Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BETTERCM
•
ติดตาม
16 มิ.ย. 2022 เวลา 13:17 • สุขภาพ
ยา กระดูกพรุน แคลเซียม
👨🏭โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่ส่งผลให้มีเนื้อกระดูกบางลง ทำให้กระดูกเปราะและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยปกติแล้วมวลกระดูกจะมีค่าสะสมสูงสุดที่ช่วงอายุ 30 – 40 ปี ต่อมาที่อายุประมาณ 40 – 45 ปี จะเริ่มมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก และในผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยที่มีผลต่อมวลกระดูก ได้แก่ เชื้อชาติ พันธุกรรม การออกกำลังกาย อาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดวิตามินดี โรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ พาราไทรอยด์มากเกินไป โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และการใช้ยาบางประเภท เช่น กลูโคคอร์ติคอยด์ เป็นต้น
มียาหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อใช้เป็นเวลานาน
ตัวอย่างยาที่จะกล่าวถึงมีดังนี้
⚠️ยาสเตียรอยด์ เช่น เด็กซ่าเมทาโซน (dexamethasone), เพรดนิโซโลน (prednisolone) นอกจากจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สลายกระดูก และลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกแล้ว ยายังอาจมีฤทธิ์โดยตรงในการทำให้เซลล์กระดูกตาย
ผู้ที่ใช้ยายาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือชนิดฉีดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก ซึ่งเกิดได้แม้ใช้ยาขนาดยาต่ำ (เทียบเท่าเพรดนิโซนขนาด 3-10 มิลลิกรัม) โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา เริ่มพบได้ตั้งแต่ใช้ยาอย่างต่อเนื่องนาน 3-6 เดือน และพบมากช่วง 6-12 เดือนแรกที่ใช้ยา
⚠️ยาต้านชัก
ตัวอย่างยา เช่น เฟนิโทอิน (phenytoin),
ฟีโนบาร์บิทาล (phenobarbital),
คาร์บามาเซพีน (carbamazepine),
โคลนาซีแพม (clonazepam),
กาบาเพนติน (gabapentin),
โทพิราเมต (topiramate),
ลาโมทริจีน (lamotrigine)
ความเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกระดูกเพิ่มเป็น 2 เท่าของคนทั่วไป ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักแปรผันตามระยะเวลาที่ใช้ยาและขนาดยาสะสม (cumulative dose)
สำหรับวาลโปรเอต (valproate) จะพบความเสี่ยงน้อยกว่า
⚠️ยาต้านการหลั่งกรดกลุ่ม PPIs
ตัวอย่างยา เช่น โอเมพราโซล (omeprazole),
เอสโซเมพราโซล (esomeprazole),
แลนโซพราโซล (lansoprazole),
เด็กซ์แลนโซพราโซล (dexlansoprazole),
แพนโทพราโซล (pantoprazole),
ราบีพราโซล (rabeprazole)
ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักทั้งกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยานานกว่า 1 ปี โดยความเสี่ยงเพิ่มตามขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา
⚠️ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs
ตัวอย่างยา เช่น ฟลูอ็อกเซทีน (fluoxetine),
เซอร์ทราลีน (sertraline),
พาร็อกเซทีน (paroxetine),
ฟลูว็อกซามีน (fluvoxamine),
ไซทาโลแพรม (citalopram)
⚠️ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SNRIs
ตัวอย่างยา เช่น ดูล็อกเซทีน (duloxetine)
ความเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกระดูกและกระดูกหักเกิดกับกระดูกสะโพกหรือกระดูกที่อื่นมากกว่ากระดูกสันหลัง โดยมีความสัมพันธ์กับขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา พบได้ตั้งแต่การใช้ยาน้อยกว่า 6 สัปดาห์ ไปจนถึงการใช้ยานาน 3-5 ปีหรือนานกว่านี้ ความเสี่ยงต่อกระดูกหักเกิดได้แม้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกไม่ได้ต่ำมากนัก
⚠️ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มไทอะโซลิดีนไดโอน (thiazolidinediones)
ใช้รักษาโรคเบาหวานแบบที่ 2 ตัวอย่างยา เช่น
โรสิกลิตาโซน (rosiglitazone),
ไพโอกลิตาโซน (pioglitazone)
ข้อมูลทั้งในคนและสัตว์พบว่ายาลดความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกไม่ว่าจะเป็นที่กระดูกสันหลังหรือกระดูกสะโพก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานแบบที่ 2 แม้อยู่ในวัยสาว
⚠️ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดกลุ่มโพรเจสติน (progestins)
ตัวอย่างยา เช่น เมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต (medroxyprogesterone acetate) ใช้เป็นยาฉีดคุมกำเนิด หรือรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
การใช้ยาในกลุ่มโพรเจสตินเป็นเวลานานโดยลำพัง
(ไม่ได้ผสมร่วมกับยาในกลุ่มเอสโตรเจน)
อาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อย
⚠️ยาเคมีบำบัดกลุ่มที่ลดการสร้าง การหลั่ง หรือการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศ
ยายับยั้งอะโรมาเตส (aromatase inhibitors)
ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดที่พบตัวรับเอสโตรเจนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
ตัวอย่างยา เช่น เลโทรโซล (letrozole),
อะแนสโทรโซล (anastrozole),
เอ็กเซเมสเทน (exemestane)
อะโรมาเตสเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนฮอร์โมนพวกเอนโดรเจนไปเป็นฮอร์โมนพวกเอสโตรเจน เช่น เปลี่ยนเทสโทสเตอโรนเป็นเอสตราไอออล การยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวจึงลดปริมาณเอสโตรเจน ทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลง
⚠️ยาลดการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพศ
ชนิดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ (ตัวรับของ gonadotropin-releasing hormone ที่ต่อมใต้สมองส่วนหน้า) ตัวอย่างยา เช่น ลิวโพรเรลิน (leuprorelin) หรือลิวโพรไลด์ (leuprolide), โกเซอเรลิน (goserelin)
⚠️และชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับดังกล่าว (คือกลุ่ม gonadotropin-releasing hormone antagonists) ตัวอย่างยา เช่น แกเนอเรลิก (ganirelix), เดกาเรลิก (degarelix) ในผู้ชายยาเหล่านี้ใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในผู้หญิงใช้รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (polycystic ovary syndromes), โรคมะเร็งเต้านม, โรคเนื้องอกมดลูก เป็นต้น
⚠️ยาต้านแอนโดรเจน (anti-androgens)
ตัวอย่างยา เช่น ฟลูทาไมด์ (flutamide),
ไบคาลูทาไมด์ (bicalutamide) ใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์แย่งจับที่ตัวรับของเทสโทสเตอโรน (ซึ่งเป็นแอนโดรเจน)
จึงให้ขัดขวางการออกฤทธิ์ของเทสโทสเตอโรน
ตรงเนื้อเยื่อที่มีตัวรับดังกล่าวรวมถึงที่กระดูก
⚠️ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants)
ตัวอย่างยา เช่น เฮพาริน (heparin), วาร์ฟาริน (warfarin)
การใช้เป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลง
และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้แม้ในคนหนุ่มสาว
⚠️ยากดภูมิคุ้มกันกลุ่มที่ยับยั้งแคลซินิวริน (calcineurin inhibitors)
ตัวอย่างยา เช่น ไซโคลสปอรีน (cyclosporine),
ทาโครลิมัส (tacrolimus)
การใช้ยาเหล่านี้ในขนาดสูงและใช้เป็นเวลานาน
เช่นการใช้ไซโคลสปอรีนนานกว่า 2 ปี ทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงได้
⚠️ยาอื่น เช่น เมโทเทรกเซต (methotrexate), ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) ซึ่งยาสองชนิดนี้เป็นยากดภูมิคุ้มกันและใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด, ไอฟอสฟาไมด์ (ifosfamide) ใช้รักษาโรคมะเร็ง,
ยาไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น เลโวไทรอกซิน (levothyroxine) ใช้ในรายที่ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
การใช้ยาเหล่านี้ในขนาดสูงเป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงได้
👨🏫เมื่อต้องใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนและคาดว่าจะใช้ยาเป็นเวลานาน มีข้อแนะนำดังนี้
⏺️ก่อนเริ่มใช้ยาควรได้รับการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักด้วยเครื่องมือ “แฟร็กซ์ (FRAX®)” หรือเครื่องมือที่ใช้รังสีเอ็กซ์ 2 พลังงาน (DXA) และติดตามการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงที่ใช้ยา
⏺️ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์แรงในการชักนำการสร้างเอนไซม์กลุ่มไซโตโครมพี 450 เช่น ยาต้านชักบางชนิด ควรได้รับการวัดระดับวิตามินดี และวัดทุก 6-12 เดือนในช่วงที่ใช้ยา เพื่อมั่นใจว่ามีระดับวิตามินดีที่เพียงพอ
⏺️อาจมีการเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่มีผลเสียน้อยหรือไม่มีผลเสียต่อกระดูก หรือได้รับยาป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนที่เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาเป็นผู้พิจารณาแล้วแต่กรณีตามความเหมาะสม ยาหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนสามารถนำมาใช้ในการป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนที่เกิดจากยาได้
การกินแคลเซียม วิตะมินดี ร่วมกับยาต้านกระดูกพรุนกลุ่ม bisphosphonates อาทิเช่น alendronate (Fosamax), risedronate (Actonel) โดยกินห่างจากแคลเซียมอย่างน้อย30นาที
ส่วนยา ibandronate (Boniva) ซึ่งกินเดือนละครั้ง จะต้องกินห่างจากแคลเซียมอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
⏺️กินอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนอย่างเพียงพอ ออกกำลังและได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น การบุหรี่ การดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำ
แม้ยาจะทำให้เกิดผลเสียต่อกระดูกจนนำไปสู่โรคกระดูกพรุนและเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยาเพื่อรักษาความเจ็บป่วยมีมากกว่าความเสี่ยงเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรหยุดใช้ยาเองหรือกลัวจนไม่ยอมใช้ยา
😀มีปัญหาเรื่องยา เชิญปรึกษาเภสัชกรประจำร้านยา
.
.
💢
http://www.prachanath.su.ac.th/DIS/npt_ptm/article/articleshow.php?article_id=20
https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0548.pdf
https://www.pharmacytimes.com/view/2007-03-6313
.
ภาพจาก
https://www.researchgate.net/publication/41969020_Hofbauer_LC_Hamann_C_Ebeling_PR_Approach_to_the_patient_with_secondary_osteoporosis
POSTED 2022.06.16
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย