11 มิ.ย. 2022 เวลา 14:19 • หนังสือ
📚จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง
แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้
김난도의 내:일
FUTURE: MyJob
แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้ by คิมรันโด
“ราวกับว่าคนเราสามารถขายวิญญาณ เพื่อที่จะได้มีอาชีพที่ดี” (หน้า 3)
🍀🍀🍀
“การหางานไม่ได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับเงินและการเลี้ยงปากท้องเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณค่าทางสังคมและศักดิ์ศรี การว่างงานเป็นเวลานานทำให้จิตวิญญาณป่วยไข้ ดังนั้นภาพคนหางานจำนวนมหาศาลที่ยืนต่อแถวยาวเหยียดตามมหกรรมจัดหางานจึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่คุ้นตา” (หน้า 3)
“เงินเป็นสิ่งสำคัญมาก งานก็เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่คนเราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่องาน เราทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่ สิ่งสำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดคือคุณภาพของชีวิต ส่วนใหญ่คนเรามีความต้องการทำงานเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และหากว่าองค์กรสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยกำลังคนเหล่านี้อย่างถูกที่ถูกเวลา ทุกฝ่ายก็จะเป็นผู้ชนะ" (หน้า 90)
"ดังนั้นสังคมต้องสร้างบรรยากาศแห่งความมั่นคงเพื่อช่วยให้คนปลดปล่อยพลังที่ซ่อนเร้นออกมาได้ ไม่ว่าใครก็มีตัวตนที่ไม่ธรรมดาซ่อนอยู่เราทุกคนมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอยู่ในตัวเอง เพียงแต่ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถเท่านั้นเอง" (หน้า 107)
และแล้วก็มาถึงช่วงรีวิวฉบับเต็มกันสักทีนะคะทุกท่าน (แต่ยังไม่จบนะคะ😅 มีภาคต่อของรีวิว เนื้อหาอาจยาวสักนิด เพราะเป็นสรุป+รีวิว) มัวแต่ปล่อยโควทของหนังสือเล่มนี้ไปก่อน กว่าจะได้มีเวลาขลุกตัว นั่งลง และรีแคปทั้งหมดทั้งมวล ก็เนื่องจากว่าติดธุระด่วนกะทันหันบวกกับทำงาน ก็ปาเข้าไปหนึ่งอาทิตย์กว่าเสียแล้ว
“แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้” ยอมรับว่าชื่นชอบเล่มนี้เนื่องจากชื่อเรื่องค่ะ แลดูเหมือนจะมีอนาคตที่สว่างไสวรอเราอยู่ข้างหน้า ประกอบกับหน้าปกที่เรียบง่ายดูมินิมัลและสัมผัสถึงอิสระเสรี พอเหลือบเห็นชื่อผู้แต่ง อ้อ อาจารย์คิมรันโด ที่ฝากผลงานอันโด่งดังไว้ในหนังสือเรื่อง “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” นี่เอง
แอดมินเชื่อว่าทุกท่านอาจเคยเห็นผ่านตาและเคยอ่านมาบ้าง แอดมินอ่านแล้วรู้สึกทัชใจ เลยไม่รีรอที่จะอ่านเล่มนี้ และอยากจะรู้ว่างานแบบไหนกัน งานแบบที่เราทำอยู่ จะนำพาเราไปสู่อนาคตที่มีแสงสว่างรอที่ปลายอุโมงค์หรือไม่
