ต่างพยายามให้ฝูเจียนทำการล้มล้างฝูเชิงแล้วชิงอำนาจ
แต่ความนิยมชมชอบ กลับนำมาซึ่งภัยอันตรายถึงชีวิต จนกระทั่งแผนการสั่งหารฝูเจียนได้ล่วงรู้มาถึงหู ฝูเจียนจึงไร้ทางเลือกนอกจากชิงลงมือก่อน ชิงบรรลังค์อาณาจักรเฉียนฉินมาครอง ขึ้นดำรงตำแหน่งในฐานะเทียนหวาง
แผ่นดินเฉียนฉินที่ฝูเจียนได้มาครองมิได้มีความราบรื่นเฉกเช่นบัลลังค์ที่สวยงาม เมืองฉางอันที่เต็มไปด้วยชนเผ่าต่าง ๆ และการบริหารราชการที่ขาดระบบที่ดี
ฝูเจียนได้สั่งการให้ลดการใช้จ่ายในราชวังที่ฟุ่มเฟือย ลดเครื่องเสวย การร้องรำทำเพลง บุกเบิกไร่นา ฟื้นฟูการศึกษาแบบฮั่น จัดการระบบระเบียบการปกครองเสียใหม่ สิ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ การรับสมัครข้าราชการตามความสามารถ ให้โอกาสแก่บัณฑิตฮั่นได้มีได้โอกาสในงานราชการ
แน่นอนว่าเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดคือหวางเหมิ่ง เสนาบดีข้างกายของฝูเจียนซึ่งได้รู้จักการมาตั้งแต่ช่วงที่ฝูเจียนยังไม่ได้ชิงบัลลังค์ หวางเมิ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่ปกครองด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมา ด้วยสภาพบ้านเมืองในขณะนั้นเต็มไปด้วยขุนนางที่มีคุณูปการในการรวมแผ่นดินและก่อสร้างบ้านเมือง ซี่งได้รับอภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย
เหตุผลของการปกครองตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หวามเมิ่งมีคำกล่าวที่ว่า "ยามสงบปกครองด้วยจารีต ยามคับขันปกครองด้วยนิติธรรม" ดังนั้นการลงโทษของหวางเมิ่งจึงไม่เว้นแม้แต่เชื้อพระวงศ์และบุคคลชั้นสูง แม้จะได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นของประชาชนทั่วไปและสามารถทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
หวางเมิ่งเสนอให้ฟื้นฟูการศึกษาแบบชาวฮั่น ทั้งวัฒนธรรมและการศึกษาที่เริ่มผสมผสานกัน จึงทำให้สามารถลดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติลงได้บ้าง หันมาให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการฟื้นฟูบ้านเมืองจากสงคราม แม้ในยามวิกฤติเกิดภัยแล้งข้าวยากหมากแพงก็ให้ลดเงินเดือนข้าราชการและการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่าง ๆ
อาณาจักรเฉียนฉินทะยานสู่ความรุ่งโรจน์ แต่สุขภาพร่างกายของหวางเมิ่งกลับเสื่อมถอยลง ปี คศ.375 ก่อนสิ้นใจ คำสั่งเสียที่มีต่อฝูเจียนแค่สองอย่างคือ อย่ายกทัพลงใต้ และห้ามเชื่อใจมู่หยงฉุย หัวหน้าชนเผ่าเซียนเปยที่เพิ่งเข้ามาสวามิภักดิ์
แต่ด้วยความรุ่งโรจน์และความเพรียกพร้อมที่หวางเมิ่งได้ทิ้งไว้ให้ ทำให้ฝูเจียนเพิกเฉยต่อคำร้องขอเพียงสองข้อ เตรียมทัพลงใต้ หวังรวมแผ่นดิน จารึกชื่อเป็นองค์จักรพรรดิหนึ่งเดียวคนต่อไป
แต่ก็ใช่ว่าฝูเจียนจะสามารถทำได้ทันที เมื่อหวางเมิ่งจากไป การบริหารงานต่าง ๆ ก็ผิดเพี้ยนไปบ้าง พบรายงานเท็จจากมณฑลต่าง ๆ เข้ามายังราชสำนัก ภาระงานของฝูเจียนหนักขึ้นเมื่อไม่มีหวางเมิ่ง ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาที่ออกในปี 376 ระบุว่า "ภาระงานของฝูเจียนหนักขึ้น จนผมกลายเป็นสีขาวครึ่งศรีษะ"
แต่อย่างไรก็ตามภารกิจรวมแผ่นดินยังต้องดำเนินต่อ การรวมแผ่นดินและปราบขบถที่ยังเหลืออยู่ถูกดำเนินการต่อไป ตลอดเวลา 15 ปีแห่งการบริหารแผ่นดิน บ้านเมืองเฉียนฉินและการทหารได้พัฒนาขึ้นอย่างมาก
ฝูเจียนสามารถพิชิตอาณาจักรเฉียนเยียนและอีกสิบกว่าอาณาจักร จนรวบรวมแผ่นดินทางเหนือไว้ได้ทั้งหมด ยาวลงมาถึงเสฉวน และฉงชิ่ง ที่สำคัญคือ Xiangyang หยางประตูสู่แยงซีเกียง คศ.381แผ่นดินทางเหนือทั้งหมดจึงเป็นของเฉียนฉิน นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า พร้อมแล้วสำหรับการเดินทัพลงใต้
ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเหล่าขุนนางนำโดยฝูหยง น้องชายของเขาเอง 8 ปีหลังจากการจากไปของหวางเมิ่ง ฤดูร้อนของปี คศ.383 ฝูเจียนสั่งการทัพเริ่มยกแยกออกจากฉางอัน ให้มู่หยงฉุย อดีตแม่ทัพชนเผ่าเซียนเปย คนที่หวางเมิ่งได้เตือนไว้ก่อนตาย และเหยาฉาง อดีตแม่ทัพชนเผ่าเชียง จัดทัพลงใต้
ฝูหยงน้องชายเป็นทัพหน้า ฝูเจียนนำทัพตามลงไปในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน คำยุยงของแม่ทัพต่างเผ่าทั้งสองที่มีต่อฝูเจียนทำให้ฝูเจียนลำพองใจ เมื่อเหล่าขุนนางทัดทานว่า แม่น้ำแยงซีมีแนวปราการป้องกันหนาแน่น ด้วยกองกำลังผสมหลายหลายชนเผ่าที่ไร้เอกภาพและวินัย ท่านจะข้ามไปได้อย่างไร
ด้วยความลำพองใจในจำนวนที่มากกว่า ฝูเจียนตอบว่า "หากเพียงทหารเราทิ้งแส้ลงลำน้ำแยงซี ก็สามารถสกัดเส้นทางน้ำให้หยุดไหล อย่างง่ายดาย" แต่ใครเล่าจะรู้ได้ว่า เจตนาของทั้งสองแม่ทัพที่ยุยง คือ ความย่อยยับของฝ่ายใดก็ได้ จากสงครามครั้งนี้ย่อมนำมาซึ่งการฟื้นฟูของชนเผ่าของตน
ทัพเฉียนฉินเดินเท้าลงสู่ทิศใต้ได้รับชัยชนะดุจเหยียบต้นหญ้าอันอ่อนแรง จนกระทั่งถึงสมรภูมิซึ่งต่อมาเรียกว่า สมรภูมิลำน้ำเฝยสุ่ย แม้ปัจจุบันจะไม่แน่ชัดเรื่องที่ตั้ง แต่คาดว่าอยู่บริเวณใกล้แม่น้ำฮวย มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน ทัพเฉียนฉินได้แม่ทัพจูซวี่ของจิ้นตะวันออกที่เข้าสวามิภักดิ์ ตั้งแต่ศึกชิงเมือง Xiangyang ในปี 379
ฝ่ายจิ้นตะวันออกก็รับศึกโดยแม่ทัพเซี่ยสือและเซี่ยเสวียน ด้วยกำลังพลแปดหมื่น น้อยกว่าเฉียนฉินราวสิบเท่า โดยมีเซี่ยอัน นายกรัฐมนตรีผู้เป็นทุกอย่างของจิ้นตะวันออก คอยวางแผนอยู่เบื้องหลัง เดือนตุลาคมของปีเดียวกันเฉียนฉินตีเมืองโซ่วหยางแตก ฝูเจียนนำกำลังทัพหลวงเข้าสมทบกับฝูหยงผู้น้อง
ฝูเจียนส่งจูซวี่ที่เพิ่งเข้ามาสวามิภักดิ์เข้าไปเกลี้ยกล่อมให้เซี่ยสือและเซี่ยเซวียนสวามิภักดิ์แต่โดยดี แต่แม่ทัพจูซวี่แท้จริงแล้วคือแกล้งยอมแพ้เพื่อเอาตัวรอด ได้แจ้งแผนการกำลังพลให้กับเซี่ยสือรู้ทั้งหมด พร้อมแนะนำให้โจมตีก่อนที่ทัพทั้งหมดของเฉียนฉินจะมาถึง
