12 มิ.ย. 2022 เวลา 04:30 • สุขภาพ
ดิส แบ็ป เซีย คืออะไร ?!
ท้องอืด – จุดเสียดแน่น - มวนท้อง – พะอืดพะอม – ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
ใครมีอาการเป็นแบบนี้ครับ ?
มาฟังบทความนี้กันครับผม
🙂
กลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร แบบนี้ . . ผมเชื่อว่าหลายคนบางครั้งเป็นอยู่ (จริงๆกระทั่งตัวผมเองก็เคยเป็นสมัยเรียนครับ😅)
เพราะด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่ค่อนข้างเร่งรีบ การที่จะต้องมานั่งหุงหาอาหารที่ดีมีคุณภาพ และ การที่ต้องมากินให้ตรงเวลา เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่อนข้างยากนะครับ
ผมเข้าใจดีเลยครับ ว่าช่วงนี้จึงมีคนมีอาการทางระบบทางเดินอาหารค่อนข้างมาก ซึ่งความเสี่ยงส่วนใหญ่ของภาวะนี้ คือ 1.พฤติกรรมการกินอาหาร และอาหารที่กิน , 2.สภาวะความเครียดทางจิตใจ, 3.พันธุ์กรรม และ 4.โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเช่นกรดไหลย้อน, โรคกระเพาะอาหาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน
เบื้องต้น หากยังไม่ได้พบแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติหรือตรวจร่างกายให้ละเอียด อาจจะเรียกรวมๆกันได้ว่า กลุ่มอาการ Dyspepsia (ดิส-แป็บ-เซีย) ครับ
ถึงแม้ว่าจากตำราระบุว่า Dyspepsia มักจะมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ พอคนไข้หายแล้ว ก็ไม่ทำการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมความเสี่ยง อาจเพราะว่าคนไข้ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำๆอยู่นั้นคือความเสี่ยง จนอาจทำให้กลับเป็นได้ซ้ำอีก จนสร้างความรำคาญ และรบกวนคุณภาพชีวิตคนไข้ได้ครับ
ฉะนั้นวันนี้ ผมจะมาให้ความรู้เรื่องนี้กันครับผม
แล้วเราจะรู้ได้ไงละ ว่าเราเป็น Dyspepsia !
จริงๆแล้ว ก็จะมาจากการซักประวัติโดยบุคลากรทางการแพทย์ครับ
ด้วยคำถามที่ถามดังนี้ (เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย ดัดแปลงคำถามมาจาก Rome IV* ผู้ป่วยจะต้องตอบ ว่ามีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ซึ่งอาการดังกล่าวที่เป็น จะเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน)
(ROME IV criteria Stanghellini et al., 2016)
1. 🤢จุก แน่นท้องหลังกินข้าวเสร็จ หรือป่าว ?
2. 😣อิ่มเร็วกว่าปกติมั้ย ?
3. 😓 ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือป่าว?
4. 😰แสบร้อนตรงลิ้นปี่ บ้างมั้ย?
ซักประวัติทั้ง 4 ข้อนี้ร่วมกับการสอบถามพฤติกรรมความเสี่ยง*** เช่น
- เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ?
- กินอาหารเร่งรีบ ?
- กินอาหารที่มีไขมันสูง ?
- กินอาหารมื้อหนักๆ มื้อใหญ่ๆ กินอาหารปริมาณมากกว่าปกติ(บุฟเฟ่ - Buffet) ?
- ชอบกินอาหารที่มีรสจัด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน หรือป่าว ?