และหากว่าในวันนี้ เรารู้สึกว่า งานของเรานั้น เสมือนไม่ใช่ ‘งาน’ ที่ตั้งใจ ใฝ่ฝัน เอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว หรือมีความรู้สึกเกลียดวันจันทร์ หน่ายบ่ายวันอาทิตย์ หรือบางทีเราอาจต้องทำงานภายในหนึ่งอาทิตย์โดยมีวันหยุดแค่วันเดียว
เราอาจจะย้อนถามตัวเองกลับ หลังจากได้อ่านจนจบเล่มก็เป็นได้ว่า ‘ใช่งานของฉัน ใช่วันพรุ่งนี้ของฉัน’ หรือไม่นะ🤔
ในหนังสือเล่มนี้ นำเสนอพาร์ทของบทนำ และพาร์ทใหญ่ Part ที่ 1 อนาคตของอาชีพ FUTURE: ต้องอ่านกระแสงานให้ออกเพื่อไขว่คว้า “งานของฉันและวันพรุ่งนี้” / ภาคต่อของหนังสือเล่มนี้ Part 2 งานของฉัน MYJOB 👇นี่คือหน้าตาของเล่มภาคต่อนี้นะคะ
ขอบคุณภาพประกอบจาก Amarinbooks.com
✨PART 0 บทนำ:
  • เราทำงานไปทำไมกัน
ในหัวข้อนี้ ได้บอกถึงความเป็นจริงที่ว่าคนที่จะได้ทำงานดี ๆ มั่นคง ในบริษัทนั้นมีน้อยลงทุกที อ.คิมรันโดได้เปรียบให้เห็นว่าคนที่สามารถหางานได้มีอัตราที่น้อยกว่าคนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยถึงครึ่งต่อครึ่ง หนุ่มสาวชาวเกาหลีได้แต่โอดครวญถึงปัญหาการว่างงานที่รุนแรง และถึงแม้เราจะเข้าใกล้งานในฝันมากเพียงใดนั้น ความกังวลเกี่ยวกับงานไม่เคยได้หยุดสิ้นลงเลย ดังโควท:
แม้ว่าเราจะเข้าใกล้อาชีพในฝันเพียงใดก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการทำงานก็ยังไม่อาจยุติลงได้ ในตอนเช้า เราลืมตาฝืนใจลุกจากที่นอนเพื่อออกไปสู้รบในสนามการทำงาน เราวิ่งไปทางโน้นที ทางนี้ที ในมือของเราถือปากกาเอาไว้แทนกระบอกปืน
อาจารย์คิมรันโด
สิ่งที่มีแล้วเหนื่อยยาก แต่หากปราศจากมันก็ต้องพบกับความทุกข์ 😓
ลองนึกถึงเป้าหมายของการทำงานอีกสักครั้ง
เราทั้งหลายต่างมีตัวตนอยู่ตาม ‘ความคิด’
ถ้าหากถามผู้ใหญ่ว่า “ความฝันของคุณคืออะไร” ก็จะได้คำตอบในทำนองที่ว่า “ทำอาชีพอะไร” มากกว่า “มีทัศนคติและอุดมการณ์อะไร”
และในตอนเด็ก ๆ เราก็เคยได้ยินผู้คนต่างไถ่ถามเราว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ราวกับว่ามันคือตัวตนในอนาคตทั้งหมดของเรา
แน่ล่ะว่าสิ่งสำคัญคือ เม็ดเงินที่เราสร้างได้จากน้ำพักน้ำแรงของเรา แต่จากการสำรวจถึงเป้าหมายของการทำงาน อันดับหนึ่งก็คือ “เพื่อความสนุก” นั่นเอง นักเขียนโยนคำถามทิ้งท้ายว่างานที่จะสร้างความสนุกให้กับตัวเรา อยู่แห่งไหนกัน?
เครดิตรูปภาพ pixabay
เป็นไปได้ว่าทุกวันนี้ เราซึมเศร้า อ่อนล้าจากการทำงาน ได้แต่ไขว่คว้าเส้นชัยในถนนของการทำงาน โดยที่ไม่รู้ว่าเราทำงานไปทำไมก็เป็นได้😔
