7 มิ.ย. 2022 เวลา 13:13 • การศึกษา
ก่อนที่จะไปคุยเรื่องทนายเกี่ยวกับในส่วนผู้รับเหมา เราขอคุยในส่วนคดีผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกันก่อน เพราะนอกจากการใช้ทนายฟ้อง แล้วยังสามารถไม่ใช้ทนายโดยทำเป็นคดีผู้บริโภคได้ หรือเป็นคดีมะโนสาเร่ก็ได้ แต่เราขอแชร์ในส่วนคดีผู้บริโภคที่เราไปหาข้อมูลมาก่อน ยังไม่ได้แอคชั่นอ่าน่ะ ดังนั้นถ้าผิดถูกยังไงลองพิจารณากันอีกที เนื่องด้วยข้อมูลที่เราหาแจ้งว่าทำได้
คดีผู้บริโภค (Consumer Protection)
หมายถึง คดีแพ่งประเภทหนึ่งที่มีข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ โดยที่ข้อพิพาทนั้นเกี่ยวพันกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการหรือเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยพิจารณาจากมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ว่าคดีใดจะเป็นคดีผู้บริโภค
คดีผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ และประสงค์ให้ผู้เสียหาย (ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจ แล้วแต่กรณี) ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยาอย่างไม่ยุ่งยากซับซ้อน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เนื่องจากได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดี รวมถึง การได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลด้วย
แต่ถ้าผู้บริโภคฯ นำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เรียกค่าเสียหายเกินสมควร ประพฤติตนไม่เรียบร้อยฯ ศาลสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดแต่บางส่วนภายในเวลาที่กำหนดก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตามศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดี (มาตรา 18)
ผู้เกี่ยวข้องในคดี
1. ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการและหมายความรวมถึง ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
2. ผู้ประกอบธุรกิจ หมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้าหรือผู้ให้บริการ
3. ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะ เป็นความเสียหายต่อชีวิตร่างกายสุขภาพอนามัยจิตใจหรือทรัพย์สินแต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น
ตัวอย่างคดีผู้บริโภค ขอยกตัวอย่าง เช่น
1. คดีซื้อขาย เช่น บ้าน อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ที่ดิน สินค้าอุปโภคบริโภค
2. คดีเช่าทรัพย์ เช่น บ้าน ห้องชุด หอพัก
3. คดีเช่าซื้อ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
4. คดีจ้างทำของ เช่น ก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน ซ่อมบ้าน
5. คดีรับขน เช่น บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางน้ำหรือทางบก
6. คดีสินเชื่อส่วนบุคคล กู้ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง
7. คดีบัตรเครดิต
8. คดีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ)
9. คดีประกันภัย เช่น ประกันวินาศภัย ประกันชีวิต
10. คดีสินค้าไม่ปลอดภัย เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ยานพาหนะเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ
ตัวอย่างคดีที่ไม่ใช่คดีผู้บริโภค เช่น
1. คดีอาญา
2. คดีละเมิดทั่วไปซึ่งไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
3. คดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
4. คดีครอบครัว คดีมรดก
5. คดีของศาลชำนัญพิเศษหรือศาลแรงงาน ศาลภาษี ศาลล้มละลาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
6. คดีแพ่งทั่วไปที่พิพาทกันระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจพิพาทกันเอง เป็นต้น
ขั้นตอนการยื่นฟ้องต่อศาลคดีผู้บริโภค
1. กรณีผู้บริโภคหรือผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาล ให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดในเขตอำนาจศาล แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องคดีผู้บริโภคได้เฉพาะเขตศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิ ลำเนาอยู่เท่านั้น
2. ให้ยื่นฟ้องต่อศาล ภายในความ 3 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ถ้าเลยถือว่าขาดอายุความ
การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลอาจสั่งให้ส่งทาง ป.ณ.ลงทะเบียนตอบรับ/ทางเจ้าพนักงานศาลโดยสั่งให้ปิดหมายและย่นระยะเวลาให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที/ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ก่อนครบ 15 วันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79) ก็ได้ ทั้งนี้ให้ส่งคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและผลแห่งการที่ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาให้จำเลยทราบด้วย (มาตรา 24, ข้อกำหนดฯ ข้อ 9-11)
3. หาก ความเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ถ้าเกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง
4. ในการฟ้องคดีผู้บริโภค สามารถฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ เจ้าพนักงานคดีจะเป็นผู้บันทึกคำฟ้อง ผู้ฟ้องสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีทนาย และให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ รวมทั้งให้ตรวจสอบสถานการณ์เป็นนิติบุคคล/ภูมิลำเนาของคู่ความ (ให้ระบุสถานที่ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวกและหมายเลขโทรศัพท์ของคู่ความไว้ด้วย)
5. คำฟ้องต้องมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุที่ต้องมาฟ้องคดี รวมทั้งต้องมีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นชัดเจนพอที่จะ ให้เข้าใจได้
6. เมื่อศาลรับคำฟ้องแล้ว ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว และออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน ในส่วนวันนัดพิจารณาเมื่อคู่ความมาพร้อมกันให้เจ้าพนักงานคดี/ผู้ประนีประนอมประจำศาล (หรือบุคคลที่คู่ความตกลงกัน) ทำการไกล่เกลี่ยช่วยเหลือให้คู่ความได้เจรจาบรรลุถึงข้อตกลงร่วมกัน
ถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ และเห็นควรเลื่อนการนัดพิจารณา ก็ให้ทำรายงานเสนอต่อศาลเพื่อขออนุญาตเลื่อนการนัดพิจารณาได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 7 วัน
ข้อดีของศาลคดีผู้บริโภค
- ศาลยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นศาลผู้บริโภค
- เอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภคในส่วนระบบวิธีพิจารณาคดี
- สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ในส่วนการพิจารณาคดี
- ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้าและบริการ
- ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่พิสูจน์เกี่ยวกับสินค้า
- กระบวนวิธีพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น และคำพิพากษาถือเป็นที่สิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์เท่านั้น
- ให้การคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
- ศาลอาจจะใช้ผลการพิจารณาคดีเดิม เป็นฐานในการกรณีพิจารณาคดีที่ใกล้เคียงกันได้
เครดิต
pngegg.com/th/png-vdmfk ในส่วนรูปภาพประกอบ
โฆษณา