11 ก.ย. 2022 เวลา 02:03 • การศึกษา
กรรมของการห้ามคนบูชาพระเจดีย์
จุดหมายปลายทางของการเดินทางไกลในสังสารวัฏของมวลมนุษยชาติ คืออายตนนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบของบุคคลผู้เข้าถึงฝั่งแห่งนิพพาน ที่มีแต่ความสุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์มาเจือปน ท่านบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของชีวิตแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ทุกท่านควรจะดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดาจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในสังสารวัฏอีก การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่เป็นประจำ เป็นหนทางลัดที่สุดที่มุ่งสู่อายตนนิพพาน เพราะเป็นการเพิ่มเติมความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ขัดเกลากิเลสอาสวะให้เบาบาง จนกระทั่งกิเลสอาสวะหมดสิ้นออกจากใจได้
มีพระบาลีกล่าวไว้ใน ราชปุตตเปตวัตถุ ว่า...
“เอวมาทีนวํ ญตฺวา อิสฺสรมทสมฺภวํ
ปหาย อิสฺสรมทํ นิวาตมนุวตฺตเย
ทิฏฺเฐ ว ธมฺเม ปาสํโส โย พุทฺเธสุ สคารโว
กายสฺส เภทา สปฺปญฺโญ สคฺคํ โส อุปฺปชฺชติ
นรชนรู้โทษอันเกิดเพราะอำนาจความมัวเมาในความเป็นใหญ่อย่างนี้แล้ว พึงละความมัวเมาในความเป็นใหญ่เสีย แล้วประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ควรอ่อนน้อม ผู้ใดมีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา ย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์”
ความมัวเมาเป็นอาการของคนขาดสติ ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นทางมาของความประมาท แล้วยังเป็นต้นเหตุให้พลาดจากหนทางสวรรค์นิพพานอีกด้วย มีสุภาษิตสอนใจอยู่บทหนึ่งว่า หลงตัวลืมตาย หลงกายลืมแก่ หลงใหลสามีภรรยาลืมพ่อแม่ หมายถึงว่า ถ้าเอาใจไปยึดติดกับสิ่งใดแล้ว ก็จะทำให้เป็นคนขาดวิจารณญาณ มองไม่เห็นโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริง
ชาวโลกส่วนใหญ่มักจะส่งใจไปยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งนอกตัว ทำให้มองไม่ออกว่า สิ่งที่ละเอียดประณีตและนำความสุขมาให้ยิ่งไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีกมากนัก
ความมัวเมามีตั้งแต่ มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว มัวเมาในชีวิต ทำเหมือนว่าตนเองจะไม่แก่ ไม่เจ็บไม่ตาย ทำให้ไม่เร่งรีบทำหน้าที่ของตนเองที่ควรกระทำให้สมบูรณ์ และมีผู้คนมากมายที่มัวหลงใหลมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ
เมื่อได้โอกาสดี ๆ ในชีวิตแล้ว แทนที่จะนำโอกาสนี้ไปใช้ในการพัฒนาบุคคลากรให้มีคุณภาพชีวิตให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป กลับนำเอายศอำนาจไปใช้ในทางที่ผิด เบียดเบียนคนอื่น แล้วกระทำบาปอกุศล ทำให้ชีวิตตรอมตรมในอบายภูมิเป็นเวลายาวนาน กว่าจะสำนึกได้ก็ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว
เหมือนในสมัยหลังพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งไปประดิษฐานที่กรุงราชคฤห์ แล้วทรงทำการเฉลิมฉลองพระสถูปเจดีย์ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ทำให้มหาชนที่มีจิตเลื่อมใสเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นับประมาณไม่ได้
