9 มิ.ย. 2022 เวลา 09:11 • ธุรกิจ
9 มิ.ย. กัญชาเสรี กับ 10 เรื่องที่ต้องรู้
ทั้งภาคสังคม ธุรกิจ และครัวเรือน
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย. 65 และจะส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ที่ปลูกภายในประเทศ ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป (ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ยังเป็นยาเสพติด)
1
แต่การปลดล็อกในครั้งนี้ นำมาซึ่งสภาวะสุญญากาศในประเทศไทย เพราะกฎหมายลูกยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา การเปลี่ยนแปลงในหลายด้านจึงกลายเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม
ภาครัฐ บางหน่วยงานก็มองถึงเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ
ภาครัฐ บางหน่วยงานก็กังวลถึงผลกระทบทางสังคมที่จะตามมา
ภาคเอกชน หลายหน่วยงานก็เข้ามาร่วมกันพัฒนาสินค้าใหม่ๆ จากกัญชา
ภาคสังคม หลายครอบครัวก็กังวลว่าลูกหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะตกเป็นเหยื่อของการปลกล็อกครั้งนี้
หลายคนอาจจะยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลดล็อกในครั้งนี้
ทีมงานได้รวบรวมข้อมูลสำคัญๆ ที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนต้องรับรู้มาให้แล้ว
1. ผลทางกฎหมาย
- การปลูกกัญชา การมีไว้ในครอบครอง หรือการเสพกัญชา (ที่ไม่ใช่การสกัด หรือการมีสารสกัด หรือการเสพสารสกัดจากกัญชา) ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป
- คดีความผิดเกี่ยวกับกัญชาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน, ระหว่างการพิจารณาของอัยการและศาล ถือว่าการกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
- ผู้ต้องหาคดีความผิดเกี่ยวกับกัญชาทุกคนถือว่าไม่มีความผิดอีกต่อไป โดยผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์มีจำนวนทั้งสิ้น 4,103 ราย
2. ผลกระทบทางสังคม
แม้ว่าในทางกฎหมายกัญชาจะถูกปลดล็อก แต่พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่ต้องใช้ความคู่กันยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาตราเป็นกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ประเทศไทยจะเกิดสภาวะสุญญากาศ หรือเป็นกัญชาเสรี 100% เช่น
- เด็ก เยาวชนสามารถสูบได้
- สามารถพกติดตัวในปริมาณเท่าไหร่ก็ได้
1
ภาคธุรกิจ
3. การนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ
-การนำเข้า “ทุกส่วนของกัญชา” สามารถกระทำได้ โดยการนำเข้าต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจากสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
- การนำเข้า “ผลิตภัณฑ์” (Finished Product) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ
ภาคธุรกิจ
4. ร้านอาหารที่นำกัญชามาใช้
- สถานประกอบการอาหารที่ปรุงเพื่อจำหน่ายภายในร้านอาหาร หรือสถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน รวมถึงการบริการจัดส่งอาหารให้กับผู้ซื้อ ไม่ต้องขออนุญาตกับ อย.
- สถานประกอบการ ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัยดังนี้
(1) แสดงข้อแนะนำ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร
(2) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชงในภาชนะบรรจุ ได้แก่ “เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (CBD) ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
- สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตบรรจุในภาชนะบรรจุจากสถานประกอบอาหารที่ปรุงเพื่อจำหน่าย ขอความร่วมมือให้แสดงข้อความ “ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนของกัญชา/กัญชง” หรือ “สัญลักษณ์ที่สื่อถึงกัญชา/กัญชง”
ภาคธุรกิจ
5. การโฆษณาสินค้ากัญชา
- สินค้ากลุ่มยา อาหาร และสมุนไพรจะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ. ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- การโฆษณาผ่าน Facebook ต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะนโยบายการโฆษณาของ Facebook ไม่อนุญาตให้โพสต์โฆษณาที่ระบุถึงคำว่า “CBD”
ภาคครัวเรือน
6. สูบกัญาได้ที่ไหน?
ในเคหสถาน : สามารถทำได้ *(2)
สถานที่สาธารณะ : ยังไม่มีกฎหมายควบคุม *(1) *(2)
*(1) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่องแนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากกลิ่นและควันของกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกัน
ระหว่างที่รอกฎหมายลูก สามารถใช้การสูบกัญชาในที่สาธารณะซึ่งถือเป็นการรบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
*(2) ข้อควรระวัง และการใช้เพื่อสันทนาการสารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% ยังถือเป็นยาเสพติด
7. อยากปลูกเองทำอย่างไร?
-ปลูกเองไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งผ่านแอปฯ หรือเว็บ “ปลูกกัญ” ฟรี
-กรมวิชาการเกษตรเตรียมกระจายต้นกล้า 1 ล้านต้น เริ่มแจก 1,000 ต้น ที่ จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 10 – 12 มิ.ย. 65
8. วิธีปลูกกัญชาเบื้องต้น
1. กลางแจ้ง (Outdoor) ปลูกระบบเปิดตามธรรมชาติ ใช้เงินทุนต่ำ มีปัญหาศัตรูพืช
2. โรงเรือน (Indoor) ใช้หลอดไฟภายในโรงเรือน ใช้เงินทุนสูง ไม่มีปัญหาศัตรูพืช
9. การนำกัญชาไปใช้
สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% นำไปใช้ทำยา อาหาร เครื่องสำอาง
ช่อดอก : สมุนไพร, อาหาร (ถ้ามี THC เกิน 0.2% ผิดกฎหมาย)
กิ่งก้าน ราก : สมุนไพร, เครื่องสำอาง
ใบ : สมุนไพร, อาหาร, เครื่องสำอาง
เปลือก ลำต้น : เครื่องสำอาง
1
10. ปลูกเพื่อจำหน่าย
ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย ต้องขออนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่งเลขาฯ อย. มอบหมาย*(3)
*(3) ใบอนุญาตแต่ละชนิดจะมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดใบอนุญาต โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่มีใบอนุญาต จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โฆษณา