11 มิ.ย. 2022 เวลา 10:09 • ประวัติศาสตร์
รู้จักกับ "Sanrizuka" ความขมขื่นเบื้องหลังการก่อสร้างสนามบินนาริตะ สนามบินระดับโลกที่มีไร่นาขวางรันเวย์ มีเวลาห้ามเครื่องบินขึ้นลง
หลายๆคนที่ติดตามการไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊คของคุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันเดินทางไปสหรัฐอเมริกา โดยช่วงหนึ่งของการต่อเครื่องที่สนามบินนาริตะนั้น มีการกล่าวถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งนี้ที่เกิดความขัดแย้งต่างๆ รวมถึงพื้นที่บางส่วนที่ต้องมีการกั้นรั้วไว้แยกออกจากพื้นที่สนามบินมาจนถึงปัจจุบัน
...เรื่องนี้ถือเป็นอีกเรื่องที่น่าเรียนรู้ ทั้งประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างสนามบินกับพื้นที่ชุมชนโดยรอบ รวมถึงการจัดการเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เราลองย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวกัน
📌การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ประเทศญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการเดินทางทางอากาศ โดย ณ ตอนนั้นมีการคาดการณ์ว่าสนามบินหลักของโตเกียวอย่างฮาเนดะจะมีการใช้งานเต็มความจุในช่วงปี 1970 นั่นทำให้คณะรัฐมนตรีซึ่งมี Hayato Ikeda เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติโครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่เมื่อปี 1962
สนามบินฮาเนดะ ช่วงทศวรรษที่ 1950
📌พื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการก่อสร้าง "New Tokyo International Airport"
เมื่อมีการอนุมัติโครงการ ได้มีการหาพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เหมาะสมกับการก่อสร้าง โดยเน้นไปที่พื้นที่จังหวัดที่ติดกับโตเกียว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดชิบะ อิบารากิ เป็นต้น แม้จะเคยเลือกบางพื้นที่ไปก่อนเช่น บริเวณโทมิซาโตะในจังหวัดชิบะ แต่ก็โดนประท้วงจนต้องพับแผนไปก่อน
ภายหลังในปี 1966 จากความต้องการเร่งรัดโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ รัฐบาลตัดสินใจเลือกพื้นที่ Goryō Farm ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขต “Sanrizuka” หรือซันริซูกะ เป็นพื้นที่สร้างสนามบินแห่งใหม่ โดยคิดว่าทำให้ไม่ต้องเวนคือที่ดินมากนัก
พื้นที่ซันริซูกะยังเป็นการทำเกษตรกรรมที่ไม่ได้มีรายได้สูง การเวนคืนไม่น่าจะทำได้อย่างยากเย็น แต่ในภายหลังมีการปรับแผนหลายครั้ง ทำให้พื้นที่ที่เป็นของรัฐมีขนาดเพียง 40% เท่านั้นเมื่อเทียบกับพื้นที่สนามบินทั้งหมด
มีการประกาศเลือกพื้นที่ “ซันริซูกะ” อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฏาคม 1966 ก่อนที่จะเริ่มโครงการก่อสร้างทันที มีเป้าหมายเริ่มให้บริการช่วงแรกได้ในปี 1971 ก่อนที่จะเปิดบริการอย่างเต็มตัวในปี 1973
📌การรวมตัวกันของชุมชนในพื้นที่ในช่วงเริ่มการก่อสร้าง
แม้รัฐจะสามารถเวนคืนที่ดินได้บางส่วนจากกลุ่มเกษตรการและประชาชนในพื้นที่ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่พอใจ โดยภายหลังจากการประกาศคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างเพียงเดือนเดียว เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนในพื้นที่ก่อสร้าง ในช่วงแรกเรียกว่า Sanrizuka-Shibayama Joint Anti-Airport Union
สัญลักษณ์กลุ่มผู้ชุมนุม
มีรายงานว่า ช่วงการเริ่มสำรวจพื้นที่และลงเสาเข็ม เกิดการประท้วงและเดินขบวนขัดขวางอย่างรุนแรง การเข้ามาลงเสาเข็มในช่วงแรกต้องมีตำรวจปราบจราจลมากกว่า 1,500 นายมาคุ้มกันเลยทีเดียว
📌การประท้วงระหว่างก่อสร้าง
การประท้วงเกิดขึ้นหลายรูปแบบ มีทั้งการส่งเป็นหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการ การเดินขบวน การชุมนุมค้างคืน การขัดขวางการก่อสร้าง การสร้างหอคอยเหล็กสูง 60 เมตรขึ้นมาในช่วงที่มีการก่อสร้างทางวิ่ง (Runway) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการบินของเที่ยวบินทดสอบ รวมไปถึงการขัดขวางการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเข้ามาภายในสนามบิน
หอคอยที่กลุ่มผู้ชุมนุมก่อสร้างขึ้นเพื่อขัดขวางเที่ยวบินทดสอบระหว่างการสร้างรันเวย์ ภายหลังศาลมีคำสั่งให้รื้อถอนออก
เมื่อมีการประท้วงมากขึ้น รัฐก็เริ่มใช้มาตรการตอบโต้รุนแรงมากขึ้น ทั้งการปราบปรามผู้ประท้วง รวมไปถึงมาตรการการเวนคืนที่ดินที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ถึงต้นทศวรรษที่ 70 นั้น เหมือนเป็นการรบกันขนาดย่อมระหว่างกลุ่มประชาชนกับอาวุธที่สร้างขึ้นเอง กับกลุ่มตำรวจปราบจราจล มีการสร้างทางเดินใต้กิน สร้างป้อมปราการ ส่งผลให้เริ่มเกิดความเสียหายถึงชีวิตกับทั้งกลุ่มผู้ประท้วงและฝ่ายผู้ปราบปราม
การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ
เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ ทำให้การก่อสร้างสนามบินล่าช้า ไม่สามารถเปิดได้ตามที่วางแผนไว้ตอนแรก โดยกำหนดการถูกเลื่อนไปเปิดใช้งานในปี 1977
การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจปราบจราจลในพื้นที่ก่อสร้างสนามบินนาริตะ
📌ช่วงการเปิดสนามบิน ความวุ่นวายยังไม่จบ
เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงช่วงก่อนเปิดสนามบินตามกำหนดการใหม่ (ระหว่างนั้นก็มีการกระทบกระทั่งกันโดยตลอด) ในปี 1977 สมัยนายกรัฐมนตรี Takeo Fukuda เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 20,000 คนที่สวนสาธารณะซันริซูกะ แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางกำหนดการเปิดใช้งานสนามบินแต่อย่างใด
การประท้วงครั้งใหญ่
ช่วงกลางปี 1977 ศาลมีคำสั่งรื้อถอนหอคอยเหล็กสูง 60 เมตรที่มีการสร้างไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้มีการนำกำลังตำรวจปราบจราจลกว่า 2,000 นายเข้าไปทำลายและรื้อถอนเป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็มีการปะทะกันอย่างรุนแรงหลายครั้ง มีผู้เสียชีวิตหลายรายในเวลาต่อมา
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กำหนดการเปิดสนามบินถูกเลื่อนไปเป็นปลายเดือนมีนาคม 1978 แต่เมื่อใกล้ถึงวัน เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปในอาคารสนามบิน รวมถึงหอบังคับการบิน ทำลายอุปกรณ์ควบคุมการจราจรทางอากาศต่างๆทำให้ต้องเลื่อกการเปิดใช้งานอีกครั้ง พร้อมมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมเข้ามาคุ้มครองความปลอดภัยของสนามบิน
เหตุการณ์ยึดหอบังคับการบิน มีรายงานความเสียหายจากเหตุการณ์นั้นกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐ
20 พฤษภาคม 1978 สนามบินนาริตะเปิดใช้งานวันแรกอย่างเป็นทางการ โดยยังมีเกษตรกรถือครองพื้นที่บางส่วนในสนามบินอีก 17 ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่การก่อสร้างเฟส 2
📌ผลกระทบถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันมีการก่อสร้างเพิ่มเติมตามแผนเรียบร้อยแล้ว แม้เกษตรกรและผู้อาศัยบางส่วนยังไม่ได้ย้ายออกไป เพราะหน่วยงานออกแบบเลือกวิธีการเปลี่ยนแบบการสร้างให้ยังคงเหลือพื้นที่นั้นๆไว้
จะเห็นได้ชัดจากพื้นที่ที่ควรเป็นทางขับ (Taxiway) ของเครื่องบิน ในบางส่วนจะมีการหักเลี้ยวหลบ และล้อมรั้วสูงรอบพื้นที่นั้นๆให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆก็ต้องเข้าออกด้วยช่องทางพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นทางลอดหรือทางข้าม เป็นต้น
พื้นที่ไร่และที่อยู่อาศัยของเกษตรกรที่ไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ มีกระจายอยู่ทั่วบริเวณสนามบิน
นอกจากนี้ สนามบินนาริตะยังได้เจรจากับชุมชนโดยรอบถึงมลภาวะทางเสียงของการขึ้นลง ผลของการเจรจาทำให้เกิดข้อกำหนดการห้ามขึ้นลงของเครื่องบินระหว่างเวลา 23.00 ถึง 06.00 ของทุกวัน ยกเว้นเที่ยวบินพิเศษและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งข้อกำหนดนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน จะสังเกตได้ว่าเที่ยวบินระยะไกลข้ามทวีปที่มีเวลาขึ้นและลงระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว จะทำการขึ้นลงจากสนามบินฮาเนดะที่ไม่มีข้อกำหนดเช่นนี้แทน
ภาพเครื่องบินร่อนลงจอดจากพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมที่ไม่ได้ย้ายออกนับตั้งแต่ก่อสร้างสนามบิน พื้นที่เหล่านี้มีประชาชนอาศัยนี้และเป็นส่วนสำคัญในข้อบังคับการห้ามเครื่องบินขึ้นลงในบางช่วงเวลา
📌ปัจจุบันสนามบินนาริตะเป็นหนึ่งในสนามบินที่ใหญ่และคับคั่งที่สุดในโลก ในปี 2019 มีผู้โดยสารใช้งานสนามบินแห่งนี้กว่า 40 ล้านคน เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างทวีปเอเชียและอเมริกา แต่กว่าจะมาเป็นนาริตะที่หลายๆคนเคยไปใช้บริการทุกวันนี้ ที่แห่งนี้ได้ผ่านอะไรมาเยอะเหลือเกิน ถือเป็นบทเรียนสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นในการสร้างสนามบินแห่งใหม่
อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ระหว่างการชุมนุม ปัจจุบันมีการจัดแสดงไว้ที่ Narita Airport and Community Historical Museum
ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลมักจะพิจารณาการสร้างสนามบินกลางทะเล ดังเช่นอีก 2 สนามบินขนาดใหญ่ที่มีการสร้างลำดับถัดๆมาอย่างคันไซและนาโกยา
ข้อมูลบางส่วนและภาพประกอบจาก
โฆษณา