เมื่อได้ยินเช่นนั้นเหล่าแม่ทัพตระกูลเซี่ยก็เกิดแผนขึ้นในใจ โดยได้กำลังพลของแม่ทัพจูซวี่ที่สวามิภักดิ์เป็นส่วนสำคัญในแผนการครั้งนี้ และการโจมตีทันทีก่อนทัพเฉียนฉินจะรวมตัวกันจึงเป็นแผนการที่ดีที่สุด
จูซวี่กลับไปทัพเฉียนฉินพร้อมแจ้งผลการเจรจาว่า ทัพจิ้นพร้อมเดินหน้าเข้ารบแม้จะมีกำลังพลน้อยกว่าก็ตาม
เซี่ยเสวียนแม่ทัพหน้า นำกำลัง 5,000 ออกตีค่ายสังหารทหารเฉียนฉินได้ถึง 15,000 คน และตั้งทัพเป็นแนวยาวหน้ากระดานเพื่อแสดงให้ทัพเฉียนฉินเห็นว่ากำลังพลของเขามีมากพอที่จะรับศึกครั้งนี้ได้ และตัวเลข 15,000 ของทหารเฉียนฉินที่ไม่ได้กลับบ้านคือเครื่องการรันตี
เซี่ยเซวียนนำทัพเข้าประจันหน้าคนละฝั่งแม่น้ำ พร้อมส่งสารน์ถึงฝูหยงว่า "หากศึกนี้คือความต้องการของท่านจงนำทัพข้ามมา หาไม่แล้วจงเปิดทางให้เรานำทัพข้ามไป แล้วรบกันให้รู้แพ้ชนะ ฝากชื่อไว้กับแผ่นดิน"
ฝูเจียนเห็นว่าหากโจมตีระหว่างข้ามลำน้ำมาก็จะชิงความได้เปรียบทันทีอย่างง่ายดาย ทัพจิ้นไม่มีทางถอยและอาจถูกแยกเป็นสองส่วน จึงสั่งการให้ฝูหยงถอยทัพเปิดพื้นที่ริมน้ำให้แก่ฝ่ายจิ้น แม้จะมีเสียงคัดค้านอยู่ก็ตาม
ทันใดนั้นกุญแจหลักของศึกครั้งนี้ก็ได้ถูกไขขึ้น กับทหารที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทหารเฉียนฉินบางส่วนรับจ้าง บ้างถูกเกณฑ์มา เมื่อเห็นการถอยทัพอย่างกระทันหันก็เริ่มที่จะระส่ำระสาย สับสนกับคำสั่งที่มาจากแนวหน้า แม่ทหารในทัพจูซวี่ที่แกล้งเข้ามสวามิภักดิ์ได้ร้องขึ้นว่า "ทัพหน้าแตกแล้ว เรากำลังพ่ายศึก"
ความแตกตื่นได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเพราะทหารในแนวหลังไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นด้านหน้า แนวรบเสียไป ทหารเพียง 80,000 ของจิ้นไล่ฆ่าฟันทหาร 800,000 ของฝูเจียนแตกกระจัดกระจาย ฝูหยงน้องชายฝูเจียนผู้เป็นทัพหน้า พยายามห้ามปรามความสับสนวุ่นวายที่ควบคุมไม่ได้ ขับม้าสะดุดล้มลง ถูกสังหารตายในที่รบ
การถอยหนีอย่างฉับพลันทำให้ทิ้งเสบียงอาหาร รอยเท้าและล้อเกวียนที่ทิ้งไว้ทำให้ทัพจิ้นแน่ใจว่าแผนการใช้ได้ผล แม่ทัพตระกูลเซี่ยขับทหารไล่ติดตามทันใด เกือบทั้งหมดของ 800,000 ชีวิตถูกสังหารในที่รบและความอดอยากระหว่างหลบหนี
ความหวังของฝูเจียนยังมีอยู่ เพราะทัพหนุนของมู่หยงฉุยและเหยาฉางยังรออยู่ข้างหลัง มู่หยงฉุยพากำลังสามหมื่นเข้าช่วยฝูเจียนถอยกลับลั่วหยาง โดยทิ้งข้อสงสัยให้ฝูเจียนว่า เหตุใดกองกำลังของมู่หยงฉุยจึงไม่บอบช้ำเลยแม้แต่น้อย
ในขณะที่กองทัพของฝูเจียนสูญเสียแทบทั้งหมด ข่าวการพ่ายศึกของฝูเจียนทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องขึ้นทางตะวันออก มู่หยงฉุยจึงได้โอกาสขอกองกำลังจากฝูเจียนเพื่อไปปราบปราม นั่นเองจึงเป็นช่องทางให้มู่หยงฉุยเผยความในใจออกมาโดยการก่อขบถ ฟื้นฟูเผ่าเซียนเปยของเขาขึ้นมา ในขณะที่เฉียนฉินเริ่มอ่อนแอ