*หมายเหตุ: สำหรับคีย์เวิร์ด 11 ประการ คำโปรยบนหน้าปกนั้น ต่อไปนี้เป็นคีย์เวิร์ด 6 คำสำคัญจากทั้งหมดของ [FUTURE] และอีก 5 คีย์เวิร์ดสำคัญ [MYJOB] ติดตามได้จากภาคต่อของหนังสือเล่มนี้ ในชื่อว่า “จงหางานที่มีแต่คุณเท่านั้นที่ทำได้” by อาจารย์คิมรันโด อีกเช่นเคย
เริ่มการเกริ่นนำในพาร์ทแรก
✨PART 1 อนาคตของอาชีพ ต้องอ่านกระแสงานให้ออกเพื่อไขว่คว้า “งานของฉันและวันพรุ่งนี้” : FUTURE
“งานที่ดี” คืออะไรกัน
พบว่า การเปรียบเทียบค่านิยมของงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะปัจจุบันกับอดีตไม่เหมือนกัน จึงเกิดคำนิยามของการทำงานใหม่ ๆ ขึ้นมา
เดี๋ยวนี้มีทั้งเรื่องของ ทักษะความเชี่ยวชาญ การสื่อสารไร้พรมแดน แนวคิดหลุดกรอบ ฟรีแลนซ์ ฯลฯ เกิดขึ้นมากมายทีเดียว จึงเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบค่านิยมว่างานใดคืองานที่ดีหรือไม่ดี
ต่อไปนี้ จะพาทุกท่านไปพบกับคีย์เวิร์ดสำคัญกับสายงานหลากหลายอาชีพที่ก่อกำเนิดขึ้น พักจากการคิดว่า ณ ขณะนี้ เป้าหมายของการทำงานเราคืออะไรกันอย่างจริงจังกันไปก่อน และต่อจากนี้คือ เนื้อหาบางส่วน(Spoils นิดนึง แต่ถ้าอยากเข้าถึงแบบละเอียด อ่านฉบับเต็มจะได้รับเยอะกว่าแน่นอนค่ะ)+รีวิวฉบับแอดมิน
ถ้าทุกท่านไม่ต้องการสปอยล์ ในที่นี้ แนะนำให้อ่านแค่หัวข้อคีย์เวิร์ดสัญลักษณ์ดาวถึงเส้นขั้นแรกของแต่ละคีย์เวิร์ด และบทสรุปรีวิวสุดท้ายของบทความนี้ค่ะ (ในรีวิวภาคต่อ ตอนจบ😅)
✨คีย์เวิร์ดที่ 1
  • F: From White-Collar to Blue-Collar หนุ่มสาวที่มารวมตัวกัน
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ก็มีหนุ่มสาวที่จะท้าทายกรอบการทำงานแบบเดิม ๆ กฎแห่งการแบ่งแยกอาชีพที่เคยรุ่งโรจน์ (White-Collar) กับอาชีพที่คนเมินหน้าหนี (Blue-Collar) ได้พังทลายลงแล้ว
🇬🇧อย่างประเทศอังกฤษก็มีโรงเรียนอบรมพ่อบ้าน
เนื่องจากไม่กี่ปีมานี้ เราก็เห็นแล้วว่ามีเศรษฐีเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนเหล่านั้นต้องหาคนที่จะช่วยจัดการงานต่าง ๆ นอกเหนือจากงานที่พวกเขาต้องทำจริง ๆ และเป็นที่ยอมรับว่าวัยรุ่นชาวอังกฤษมีทัศนคติเกี่ยวกับงานที่เปลี่ยนไป จึงพอใจในการทำงานเช่นนี้มากกว่า White-Collar
🇳🇱เมื่อหันมาดูที่เนเธอร์แลนด์ มีทั้งงานช่างประดิษฐ์เกือกม้า หรือมีโรงเรียนช่างไม้ นั่นก็เพราะว่าเป็นประเทศที่ยอมรับในสายงานที่หลากหลาย หนุ่มสาวจึงมีความมุ่งมั่นเรียนในสายอาชีพอันปราศจากแรงกดดันรอบข้าง
เพราะบรรทัดฐานในการเลือกอาชีพของคนได้เปลี่ยนจาก ‘สายตา’ ของคนอื่น มาสู่ ‘ความสุขของตนเอง’
🇰🇷หรือที่เกาหลีก็มีสามล้ออาร์ตี้ สามล้อที่ขับเคลื่อนด้วยความสุข ในท่ามกลางการดูแคลนอาชีพแรงงานในสังคมแห่งนี้ ทว่าผู้ก่อตั้งสามล้อเขาได้กล่าวว่าก็อยากจะใช้ชีวิตอย่างที่ตนเองฝันเอาไว้ ไม่ใช่ฝังตัวเองไว้แต่ในห้องทำงานเหมือนที่เคยเป็นมา แต่เป็นการพบเจอกับผู้คนหลากหลายที่ถูกลิขิตให้มาพบกัน
สามล้ออาร์ตี้ ที่ขับเคลื่อนด้วยความสุข
You Only Live Once - YOLO✨
🪄จากการอ่านในพาร์ทของคีย์เวิร์ดนี้ จึงเข้าใจได้ว่า คนนั่งทำงานในออฟฟิศ อาจจะถูกสังคมให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคง มีการงานที่ดี รายได้ดี แต่หากปรับสายงานตามตลาดโลกอย่าง อาชีพพ่อบ้านอังกฤษถึงแม้จะเป็นงานที่ใช้แรงงาน แต่ก็เป็นงานที่คนหลั่งใหลไปเรียนเพราะความนิยมด้วย
และปัจจัยที่เอื้ออำนวยของเนเธอร์แลนด์ ที่อำนวยให้คนเข้าหาตลาดแรงงานมากขึ้น
แต่ถ้าหากกล้าที่จะแหกคอกแบบคนเกาหลีที่สังคมต่างก็เมินหน้าให้งานใช้แรงงาน ถึงจะอยู่ท่ามกลางความกดดันของสังคมไปบ้าง แต่หากเป็นการสร้างความสุขที่อิสระให้กับตนเองเช่นสามล้ออาร์ตี้
แอดมินจึงได้เข้าใจว่า อ้อ การที่จะออกมาเป็นคนใช้แรงงานจากคนนั่งทำงานในออฟฟิศนั้น ถ้าต่างสังคมคุณค่าของการทำงานก็ต่างกัน แต่อยู่ที่ว่าเราจะให้คุณค่ากับงานที่เราทำ หรือมีความหลงใหลต่องานนั้นอย่างไรต่างหาก เพราะเราสามารถย้ายงานได้ จาก White-Collar to Blue-Collar ตามใจปรารถนาทั้ง ๆ ที่สังคมอาจจะไม่ได้คิดเช่นเดียวกับเราก็เป็นได้
✨คีย์เวิร์ดที่ 2
  • U: Utopia for ‘Nomad-Workers’ คุณคือโนแมดเวิร์คเกอร์ ใช่หรือไม่
โนแมดเวิร์คกิ้ง มาจาก Nomad+Working คือการใช้อุปกรณ์ทำงานแบบย้ายที่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการกำหนดเวลาและสถานที่แน่นอน นั่นเรียกใช้คนที่มีลักษณะการทำงานเช่นนี้ว่า โนแมดเวิร์คเกอร์
เป็นคนทำงานที่มองหาความกลมกลืนระหว่างเวลาทำงานกับคุณภาพที่เกิดขึ้นจากแรงงานของตน
🇯🇵 มาดูที่ญี่ปุ่น สถานที่แห่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนคนทำงาน ณ The Terminal Co-Working Space คนทำงานดิจิทัลเร่ร่อน ผู้เปลี่ยนแปลงข้อจำกัดในการทำงาน
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผู้บริหารองค์กรมักจะจ้างพนักงานชั่วคราวมากกว่าพนักงานประจำแล้ว
เครดิตรูปภาพ socialworkplace.com
ทำให้หนุ่มสาวยกธงขาวให้กับการหางานประจำ จึงเริ่มใช้ชีวิตอิสระ หรือจะหางานพิเศษทำสองสามอย่างเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตตนเอง หรือที่เรียกว่าฟรีเตอร์ (Freeter) เป็นงานที่ฝึกฝนตนเองท่ามกลางสายตาอคติของสังคม เพื่อเข้าใกล้จิตวิญญาณตนเองมากขึ้น
เลิกยึกติดกับภาพการทำงานที่มีรูปแบบ แล้วมาใช้ชีวิตอย่างอิสระกันเถอะ
และเดอะเทอมินัลนี้ ตั้งอยู่ในย่านฮาราจุกุที่มีคนพลุกพล่าน สามารถนั่งทำงาน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก กล่าวได้ว่า หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นทั้งหลายได้ท้าทายกรอบการทำงานแบบเดิม ๆ แล้ว และเลือกทำงานอิสระได้ตลอด 24 ชม.
เปลี่ยนภาพจำกันไปบ้างกับซารารี่มังที่ขลุกตัวทำงานอย่างหนักหน่วงในออฟฟิศ ที่เข้างานและเลิกงานตามเวลาแบบวนลูป
🇬🇧 กลับมาดูที่อังกฤษกันบ้าง ที่นี่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “Central Working” Co-Working Center ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของอีแลนเซอร์ (E-lancer) คือรูปแบบการทำงานเป็นฟรีแลนซ์เช่นที่เราคุ้นหูผ่านคอมพิวเตอร์ในศ.ที่ 21 นั่นเอง
ทว่าความพิเศษของที่นี่คือเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้พื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนั้นที่แห่งนี้จึงไม่ใช่ที่ของเหล่าโนแมดเวิร์คเกอร์ “แต่ละคน” แต่เป็นพื้นที่ที่ใช้ “ร่วมกัน” แลกเปลี่ยนความเห็นพูดคุยกันมากกว่าที่จะทำงานเพียงลำพัง
🇳🇱 กลับมาเยือนยังเนเธอร์แลนด์อีกสักครั้ง ในหัวข้อที่ว่าผู้แทนของสหพันธ์แรงงานเนเธอร์แลนด์ สวรรค์ของผู้ลิ้มรสชาติการทำงานไม่ประจำ
แล้วทำไมจึงเรียกว่า สวรรค์ กันนะ เดี๋ยวพาไปพบกับคำตอบกันค่ะ
ในประเทศที่การเปิดกว้างของการทำงานอย่างที่นี่นั้น ก็แสดงให้เห็นถึงนโยบายแรงงานที่มีความเป็นไปได้ ผ่านการพยายามสร้างภาวะความสุขและความพึงพอใจในการทำงาน ให้อยู่ร่วมกับสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงได้อย่างกลมกลืน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนทำงานประจำกับไม่ประจำ ดังคำสัมภาษณ์คนทำงานฟรีแลนซ์ที่นี่ว่า
“การเป็นฟรีแลนซ์มีความพิเศษตรงไหนครับ”
“การเป็นฟรีแลนซ์ได้รับการปฏิบัติอย่างแบ่งแยกหรือไม่”
….
“แล้วทำไมต้องได้รับการปฏิบัติอย่างแบ่งแยกด้วยหรือครับ” “…”
ด้วยนโยบายที่ว่าคือ “แรงงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ค่าแรงเป็นหนึ่งเดียวกัน”
แถมยังมี Polder Model แนวคิดจากการตระหนักรู้ว่า ลำพังความพยายามไม่อาจทำให้สิ่งต่าง ๆ บรรลุผล ต้องอาศัยความร่วมมือกัน เมื่อคนเกิดการว่างงานก็จะพยายามพาคนกลับเข้าไปทำงานให้ได้อีกครั้ง
“มากกว่าการทะนงตนอย่างโดดเดี่ยวแต่กลับช่วยกันระดมความคิดเพื่อคลี่คลายปัญหา”
และเพราะทุกคนต่างเป็นคนทำงานเหมือนกัน มีแค่วิธีการทำงานเท่านั้นที่ต่าง และมีการรับรองเกี่ยวกับการทำงานตามกฎหมายที่ดี หนุ่มสาวเริ่มสนใจสมดุลของงานกับชีวิต (Work-Life Balance) มากกว่าการทุ่มเทเพื่องานอย่างเดียว
การทำงานฉบับเนเธอร์แลนด์
🪄จากการอ่านในพาร์ทของคีย์เวิร์ดนี้ จึงเข้าใจได้ว่า ณ ขณะที่สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงาน ที่ญี่ปุ่นก็มีคนทำงานไม่ประจำมากมายทุกวันนี้ อังกฤษก็เช่นเดียวกัน แต่จะไม่ใช่ individual แบบปัจเจกบุคคล ทว่าเป็นการทำงานแบบแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนที่เข้ามายังพื้นที่ทำงานแห่งนั้นด้วย
และการไม่ลดทอนคุณค่าของคนทำงานไม่ประจำของเนเธอร์แลนด์ มีนโยบายชูโรงในการทำงานร่วมกัน
