7 มิ.ย. 2022 เวลา 10:05
ผ่านแล้ว ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ดันต่อเข้าสภาประกบร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ เตรียมเสนอสภาต่อ ประกบร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ถือเป็นกฎหมายใหม่ โดยหลังจากครม.เห็นชอบแล้ว และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
4
ทั้งนี้ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ จะสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสากล การหมั้นหรือสมรสในเพศเดียวกัน
โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้แทนศาสนาจากทุกศาสนา เพื่อปิดทุกจุดอ่อนให้เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคม และเป็นสากลอย่างแท้จริง
2
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้นำความเห็นจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ผู้นำศาสนาทุกศาสนา มาประกอบการพิจารณา พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก่อนเสนอมายังครม.
5
ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในสมัยประชุมนี้ เพื่อประกบกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แต่จะประกาศใช้ทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้น ยังไม่ยืนยัน
1
ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งแยกออกมาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จะไม่มีการแยกเพศ อีกทั้งในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุด้วยว่าไม่ว่าเพศอะไร หากจะเป็นคู่ชีวิตทั้งคู่ต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป รวมถึงบิดาและมารดาต้องให้ความยินยอมกรณีผู้เยาว์
5
นายวิษณุ กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นจากฝ่ายศาสนาไม่มีใครขัดข้อง แต่กรณีของศาสนาคริสต์ขอไม่ให้ใช้คำว่า “คู่สมรส”แต่ขอให้ใช้คำว่า “คู่ชีวิต”แทน
1
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายรายละเอียดของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกคือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต เช่น
* หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
* อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
* สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
* สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
* สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
* สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
* สิทธิจัดการศพ
3
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีดังนี้
1. คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
1
3. การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
3
4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
5. กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
6. คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
7. ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
8. การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
2
9. บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
10. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก
11. กำหนดให้นำบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี
ส่วน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1
* ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
* กำหนดให้เหตุฟ้องหย่ารวมถึง กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
* ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
* ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้
โฆษณา