15 มิ.ย. 2022 เวลา 08:34 • สุขภาพ
แอปฯ อสม.ออนไลน์ สำรวจลูกน้ำยุงลาย ที่ปลายนิ้ว รู้ทันที เห็นภาพรวม
ไข้เลือดออก โรคที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา เพราะเป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง และไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออก จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
การป้องกันเริ่มต้นจากการกำจัดแหล่งน้ำเพาะพันธุ์ยุงลาย เพราะโรคไข้เลือดออกนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้มีการสำรวจลูกน้ำยุงลายโดยเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข หรืออสม. ทั่วประเทศ ที่ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมทุกบ้านเพื่อสำรวจลูกน้ำยุงลาย และกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ุยุงลาย
การลงพื้นที่สำรวจลูกน้ำยุงลาย เพื่อเก็บข้อมูลการพบแหล่งน้ำเพาะพันธุ์ยุงลาย พบการระบาดของไข้เลือดออกในแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันกาล และเห็นภาพรวมทั้งประเทศ มาราว 3 ปีแล้ว หลังจากที่อสม. มากกว่า 280,000 คนทั่วประเทศ ใช้ แอปฯ “อสม.ออนไลน์” เป็นเครื่องมือสำรวจลูกน้ำยุงลายแทนกการจดลงกระดาษ
ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมสามารถบริหารจัดการการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะอสม.ร่วมกันใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ เป็นเครื่องในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำรวจลูกน้ำยุงลาย
อสม.แต่ละคนจะดูและบ้านราว 10-15 หลังคาเรือน เดิมทีอสม.จะจดข้อมูลลงกระดาษและนำเข้าระบบ แต่ 3 ปีที่ผ่านมาอสม.สามารถรายงานผลสำรวจลูกน้ำยุงลายด้วยปลายนิ้วบนแอปฯ อสม.ออนไลน์
ทำให้ข้อมูลที่รายงานเข้ามาจากอสม.มากกว่า 280,000 คนที่ใช้งานประจำทุกเดือน ไหลเข้าสู่ระบบแบบเรียลไทม์ ข้อมูลที่จัดเก็บบ่งชี้ถึงดัชนีบ้าน (House Index) และดัชนีภาชนะ (Container Index) ที่พบลูกน้ำยุงลาย ซึ่งรายงานผลออกมาในรูปของข้อมูล ภาพ และแผนที่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางการบริหารควบคุมโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก
“เดิมการทำงานจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลโดยใช้แบบฟอร์มกระดาษ ทำให้การนำข้อมูลมาปรับใช้เกิดความคลาดเคลื่อน แต่หลังจากนำเอาฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายในแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาปรับใช้ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ อสม.เกิดความคล่องตัว สามารถเก็บข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ทั้งจำนวนบ้าน ลูกน้ำ ภาชนะ รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่พบในชุมชนและในบ้าน
เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการสรุปผลและติดตามการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด” ดร.พญ.ฉันทนา กล่าว
กรมควบคุมโรคได้ใช้ประโยชน์ในการนําข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับจํานวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาดในพื้นที่ เพื่อแบ่งพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ และนําไปใช้ในการเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยงต่ออการเกิดโรคติดต่อนําโดยยุงลายเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ และแจ้งเตือนประชาชนถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค
“ด้วยแอปฯ อสม.ออนไลน์ ช่วยให้กองโรคติดต่อนำโดยแมลง รู้ได้ทันทีว่า มีจำนวนลูกน้ำยุงลายมากน้อยเพียงใด และรู้ว่าอยู่ที่ไหน รู้ได้แบบเรียลไทม์ แอปฯ อสม.ออนไลน์จึงเป็นแอปฯ ที่มีนัยสำคัญในการควบคุมโรคไข้เลือดออก เมื่อรู้ข้อมูลจะทำให้สามารถจัดการป้องกันได้ตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้กลายเป็นยุงลาย นี่คือ ประโยชน์จากการรายงานจากปลายนิ้วของอสม.” ดร.พญ.ฉันทนา กล่าว
อนาคตทางกรมฯ ได้วางแผนที่จะใช้ข้อมูลผลสํารวจลูกน้ำยุงลายจากแอปฯ อสม.ออนไลน์ ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ปริมาณน้ําฝน ความชื้น เป็นต้น เพื่อใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่แม่นยํามากขึ้น
สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นของเอไอเอสที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำในสงัคมและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ด้วยการให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลและบริการ โดยเฉพาะบริการสาธารณสุข
หนึ่งในเครื่องมือหลักที่ทำให้เอไอเอสช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข จนเป็นที่ประจักษ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา คือ แอปฯ อสม.ออนไลน์ แอปฯ ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมงานของเอไอเอสเพื่อให้อสม.ใช้งาน
อสม. คือ ข้อต่อสำคัญที่เชื่อมต่อประชาชนคนไทยในแต่ละชุมชนท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งมิติของข้อมูลและบริการ แอปฯ อสม.ออนไลน์ คือแพลตฟอร์มสำคัญที่เชื่อมต่ออสม.กับระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่ช่วยส่งผ่านข้อมูลและบริการสาธารณสุขไปยังประชาชน และเก็บข้อมูลจากประชาชนกลับมาที่ระบบสาธารณสุข
แอปฯ อสม.ออนไลน์ มีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสาธารณสุข ฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลายเป็นตัวอย่างฟีเจอร์ที่สร้างขึ้นมาตามโจทย์ความต้องการของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บข้อมูลลูกน้ำยุงลายให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุมโรคไข้เลือดออก
ปัจจุบัน มีอสม.ทั่วประเทศอยู่ราว 1 ล้านคน มีอสม.ที่ใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์แบบใช้ประจำอยู่ 500,000 คนต่อเดือนและในจำนวนนี้ใช้ฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลายมากกว่า 280,000 คนต่อเดือน
ทีมนักพัฒนาของเอไอเอสราว 5-6 คนจะโฟกัสกับแอปฯ อสม.ออนไลน์ เก็บข้อมูล ปรับปรุง พัฒนาต่อยอด เพื่อให้แอปฯ อสม.ออนไลน์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพตอบตรงโจทย์สาธารณสุขของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขของประชาชน นอกจากทีมนักพัฒนา เอไอเอสยังมีจิตอาสาที่เป็นพนักงานเอไอเอสทั่วประเทศทำหน้าที่คอยช่วยสอนการใช้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของแอปฯ อสม.ออนไลน์ให้กับอสม.ทั่วประเทศ
ฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายได้ถูกเพิ่มขึ้นบนแอปฯ อสม.ออนไลน์ในปี 2562 โดยการทำงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีครัวเรือนในประเทศไทยที่ได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน โดยได้การสำรวจลูกน้ำยุงลายไปแล้วมากกว่า 1 ร้อยล้านครั้ง
ข้อมูลจากการสำรวจลูกน้ำยุงลายในแอปฯ อสม.ออนไลน์มาวิเคราะห์ร่วมกันและจัดการการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะเห็นได้ว่าอัตราผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง
“มีการให้คำแนะนำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้านให้ถูกสุขลักษณะ ทำให้สุขอนามัยของประชาชนดีขึ้น และเมื่อสภาพแวดล้อมชุมชนดีก็ทำให้สังคมดีไปด้วย เอไอเอสขอเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศของ 3 หมอ คือ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรพ.สต และคุณหมอในรพ.ชุมชน เพื่อช่วยให้คนไทยอยู่ห่างไกลจากไข้เลือดออก” สายชล กล่าว
โรคไข้เลือดออกถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยยังรวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องด้วยอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น ด้วยความสำคัญดังกล่าว 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้ลงมติร่วมกันให้ ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day)
เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง สำหรับในประเทศไทยโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ระบาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 70 ปี
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มิถุนายน 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 3,386 ราย (เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับในปี 2564 พบว่ายอดผู้ป่วยสะสมลดลง 21%) โดยในช่วงที่มีการระบาดจะเริ่มต้นในช่วงฤดูฝนหรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
โฆษณา