แต่ละแห่งนั้น มีโนแมดเวิร์คเกอร์อยู่มากมาย แต่ละประเทศล้วนมีความเฉพาะตัว ที่สำคัญทำให้รู้ว่าการก่อกำเนิดของโนแมดเวิร์คเกอร์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในทิศทางที่จะมุ่งสู่อนาคตของการทำงานแบบมีประสิทธิภาพและเปี่ยมไปด้วยความพึงพอใจของผู้ทำงานเอง
✨คีย์เวิร์ดที่ 3
  • T: Towards Social Good จับตาดูธุรกิจสังคม งานแห่งความเอื้อเฟื้อในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ในสังคมที่มีแต่ความเป็นทุนนิยมอยู่ทุกวันนี้ ทว่าก็มีอีกแง่มุมที่มีธุรกิจช่วยเหลือสังคม งาน “เอื้อเฟื้อ” ที่ว่า จะช่วยปลอบประโลมผู้คนจากเศรษฐกิจเลวร้ายได้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและจิตใจ (Change Maker)
🇧🇩 ธนาคารกรามีน บังคลาเทศ กรามีนโฟน Impossible? I’m possible! เต้นรำกับความยากจน
ที่บังคลาเทศได้ถือกำเนิด ธ.กรามีน โดยมูฮัมหมัด ยูนูส ผู้ก่อตั้ง เขามีแนวคิดในการส่งต่อการพัฒนาสังคมด้วยการให้ผู้คนในองค์กรกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับคนจำนวนมากในประเทศนี้ที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา
ทั้งยังก้าวข้ามจากสถาบันทางการเงินไปเป็นองค์กรแห่งความเป็นมิตรหลายรูปแบบ ทลายกรอบที่ว่าทำธุรกิจกับคนจนก็มีแต่จะ ‘กอดคอกันจน’
จนบัดนี้ธนาคารขยายสาขาทั่วโลกกว่า 37 ประเทศ มีผู้ใช้บริการกว่า 92 ล้านคน ด้วยความเอื้อเฟื้อนี่เองที่ทำให้คนยากจนรอคอยการช่วยเหลือจากใครสักคนได้กู้เงิน และจ่ายดอกเบี้ยเพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตคน ๆ นั้น
เครดิตรูปภาพ Creative by Nature - WordPress.com
ต่อมา ยังมีบริษัทกรามีนโฟนที่ลงทุนธุรกิจเอื้อเฟื้อด้านไอทีขึ้นที่นี่ด้วยเช่นกัน มีการพัฒนาธุรกิจที่เรียกว่า “Information Boat” เรือข้อมูลที่ให้บริการในระบบการสื่อสารที่ย่อมเยา ให้เช่าโทรศัพท์สำหรับคนที่ไม่มีโทรศัพท์ใช้ โดยอ.อิกบาลจากสถาบัน MIT Legatum Center
ธุรกิจเพื่อสังคมหนึ่งให้กำเนิดอีกธุรกิจหนึ่งเพื่อสังคม เงินก้อนเล็กๆ
ที่มอบให้แก่คนยากไร้คนหนึ่งสร้างงานให้กับคนยากไร้อีกมากมาย เรือที่เคย
ล่องลอยอยู่ท่ามกลางทะเลข้อมูลกำลังรับเอาผู้คนที่ถูกทอดทิ้งมาร่วมทาง
🇰🇷 ต่อมา ไปกันที่เกาหลีใต้กันบ้างค่ะ มาเยือนกันที่โรงเรียนผู้เชี่ยวชาญการรวมเงินการกุศล
โดยอาชีพผู้ระดมเงินบริจาค (Fundraiser) ทั้งมีมานานในอเมริกาหรือยุโรป แต่หาได้ยากในเกาหลีใต้
ผู้ระดมเงินบริจาคคือคนที่รวบรวมเงินบริจาคเพื่อใช้ในงานสาธารณะ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ ไม่ให้ความสำคัญกับกำไรขององค์กร
เช่นเดียวกันกับที่นี่ โรงเรียนผู้เชี่ยวชาญการระดมเงินการกุศลของ The Hope Institution โรงเรียนแห่งนี้เริ่มจากนักเรียนที่มีที่มาต่างกัน แต่สนใจการระดมเงินทุนเพื่อการกุศลเหมือนกันจึงมาลงเรียนร่วมกัน มีโอกาสทำความฝันให้เป็นจริงโดยการนำเงินบริจาคที่ได้ไปสร้างสังคมที่ดีขึ้น
ในช่วงก่อนเรียนจบ เป็นช่วงที่ต้องเตรียมตัวสมัครงาน แต่ว่าสำหรับ
คุณอูชอกแล้วเขามีความฝันที่จะรวมใจผู้คนด้วยงานเพื่อสังคมมากกว่าการ
รวมเงินเพียงอย่างเดียว
Fundraiser - การรับรู้ถึงการรวมใจ
🇰🇷 มาดูกันอีกที่ที่เกาหลีใต้กันค่ะ ณ ร้านเสื้อยอลริน ที่ที่ให้บริการยืมสูทสำหรับผู้มีรายได้น้อย
ณ เกาหลีใต้เอง ปกติแล้วค่าใช้จ่ายเสื้อผ้าสำหรับผู้หางานจะเริ่มต้นประมาณ 11,000 บาท นับว่ามีมูลค่าไม่น้อยเลย และสำหรับนักศึกษาจบใหม่แล้วนั้น การควักเงินซื้อเพื่อเริ่มต้นสมัครงาน หางานนั้นก็เป็นภาระหนักทีเดียว
งานเพื่อดูแลเสื้อผ้าสมัครงานของผู้หางาน เป็นงานของร้านยอลริน ที่นี่เริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า อยากให้ทุกคนเปิดตู้เสื้อผ้าออกมาโดยนำเสื้อผ้าอันใส่หลังจากสัมภาษณ์งาน ที่กองไว้ไม่ได้ใช้มาแลกเปลี่ยนกัน ช่วยให้ผู้หางานที่ไม่มีเงินมากนัก สามารถที่จะสร้างความประทับใจแรกพบได้
หลังเปิดร้านมาได้ไม่นานก็มีองค์กรและส่วนบุคคลติดต่อบริจาคมาไม่ขาดสาย รวม ๆ แล้ว เช่าครั้งหนึ่งไม่ถึงหนึ่งพันบาท แถมร้านยังใส่ใจความทันสมัยของชุดอีกด้วย
และไม่ใช่แค่ส่งต่อแค่เสื้อผ้าเพียงเท่านั้น ทว่ายังส่งต่อข้อความที่เปี่ยมไปด้วยความอบอุ่น ช่วยส่งต่อพลังให้คนหางานต่อไปอีกด้วย
นี่คือชุดที่ฉันใส่ตอนสมัครงานครั้งแรก หวังว่าจะช่วยส่งต่อความรู้สึกที่ดีไปยังกรรมการสัมภาษณ์ของคุณ เพราะเป็นชุดที่ทำให้เกิดเรื่องราวดี ๆ มากมายสำหรับฉัน
ห้องเสื้อยอลรินพร้อมข้อความเปี่ยมกำลังใจ
🪄จากการอ่านในพาร์ทของคีย์เวิร์ดนี้ จึงได้ทราบถึงเบื้องหลังของแรงบันดาลใจในการทำงาน “เอื้อเฟื้อ” เพื่อส่งต่อพลังให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นที่บังคลาเทศ เป็นการลบความคิดที่ทำธุรกิจกับคนจนมีแต่จะกอดคอกันจนลงไป สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงการคิดต่างออกไปเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น พร้อมกับที่เกาหลีใต้ การทำงานระดมทุนก็เพื่อเป็นสะพานให้กับคนที่สนใจในงานการกุศลนั้น ๆ บุคคลที่มายังโรงเรียนเพื่อการกุศลต่างช่วยขับเคลื่อนสังคม
ไม่ว่าจะระดมเงินก็ดี หรือคิดโครงการการกุศลก็ดี ทุกคนที่มายังโรงเรียนแห่งนี้ต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกัน
จนถึงห้องเสื้อให้เช่า ด้วยความคิดที่ว่ามาแบ่งปันเสื้อเพื่อจะได้ส่งต่อให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์มากกว่าจะหมกเสื้อไว้โดยเปล่าประโยชน์ เราก็ได้เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่เพียงแค่การส่งต่อเสื้อผ้า แต่เป็นการส่งต่อน้ำใจและความอบอุ่น แล้วการส่งต่อพลังแบบนี้ จะไม่ดีได้อย่างไรใช่ไหมละคะทุกท่าน
เลยคิดว่า โลกดีขึ้นและน่าอยู่ขึ้น เพราะพลังของคนเหล่านี้เลยค่ะ ขอปรบมือและทัชใจในคีย์เวิร์ดนี้จริง ๆ ค่ะ
To be continued… ในอีกสามคีย์เวิร์ดสำคัญ อีกไม่ช้าไม่นานค่ะทุกท่าน
ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านนะคะ มีความคิดเห็นอย่างไร ขอเชิญคอมเม้นต์ได้เลยค่ะ🙏
นักเขียน : คิมรันโด
นักแปล : นาริฐา สุขประมาณ
สำนักพิมพ์ : สปริงบุ๊คส์ (Springbooks)
จำนวนหน้า : 255 หน้า
สนนราคาหนังสือ(ปก) : 195 บาท
โฆษณา