17 มิ.ย. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมยุโรป ยังจ่ายเงินล้านล้านบาท ให้กับรัสเซีย
1
แม้สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย จะดำเนินมามากกว่า 100 วันแล้ว แต่สหภาพยุโรปนั้นยังคงเดินหน้าซื้อพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียไปแล้วเกินกว่า 2 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่สงครามได้เริ่มต้นขึ้น
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ประเทศในสหภาพยุโรปจะมีการถล่มออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจำนวนมาก
แต่ในทางปฏิบัตินั้น ต้องบอกว่ารัสเซียยังคงมีรายได้มหาศาล จากการค้าขายกับสหภาพยุโรปอยู่ดี
1
แล้วมันเป็นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียมากที่สุด ก็คือ เนเธอร์แลนด์
ซึ่งก็ได้มีการรายงานว่าบริษัทน้ำมันชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศแห่งนี้ ได้นำน้ำมันจากรัสเซียไปผสม
โดยอาศัยช่องโหว่ของมาตรการคว่ำบาตร เพื่อตีตราใหม่ออกจำหน่ายต่อ
นอกจากน้ำมันดิบแล้ว อีกสิ่งที่ยังคงสร้างรายได้ให้กับรัสเซียมากที่สุด ก็คือ “แก๊สธรรมชาติ”
ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักราคาถูกที่สำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจหลักของยุโรปให้เดินหน้ามายาวนานหลายสิบปี
ทีนี้เรามาดูกันว่า ทำไมยุโรปถึงยังยอมที่จะจ่ายเงินจำนวนมหาศาล เพื่อซื้อพลังงานจากรัสเซียในทุก ๆ วัน
2
1. การเลิกใช้ระบบพลังงานแบบเดิม ไม่สามารถทำได้ในทันที
เนื่องจากระบบพลังงานนั้น คือหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศ
ที่มีการวางรากฐานกันมาอย่างยาวนาน และมีความซับซ้อน
โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ถูกใช้เป็นพื้นฐานของทุกภาคส่วน
ตั้งแต่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และภาคประชาชน
ทำให้แหล่งพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ นั้น ไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้
2
และการจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ที่ต้องใช้เวลา และเงินทุนมหาศาล รวมถึงความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
3
2. ต้นทุนที่แพงมากกว่าตัวเงิน
ต้นทุนของการยกเลิกการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียโดยทันที
เพื่อคว่ำบาตรแบบเบ็ดเสร็จนั้น ยังแพงเกินกว่าที่หลายประเทศจะรับได้
1
เพราะการยกเลิกการนำเข้าแบบฉับพลันนั้น จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “Supply Shock” จากการขาดแคลนพลังงาน และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นภายในประเทศ
1
จนส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก หรืออาจถึงขั้นล้มเหลวได้
ซึ่งถือเป็นการเดิมพันกับความมั่งคั่ง ความมั่นคง และปากท้องของประชาชนทั้งประเทศเลยทีเดียว
1
3. หลายประเทศนั้นไม่ได้มองตัวเองเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของรัสเซีย
1
อีกประเด็นที่ถือว่าน่าสนใจมากก็คือ ถึงแม้ว่าสมาชิกกลุ่ม NATO และสหภาพยุโรป จะมีขนาดที่ใหญ่มาก แต่ว่าประเทศที่มองว่าตนเองเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของรัสเซียนั้น มีเพียงไม่กี่ประเทศ
ซึ่งเราก็จะได้เห็นกันว่าประเทศที่ยังคงกระตือรือร้น ในการแสดงการต่อต้านการรุกรานของรัสเซียอย่างแข็งขัน ก็จะมีกลุ่มของประเทศที่มีพรมแดนใกล้ชิดกับรัสเซียอย่าง สวีเดน ฟินแลนด์ โปแลนด์ และลิทัวเนีย
กับคู่ขัดแย้งโดยตรงของรัสเซีย อย่างสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรใกล้ชิดอย่าง อังกฤษ และออสเตรเลีย
ในขณะที่อีกหลายประเทศนั้นมองว่าตัวเองอยู่ในสถานะตรงกลางของขั้วอำนาจในโลก ที่พึ่งพิงและได้รับประโยชน์จากทุกฝ่าย รวมถึงจากรัสเซียด้วย
ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งจนเกินพอดี
โดยที่ประชาชนของตัวเอง บางทีอาจจะต้องลำบากกว่าคู่ขัดแย้งเองเสียอีก
2
มาถึงตรงนี้เราก็คงพอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมประเทศในสหภาพยุโรปยังคงจ่ายเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อวัน หรือมูลค่ารวมหลักล้านล้านบาท ในช่วงระหว่างสงคราม เพื่อซื้อพลังงานจากรัสเซีย
แต่ก็คงต้องบอกว่าเงินเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปหล่อเลี้ยง และอัดฉีดให้กับการทำสงครามของประเทศรัสเซีย
นับจนถึงวันนี้ เราก็ยังคงตอบได้ยากว่า จุดจบของสงครามในครั้งนี้จะเป็นแบบไหน
แต่คนที่ได้รับผลกระทบ ก็คงหนีไม่พ้นทุกคนที่ต้องจ่ายค่าพลังงานแพงขึ้น จนทำให้เกิดวิกฤติเงินเฟ้อ วิกฤติอาหาร และที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นการสูญเสียชีวิตในสงครามของทั้งยูเครนและรัสเซียเอง..
2
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา