8 มิ.ย. 2022 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“ตระกูลรอธส์ไชลด์ (Rothschild family)” ตระกูลที่รวยและทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ “ตระกูลรอธส์ไชลด์ (Rothschild family)” มาแล้วครั้งหนึ่ง
หากแต่ผมคิดว่าเรื่องราวของตระกูลนี้มีความน่าสนใจ ประกอบกับตอนที่เขียนเรื่องของตระกูลนี้ก็นานมาแล้ว จึงอยากจะเขียนเรื่องราวของตระกูลนี้อีกครั้ง และอาจจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหา และนำเสนอในมุมที่ต่างออกไปอีก
และบทความต่อๆ ไปผมก็จะเขียนเรื่องราวของตระกูลนี้อีก เป็นบทความเกี่ยวกับเคล็ดลับที่ทำให้ตระกูลนี้ร่ำรวย และคงความยิ่งใหญ่เอาไว้ได้แม้เวลาจะผ่านมานานนับร้อยปี
3
แต่ก่อนอื่น สำหรับบทความนี้ เราลองไปดูเรื่องราวของตระกูลรอธส์ไชลด์กันก่อนดีกว่าครับ
ตราประจำตระกูลรอธส์ไชลด์
หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของตระกูลรอธส์ไชลด์ ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 10
ในเวลานั้น ดินแดนส่วนมากของยุโรปล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของคริสตศาสนา อำนาจทางการเมืองก็ผูกอยู่กับศาสนา ทำให้บุคคลที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ค่อนข้างจะใช้ชีวิตลำบาก
1
กลุ่มบุคคลที่อาจจะเรียกได้ว่าลำบากที่สุดในช่วงเวลานี้ ก็คือ “ชาวยิว”
1
ในเวลานั้น ชาวยิวต่างอยู่กันอย่างกระจัดกระจายทั่วยุโรป โดยชาวยิวจำนวนมากได้อาศัยอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ในเวลานั้น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ได้ต้อนรับชาวยิวซักเท่าไรนัก ทำให้ชาวยิวซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ต้องรวมตัวกันอยู่เอง เป็นชุมชนชาวยิว
1
ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ตั้งแต่ปีค.ศ.1462 (พ.ศ.2005) เป็นต้นมา ชาวยิวจำนวนมากก็ได้จับกลุ่มอาศัยอยู่ในบริเวณนอกกำแพงเมือง บนถนนที่คับแคบ
บนถนนสายนี้เต็มไปด้วยบ้านของชาวยิว และในเวลานั้น การแยกบ้านแต่ละหลัง ก็ไม่ได้แยกตามเลขที่บ้านเหมือนในปัจจุบัน แต่แยกโดยดูจากสัญลักษณ์ของบ้านแต่ละหลัง
มีบ้านหลังหนึ่ง มีสัญลักษณ์เป็นรูปโล่สีแดง ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า “รอธส์ไชลด์ (Rothschild)”
และตั้งแต่นั้น ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ก็ได้ใช้คำนี้เป็นชื่อครอบครัว หรือชื่อตระกูลตั้งแต่นั้นมา โดยในเวลานั้น คือประมาณช่วงปีค.ศ.1528 (พ.ศ.2071)
ตระกูลรอธส์ไชลด์ก็เป็นเช่นเดียวกับตระกูลชาวยิวอื่นๆ ในเวลานั้น นั่นคือทำธุรกิจการเงิน
ในช่วงยุคกลาง ศาสนาคริสต์ได้กำหนดห้ามไม่ให้มีการปล่อยเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ย ทำให้ชาวยิวเห็นช่องทางนี้ และตักตวงผลประโยชน์เต็มที่
ตระกูลชาวยิวในเวลานั้น ส่วนมากจะทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ และส่งต่อความเชี่ยวชาญนี้สู่ทายาทของตนต่อไป ซึ่งรวมถึงตระกูลรอธส์ไชลด์ด้วย
ตระกูลรอธส์ไชลด์มีความเชี่ยวชาญในด้านการแลกเปลี่ยนเงินตรา สกุลเงินต่างๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเหรียญหายาก โดยผู้ที่มีแววและฝีมือดีที่สุดในตระกูล ก็คือ “เมเยอร์ รอธส์ไชลด์ (Mayer Rothschild)”
เมเยอร์ รอธส์ไชลด์ (Mayer Rothschild)
เมเยอร์ได้เข้ารับช่วงต่อกิจการของครอบครัวในปีค.ศ.1763 (พ.ศ.2306) และคอลเล็คชั่นเหรียญหายากของเขา ก็เกิดไปเตะตาเหล่าชนชั้นสูงและขุนนางในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
หนึ่งในผู้ที่สนใจ ก็คือ “เจ้าชายวิลเลียมแห่งเฮสเซ (Crown Prince Wilhelm of Hesse)” หรือภายหลังก็คือ “พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งเฮสเซ (William I, Elector of Hesse)”
เจ้าชายวิลเลียมได้ทรงพบกับเมเยอร์ในปีค.ศ.1769 (พ.ศ.2312) และก็ทรงไว้วางพระทัย ให้ความเชื่อถือในเรื่องของเหรียญหายากและการเงินจากเมเยอร์
พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งเฮสเซ (William I, Elector of Hesse)
เมื่อเจ้าชายวิลเลียมได้ขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ.1785 (พ.ศ.2328) พระองค์ก็ทรงจ้างให้เมเยอร์เป็นผู้ดูแลการเงินของพระองค์
เมเยอร์ต้องรับหน้าที่ดูแลในเรื่องการจัดเก็บภาษีบนที่ดินของพระเจ้าวิลเลียม และคอยดูแลด้านการเงินของพระองค์
2
ในปีค.ศ.1806 (พ.ศ.2349) “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” แห่งฝรั่งเศส ได้นำทัพรุกรานเฮสเซ ทำให้พระเจ้าวิลเลียมต้องเสด็จลี้ภัย และทรัพย์สินของพระองค์ก็ตกอยู่ในความเสี่ยง
นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)
แต่เมเยอร์ก็เป็นคนที่ฉลาด เขาได้เตรียมรับมือกับเหตุนี้ไว้ก่อนแล้ว
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปีค.ศ.1798 (พ.ศ.2341) เมเยอร์ได้ส่ง “นาธาน รอธส์ไชลด์ (Nathan Rothschild)” หนึ่งในลูกชายของตน ไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษ และก่อตั้งธุรกิจเงินตรา
ด้วยความที่มีการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี เมเยอร์จึงสามารถย้ายทรัพย์สินของพระเจ้าวิลเลียมไปยังลอนดอนได้ ซึ่งที่ลอนดอน เมเยอร์ก็ได้ใช้ทรัพย์สินของพระเจ้าวิลเลียม ปล่อยกู้แก่ราชสำนักอังกฤษ
ด้วยการทำเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าพระเจ้าวิลเลียมได้สนับสนุนทางการเงินแก่ราชสำนักอังกฤษ เพื่อสู้กับนโปเลียน และรอเวลาที่จะกลับคืนสู่อำนาจ
นาธาน รอธส์ไชลด์ (Nathan Rothschild)
เมเยอร์เสียชีวิตในปีค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) ทิ้งสมบัติของพระเจ้าวิลเลียมและความยิ่งใหญ่ของตระกูลรอธส์ไชลด์แก่นาธาน
นาธานยังคงอาศัยอยู่ในลอนดอน ส่วนพี่ชายคนโตของนาธานก็เข้าบริหารกิจการที่แฟรงก์เฟิร์ต
ในขณะเดียวกัน พี่น้องคนอื่นๆ อีกสามคน ต่างก็กระจายไปอยู่ยังดินแดนต่างๆ ในยุโรป และก่อตั้งสาขาธุรกิจในเมืองหลวงต่างๆ ของยุโรป
แต่ถึงแม้จะอยู่กันกระจัดกระจาย แต่ลูกๆ ทั้งห้าคนของเมเยอร์ก็มียุทธวิธีการบริหารธุรกิจที่เหมือนกัน โดยต่างจะปล่อยเงินกู้แก่บรรดาขุนนางและคนในวงสังคมชั้นสูง รวมทั้งรัฐบาล
1
ตัวอย่างก็เช่น พี่น้องที่อยู่ในฝรั่งเศส ก็ได้เป็นนายธนาคารให้แก่ “พระเจ้าลีโอโปลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม (Leopold I of Belgium)” ส่วนคนที่อยู่ในเวียนนา ก็ได้ปล่อยเงินกู้ให้แก่ “จักรพรรดิฟรานซิสที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Francis II, Holy Roman Emperor)”
ด้วยความที่เป็นนายธนาคารให้กับกษัตริย์และบุคคลสำคัญ ทำให้ในปีค.ศ.1818 (พ.ศ.2361) พี่น้องทั้งห้าแห่งตระกูลรอธส์ไชลด์ ได้รับบรรดาศักดิ์ “บารอน (Baron)” ทำให้ตระกูลรอธส์ไชลด์ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น มีทั้งเงินและบรรดาศักดิ์
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีต่อจากนั้น เมื่อรัฐบาลยุโรปเริ่มจะอยู่ในภาวะวิกฤต กลุ่มแรกที่จะเป็นผู้เสนอเงินกู้แก่รัฐบาล ก็คือตระกูลรอธส์ไชลด์ และธุรกิจปล่อยเงินกู้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ธนาคารของตระกูลสาขาปารีส มีมูลค่าในปีค.ศ.1820 (พ.ศ.2363) เท่ากับห้าล้านดอลลาร์ (ประมาณ 170 ล้านบาท) แต่พอมาถึงปีค.ศ.1850 (พ.ศ.2393) ก็มีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 17,000 ล้านบาท)
เรียกได้ว่าธุรกิจธนาคารของตระกูลรอธส์ไชลด์นั้นยิ่งใหญ่ ทำให้เงินตราหลักนั้นมีความมั่นคง อีกทั้งยังเป็นผู้ปล่อยเงินกู้รายใหญ่แก่รัฐบาล และสร้างผลกำไรมหาศาล
1
แต่นอกจากธุรกิจธนาคารแล้ว ตลอดช่วงเวลาของศตวรรษที่ 19 ธนาคารรอธส์ไชลด์ทั้งห้าสาขายังมีการขยายการลงทุนไปยังภาคส่วนอื่นอีกด้วย
ในปีค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) ตระกูลรอธส์ไชลด์ได้เข้าซื้อธุรกิจไวน์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของฝรั่งเศส และในปีค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) ตระกูลรอธส์ไชลด์ก็ได้เข้าไปถือหุ้นในคลองสุเอซ (Suez Canal)
1
ต่อมา ในปีค.ศ.1883 (พ.ศ.2426) ตระกูลรอธส์ไชลด์ได้เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนแก่บ่อน้ำมันชั้นนำแห่งหนึ่ง ท้าทายธุรกิจน้ำมันของ “ร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller)” กลุ่มธุรกิจน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
4
นอกจากนั้น ตระกูลรอธส์ไชลด์ก็ได้เข้าไปถือหุ้นในกิจการค้าเพชรของ “DeBeers” และ “RioTinto” ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเหมืองแร่ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
คลองสุเอซ (Suez Canal)
แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เหล่าทายาทของตระกูลรอธส์ไชลด์ ก็เริ่มจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ารุ่นก่อน
ในปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) ธนาคารรอธส์ไชลด์สาขาเนเปิลส์ ได้ปิดตัวลงเนื่องจากทายาทที่เป็นผู้ชายได้เสียชีวิต และก็ไม่มีบุตรมาสานต่อ ทำให้ทรัพย์สินของสาขาเนเปิลส์ตกเป็นของธนาคารรอธส์ไชลด์สาขาปารีส
สาขาเยอรมนีก็ประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน เนื่องจากทายาทจำนวน 11 คนของสาขาเยอรมนีนั้น ล้วนแต่เป็นผู้หญิงทั้งหมด ไม่มีผู้ชายเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้อำนาจเริ่มเสื่อมลง
ส่วนสาขาออสเตรีย ก็ดำเนินงานไปได้อย่างดี จนกระทั่ง “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ขึ้นสู่อำนาจ
1
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
นาซีเยอรมันได้เข้ายึดครองออสเตรียในปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ทำให้ตระกูลรอธส์ไชลด์ต้องขายธนาคารสาขาออสเตรียในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก
1
จากนั้น สมาชิกตระกูลรอธส์ไชลด์ก็แตก แยกย้ายกันไปคนละทาง โดยหนึ่งในนั้นได้ถูกจับขณะหลบหนี และถูกปล่อยตัวหลังจากได้รับค่าไถ่เป็นเงินจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในเวลานั้น นั่นคือ 21 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 714 ล้านบาท)
ค่าไถ่จำนวนมหาศาลนี้ทำให้สมาชิกตระกูลรอธส์ไชลด์ในออสเตรียถึงกับล้มละลาย ในขณะเดียวกัน พรรคนาซีก็ได้เข้ายึดคฤหาสน์ ธุรกิจต่างๆ และงานศิลปะล้ำค่าจำนวนมากของตระกูล
2
ไม่กี่ปีต่อมา ธนาคารรอธส์ไชลด์สาขาปารีสก็ถูกนาซีเข้ายึดครองเช่นกัน และคอลเล็คชั่นงานศิลปะต่างๆ ของตระกูลก็ถูกนาซียึดครอง
จากรายละเอียดในบัญชีทรัพย์สินที่นาซีเข้ายึดครอง ก็ทำให้ทราบว่าพวกนาซีได้ยึดครองคอลเล็คชั่นของสะสมต่างๆ ของตระกูลรอธส์ไชลด์ไปกว่า 5,003 ชิ้น
1
ทรัพย์สินต่างๆ เหล่านั้น น้อยมากที่ได้รับกลับคืนมา ธนาคารรอธส์ไชลด์สาขาฝรั่งเศสโชคดีอยู่บ้าง เนื่องจากหลังสงคราม ก็สามารถฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาได้ แต่สุดท้าย ธนาคารก็ถูกรัฐบาลยึดครองในปีค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)
1
ท้ายที่สุด มีเพียงสาขาอังกฤษเท่านั้นที่รอดพ้นมาในศตวรรษที่ 20 ได้ โดยผู้นำตระกูลรอธส์ไชลด์ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก็คือ “เอเวอลีน เดอ รอธส์ไชลด์ (Evelyn de Rothschild)” ผู้ซึ่งในปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นผู้ถวายคำแนะนำด้านการเงินแก่ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Elizabeth II)”
7
เอเวอลีนได้เกษียณตัวเองจากการเป็นผู้นำตระกูลเมื่อปีค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) และมอบตำแหน่งผู้นำตระกูลแก่ “เดวิด รอธส์ไชลด์ (David Rothschild)” สมาชิกตระกูลในปารีส
เอเวอลีน เดอ รอธส์ไชลด์ (Evelyn de Rothschild)
อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองของตระกูลรอธส์ไชลด์ อาจจะเรียกได้ว่าผ่านพ้นไปแล้ว
หากดูในรายชื่อมหาเศรษฐีโลก แทบจะไม่พบสมาชิกตระกูลรอธส์ไชลด์ติดอันดับเลย โดยสมาชิกตระกูลที่ติดอันดับมหาเศรษฐีโลก ก็อยู่ในลำดับท้ายๆ เลยทีเดียว
สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตระกูลรอธส์ไชลด์นั้น หากนับรวมทั้งหมด รวมทั้งในช่วงเวลาที่รุ่งเรือง มีการคาดการณ์ว่าอยู่ระหว่าง 350,000 ล้านดอลลาร์-สองล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 12 ล้านล้าน-68 ล้านล้านบาท) ตามค่าเงินปัจจุบัน
โฆษณา