การเมินเฉยต่อคำสั่งเสียของหวางเมิ่งได้สร้างความย่อยยับให้กับอาณาจักรเฉียนฉินที่ฝูเจียนได้สร้างมาเองกับมือตลอดเวลายี่สิบปีทลายไปสิ้น เมื่อชนเผ่าต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้เฉียนฉินเริ่มแยกตัวเป็นอิสระ จนกระทั่ง คศ.385 ฝูเจียนเองก็ต้องตายด้วยฝีมือเหยาฉางซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่คิดทรยศต่อเขาตั้งแต่แรก
ความจริงหวางเมิ่งมิใช่จะไม่ต้องการให้ฝูเจียนรวมแผ่นดิน แต่หวางเมิ่งต้องการให้รอจนกว่าจิ้นจะรบกันเองและอ่อนแอลงเฉกเช่นที่จิ้นตะวันตกได้เสื่อมถอยไปเอง เพราะเวลานั้นนายกรัฐมนตรีเซี่ยอันได้ผสานผลประโยชน์ รวมใจชาวฮั่นให้เป็นหนึ่ง
ดังนั้นการควบรวมจิ้นตะวันออกจึงยังไม่ถึงเวลา การป้องกันบ้านเมืองของชาวจิ้นตะวันออก ทำให้จิ้นกลับรวมกันเป็นหนึ่งเหนียวแน่นยิ่งขึ้น ในขณะที่เฉียนฉินใช้ทหารจากเผ่าต่าง ๆ ไปรุกราน
แม้ไม่ฟังคำเตือนของหวางเมิ่งเองก็ตาม หากเพียงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ตกเป็นทาสแห่งความประมาท ไม่ใช้งูเห่าสามตัวที่อยู่ข้างกาย ชีวิตของชายที่ชื่อฝูเจียนน่าจะจารึกว่าเป็นหนึ่งในผู้รวมแผ่นดิน ทั้งสติปัญญาและคุณธรรม อาจทำให้ฝูเจียนจบชีวิตได้ดีกว่านี้
ฝูเจียนเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในอาณาจักรเฉียนฉินที่ไม่ใช้ตำแหน่งจักรพรรดิ เพียงประกาศตนว่าเป็นเทียนหวาง หรือราชาสวรรค์
กองกำลังของจิ้นได้รุกขึ้นเหนือและได้ฟื้นฟูพื้นที่ใจกลางของจีนส่วนใหญ่ ก่อร่างเป็นพื้นฐานสำหรับการเดินทางของหลิวอี้ว์ และช่วงราชวงศ์เหนือ-ใต้ ที่จะตามมาหลังจากนั้นไม่นาน สี่ม่วงคือเฉียนฉิน สีเหลืองคือฝ่ายจิ้น พรมแดนสีดำคือพรมแดนระหว่างสองแคว้นก่อนศึกครั้งนี้ สีแดงคือพรมแดนระหว่างสองแคว้นที่เกิดจากการตีโต้ของจิ้นตะวันออกหลังศึกครั้งนี้จบลง และจิ้นเองก็สงบจากการรุกรานนับร้อยปีหลังจากนี้
ขณะที่อาณาจักรเฉียนฉินค่อย ๆ ล่มสลายลง ทั่วป๋ากุย หัวหน้าชนเผ่าเซียนเปยเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของมองโกเลียค่อย ๆ เติบโตขึ้นเป็นอาณาจักรเว่ยเป่ย แทนที่อาณาจักรเฉียนฉิน และอยู่ได้ถึง 171 ปี นำพาบ้านเมืองเข้าสู่ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ในปี คศ.420
การต่อสู้ครั้งนี้มีชื่อเสียงไม่เพียงเพราะมีความสำคัญในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นตำราที่เป็นตัวอย่างที่ดี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฝึกกำลังทหาร ขวัญกำลังใจ ความจงรักภักดี และการสั่งการการรบอย่างเป็นระบบ
เดินทางกันต่อไปกว่าจะเข้าสู่ความเป็นมหาอำนาจของเส้นทางมังกร พบกันตอนต่อไปครับ
โฆษณา