แต่ในขณะเดียวกันมีกุฎุมพีคนหนึ่ง เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นมิจฉาทิฏฐิ อาศัยว่าตนเองเป็นคนมีชื่อเสียง จึงบอกกล่าวห้ามปรามมหาชนไม่ให้ไปสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จนมหาชนประมาณ ๘๖,๐๐๐ หลงเชื่อตน
ในสมัยนั้น มีกุลสตรีท่านหนึ่งในกรุงราชคฤห์ มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นพิเศษ ได้ชักชวนเพื่อนไปสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ต่างก็ถือเครื่องสักการะของหอมมากไปที่ลานพระเจดีย์ ในระหว่างทางถูกกุฎุมพีคัดค้านการกระทำของพวกนาง พูดตำหนิติเตียนว่า "การบูชากระดูกของคนตายแล้วจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเล่า การกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระทั้งนั้น
พวกท่านอย่าไปบูชาให้เสียเวลาเลย" แต่พวกเธอก็ไม่ใส่ใจคำพูดของคนพาล พากันเดินทางไปจนถึงพระเจดีย์ ทำการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ด้วยจิตที่เลื่อมใส ครั้นเมื่อละโลกไปแล้วทำให้ได้ไปบังเกิดในสวรรค์
หลังจากกุฎุมพีนั้นสิ้นชีวิตลง ก็ไปบังเกิดเป็นเปรตหิวโซ ต่อมาวันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระท่านเห็นเปรตซึ่งพากันมายืนอยู่ที่ลานพระเจดีย์ รอคอยรับส่วนบุญจากหมู่ญาติที่จะมาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ เปรตตนนี้ก็เช่นกันได้ยืนอยู่ในอากาศ ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่ว หมู่หนอนพากันชอนไชปากที่มีกลิ่นเหม็น
จากนั้นนายนิรยบาลก็ถือเอามีดคม ๆ มาเชือดเฉือนปากของเปรตนั้น แล้วเอาน้ำกรดมารดใส่ปากของเปรต ทั้งเฉือนเนื้อและก็เอาน้ำกรดรดไปพร้อม ๆ กัน ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เปรตได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส พระเถระจึงไต่ถามเปรตว่า "เธอได้ทำกรรมชั่วอะไรเอาไว้ จึงต้องมารับใช้กรรมหนักหนาสาหัสถึงเพียงนี้"
เปรตนั้นตอบพระเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อก่อนกระผมเป็นอิสรชนอยู่ที่กรุงราชคฤห์นี่แหละ เป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย แต่กระผมห้ามปรามภรรยาธิดาและลูกสะใภ้ ตลอดจนชนทั้งหลายที่ไปพระเจดีย์เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเครื่องสักการะอันหาค่ามิได้ บาปที่กระผมทำเอาไว้ในครั้งนั้น ส่งผลให้ต้องมาเสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้
หลังจากนี้ก็จักต้องหมกไหม้อยู่ในนรกที่มีทุกข์เผ็ดร้อนกว่านี้อีกเป็นร้อยเป็นพันเท่า ต้องเสวยกรรมอยู่ในนรกนานถึง ๘๖,๐๐๐ ปีนรก”
ว่าแล้วเปรตก็ถือโอกาสประกาศโทษของตนเองให้พระเถระทราบ พร้อมทั้งประกาศคุณของพระรัตนตรัยที่หน้าลานพระเจดีย์ ให้มนุษย์และอมนุษย์ได้ทราบกันถ้วนหน้าว่า...
“เมื่อการบูชาและการฉลองพระสถูปของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปอยู่ ชนเหล่าใดมาขัดขวางการบูชาพระสถูปของชนเหล่าอื่นเหมือนข้าพเจ้า ชนเหล่านั้นพึงห่างเหินจากบุญใหญ่ ต้องเสวยทุกข์แสนสาหัส ตัวข้าพเจ้าเมื่อไปจากเปรตโลกนี้แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ จักเป็นผู้ไม่ประมาท ทำการบูชาพระสถูปเนืองนิตย์เป็นแน่แท้”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเปรตอีกมากมายทีเดียว เปรตนั้นมีอยู่ ๑๒ ตระกูลด้วยกัน ภพภูมิของเปรตเป็นดินแดนที่ปราศจากความเจริญ โลกของเปรตไม่มีการทำไร่ไถนา ไม่มีการทำบุญ มีแต่เสวยผลวิบากหรือเศษกรรมเท่านั้น เปรตบางตนเมื่อเสวยทุกข์จากตรงนี้แล้ว บาปยังส่งผลต่อให้ไปบังเกิดในนรก ต้องทรมานแสนสาหัสมากกว่าอีก
แต่บางตนเมื่อพ้นจากนรกก็ต้องมาเป็นเปรตก่อนก็มี ซึ่งแล้วแต่กรรมปรุงแต่งอันเป็นผลที่เกิดจากบาปอกุศลที่ได้ทำเอาไว้นั้น ฉะนั้นทุกท่านอย่าปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสแล้วพลาดไปทำบาปอกุศลกัน เพราะความสุขที่ได้ในปัจจุบันกับความทุกข์ ที่เราจะต้องไปทนทุกข์ทรมานนั้นมันไม่คุ้มกันเลย ยังมีเรื่องของเปรตอีกเรื่องหนึ่ง ที่หลวงพ่อตั้งใจนำมาเล่าเพื่อเป็นคติสอนใจให้รับทราบกันอีก เรื่องมีอยู่ว่า
ในสมัยอดีต โอรสของพระเจ้ากิตวะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ประพฤติธรรม มัวเมาในยศตำแหน่ง วันหนึ่งพระองค์ทรงดื่มน้ำจัณฑ์จนเมามายไม่ได้สติ ขณะที่เสด็จไปในพระราชอุทยาน ทรงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าสุเนตตะกำลังจะฉันภัตตาหาร เกิดจิตวิปริตอยากแกล้งท่านเล่น จึงเสด็จลงจากคอช้าง แล้วตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าไปบิณฑบาตได้อะไรมาบ้างล่ะ”
ว่าแล้วก็จับบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้ายกขึ้น แล้วทุ่มลงที่พื้นดินจนบาตรแตก พระโอรสทำอย่างนั้นแล้วก็ทรงหัวเราะชอบใจด้วยความคึกคะนอง แล้วตรัสว่า “ดูก่อนสมณะ เราเป็นโอรสของพระเจ้ากิตวะนี้ ใครจะทำอะไรเราได้ ท่านจงหลีกทางให้เรา” ว่าแล้วก็เสด็จกลับเข้าพระราชวัง
พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว จึงไม่มีอารมณ์ที่จะมาขุ่นมัวแม้เพียงชั่วขณะจิต มีแต่ใจที่ประกอบด้วยมหากรุณา เพราะทราบว่ากรรมนี้เป็นกรรมหนัก พระโอรสจะต้องหมกไหม้ในมหานรก เสวยผลกรรมอันเผ็ดร้อนเป็นเวลายาวนานถึง ๘๔,๐๐๐ ปี เมื่อจุติจากนรก ก็จะมาเกิดเป็นเปรต ต้องอดอยากยากแค้นแสนสาหัส ทนรับทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้ไปอีกยาวนาน จนกว่าเศษกรรมนั้นจะหมดไป
เมื่อเปรตมาพบพระเถระ ก็ดีใจได้กล่าวคำสรรเสริญพระรัตนตรัยเอาไว้ว่า "นรชนรู้โทษอันเกิดจากอำนาจความมัวเมาในความเป็นใหญ่แล้ว พึงละความมัวเมาในความเป็นใหญ่เสีย แล้วพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ควรอ่อนน้อม ผู้ใดมีความเคารพในพระรัตนตรัย ผู้นั้นย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์
เราจะเห็นว่า การทำอะไรลงไปโดยไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อน จะเป็นบาปมหันต์ที่ติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ จะหนีกรรมอย่างไรก็หนีไม่พ้น กรรมจะตามทวงหนี้เรา จะผัดผ่อนอย่างไรก็ผลัดไม่ได้ หนี้สินทางโลกเขายังสามารถผ่อนผันกันได้บ้าง แต่จะมาให้ผัดผ่อนในการชดใช้กรรมในปรโลกนั้นทำไม่ได้เลย
ครั้นจะบอกว่าขอเลื่อนเวลาออกไปอีกหน่อย ตอนนี้ยังไม่พร้อมเลย ก็เลื่อนไม่ได้หรอก จะต่อรองอย่างไรก็ไม่ได้สักอย่าง มีแต่ต้องทนทุกข์ทรมานจนกว่าบาปนั้นจะเบาบางลงไป เพราะฉะนั้นเกิดมาภพชาตินี้ เราควรเก็บเกี่ยวเอาแต่บุญกุศลติดตัวกันไปให้มาก ๆ แล้วก็อย่าลืมฝึกฝนใจของเราให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส อยู่เป็นประจำ ฝึกใจให้หยุดนิ่งกันไปทุก ๆ วัน จนกว่าจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุก ๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๒๒๐ – ๒๒๘
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๔๙ หน้า ๔๓๙
1
โฆษณา