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจจะทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย หากปล่อยทิ้งอาจจะส่งผลเสียได้ในระยะยาว
จากข้อมูล “แนวทางการรักษากลุ่มอาการอาหารไม่ย่อย” ระบุว่า ภาวะย่อยอาหารผิดปกติแบบชนิดที่ไร้เหตุทางกาย มักจะพิจารณาการรักษาด้วยยา ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งยาที่ระบุถึง คือยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (prokinetics) ตามข้อเสนอแนะ อาจนำมาใช้ควบคู่ไปกับ ยาลดการหลั่งกรด ได้ในคนไข้ dyspepsia เพราะ ผู้ป่วย dyspepsia ส่วนหนึ่งมีอาการเนื่องจากการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารที่ช้าผิดปกติ
* * * ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารสามารถออกฤทธิ์ผ่านหลายกลไก เช่น
1. กระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร (accelerate gastric emptying และ enhance antro-pyloric motility)
2. กระตุ้นให้กระเพาะอาหารส่วนบนขยายตัวได้ดีขึ้น (fundic relaxation)
3. เพิ่มกำลังของหูรูดบริเวณหลอดอาหารส่วนล่าง (increase lower esophageal sphincter pressure)
ซึ่งกลไกเหล่านี้อาจทาให้อาการ dyspepsia ดีขึ้นได้
โดยแนวทางฯ ได้แนะนำตัวยาการรักษาไว้ ดังนี้
โดยมีการแนะนำให้ใช้ชื่อยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (prokinetics) ดังนี้
1. Metoclopramide
2. Domperidone
3. Itopride
4. Mosapride
ขอยกตัวอย่างยามา 1 ตัวนะครับ ที่เราน่าจะเคยใช้กัน และเห็นกันบ่อยๆ เช่น Domperidone (ดอม-เพอร์-ริ-โดน) ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร โดยยับยั้งตัวรับ dopamine-2 receotor (D2 receptor antagonist) ที่เซลล์ประสาทของ cholinergic neuron ส่งผลเป็นการเพิ่มสารที่กระตุ้นการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารได้
จากการศึกษาพบว่าตัวยามีประสิทธิภาพเหนือกว่ายาหลอกในการรักษาผู้ป่วย functional dyspepsia ได้ดี เป็นยามาตรฐานที่นิยมใช้ในการรักษา
ยานี้ไม่สามารถผ่าน BBB (Blood brain barrier) ได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง
โดยใช้พิจารณาใช้ยาเพียงระยะสั้นตามอาการเท่านั้น และสำคัญที่สุดคือการใช้ยานี้ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการกินยาครับ . . . แต่ถึงอย่างไร . . . Domperidone (ดอม-เพอร์-ริ-โดน) ก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็น *ยาอันตราย !
ฉะนั้น . . ก่อนใช้ยาต้องปรึกษาเภสัชกรครับผม
#เรื่องยาปรึกษาเภสัชกร . . . . เอาละครับ ถึงจุดนี้ อยากให้ทุกคนลองสำรวจตัวเองนะครับผม ว่ามีอาการดังที่ผมไปหรือป่าว ?
เริ่มต้นจากการใส่ใจในอาหารการกินสักนิดนะครับผม และ หมั่นออกกำลังกาย
ก็จะทำให้สุขภาพกาย และ ใจดีขึ้นได้ในสภาวการณ์การระบาดของโควิดที่ยังไม่จบไม่สิ้นแบบนี้
จะได้ไม่มาเป็น dyspepsia เพิ่มอีก
อย่าลืมนะครับ .... หากท่านสงสัย ข้องใจ มีปัญหาเรื่องยา หรือ สุขภาพ ปรึกษาเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านนะครับผม
ด้วยความห่วงใยจาก . . . หมอยาแมวดำครับผม
#อาหารไม่ย่อย #ท้องอืด #แน่นท้อง #ปวดท้อง #แสบท้อง #อิ่มเร็ว #กรดไหลย้อน #โรคกระเพาะอหาร
ข้อมูลบางส่วนผมอ้างอิงมาจาก
1. แนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วย Dyspepsia ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561
2. Lacy BE, Talley NJ, Locke GR, 3rd, Bouras EP, DiBaise JK, El-Serag HB, et al. Review article: current treatment options and management of functional dyspepsia. Aliment Pharmacol Ther. 2012; 36: 3 15.
3. ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา. แนวทางการรักษาภาวะย่อยอาหารผิดปกติไร้เหตุทางกายสำหรับเภสัชกรชุมชน. ว. เภสัชศาสตร์อีสาน 2562; ปีที่ 15ฉบับที่ 2. เมษายน-มิถุนายน 2562.
โฆษณา