17 มิ.ย. 2022 เวลา 13:02 • ประวัติศาสตร์
บ่ายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ วันนั้นไม่ติดภารกิจอะไร เลยตัดสินใจไปเดินทอดน่องตากแอร์กินไอติมอยู่ที่เจเจมอลล์
ท่ามกลางร้านรวงมากมายที่เรียงรายอยู่นับร้อย มีร้านขายของเก่าอยู่ร้านหนึ่งซึ่งมีของน่าสนใจหลากหลายทั้งข้าวของเครื่องใช้กระจุกกระจิก ตู้ ตั่ง โต๊ะ ภาพวาด ภาพถ่าย อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แต่ที่สะดุดตาเรามากที่สุดกลับเป็นของที่ดูแสนจะธรรมดาไม่ได้ใหญ่โตวิบวับวิเศษวิโส แถมยังถูกวางพิงๆ ไว้บนพื้น
ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็ไม่น่าจะมีสิทธิ์เห็น ของที่ว่าเป็นรูปถ่ายเก่าสีขาวดำ แปะอยู่บนกระดาษแข็งขนาดประมาณ A4 ที่ดูเหมือนผ่านกาลเวลามายาวนานจนมีสีออกเหลืองเรื่อๆ เหมือนเปลือกไข่
ในภาพเป็นฝรั่งรุ่นใหญ่วัยกลางคนไว้หนวดเครายาวหยิกหยอย สวมหมวก ใส่เสื้อโค้ต ถือไม้เท้า แอ็กท่าเบนหน้าหนีกล้องหน่อยๆแบบรู้มุม ดูชิลๆ สบายๆ ไม่มีอารมณ์ของความเขินอายอยู่เลยซักกะติ๊ด
.
พอลองเลียบๆ เคียงๆ ถามดู เจ้าของร้านเองก็ไม่รู้ว่านี่คือรูปถ่ายใคร ทั้งๆ ที่บนรูปมีลายเซ็นเขียนเอาไว้อยู่ทนโท่ ส่วนเราก็คลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับว่าเคยเห็นฝรั่งหน้าตาประมาณนี้กับลายมือแบบนี้ที่ไหนแต่ก็ไม่แน่ใจ ต่างคนต่างงงจนในที่สุดเราเลยได้รูปถ่ายที่ว่าใส่ถุงก๊อบแก๊บถือกลับบ้านหลังจากเสียสตางค์ไปให้เจ้าของร้านในราคาหลักพัน
จำได้แม่นว่าวันนั้นก่อนกลับแวะกินอาหารอีสานที่ร้านใกล้บ้าน แต่ด้วยความฉงนสงสัยขั้นสุดเราเลยถือรูปลงจากรถไปพินิจพิจารณาด้วย ขณะที่กำลังโซ้ยส้มตำอย่างเมามัน มือหนึ่งก็ถือปุ้นข้าวเหนียว ส่วนอีกมือก็กดโทรศัพท์มือถือเสิร์ชกูเกิ้ลหาข้อมูลดู ผลที่ได้ทำเอาเราแทบสำลักริ้วมะละกอ เพราะปรากฏว่ารูปถ่ายและลายเซ็นดันไปตรงเผงกับของจิตรกรชื่อดังสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่มีชื่อว่า คาโรลุส-ดูรอง
.
คาโรลุส-ดูรอง หรือชื่อเต็มๆว่า ชาร์ลส์ เอมีล ออกุสต์ คาโรลุส-ดูรอง (Charles Emile Auguste Carolus-Duran) นั้นเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วถึงฝีไม้ลายมือในการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคเฉพาะตัวอันแพรวพราว
และแล้วในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2450 โชคชะตาก็พาให้คาโรลุส-ดูรองมามีชื่อโชว์หราอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์แห่งกรุงสยาม เมื่อเขาถูกคัดเลือกให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากพระองค์จริงด้วยสีน้ำมัน
โดยครั้งนั้น คาโรลุส-ดูรองได้เริ่มวาดภาพพระองค์ท่านขณะที่เสด็จฯ มาประทับอยู่ ณ เมือง ซานเรโม (San Remo) ประเทศอิตาลี ก่อนจะหอบเฟรมกลับไปเติมรายละเอียดอีกเดือนเศษที่สตูดิโอของเขาเองในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
และในที่สุดพระบรมสาทิสลักษณ์ที่เสร็จสมบูรณ์ก็ถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลกลายเป็นสมบัติอันประเมินค่ามิได้มาประดับพระราชวังในเมืองไทย
เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงส่งมาถึงเจ้าฟ้านิภานพดล ซึ่งเป็นทั้งพระราชธิดา และเลขานุการิณี ซึ่งในที่สุดพระราชหัตถเลขาทั้งหมดรวม 43 ฉบับที่เล่าถึงพระราชกรณียกิจ และแนวพระราชวินิจฉัยขณะที่ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลา 225 วัน นั้นได้มีพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ในชื่อ ‘ไกลบ้าน’
เพื่อวางขายแบบเป็นตอนๆ ในงานไหว้พระประจำปีของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2450
และหลังจากนั้นก็มีการจัดพิมพ์ ‘ไกลบ้าน’ ขึ้นมาอีกหลายครั้งจนกลายเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ยอดฮิตเพราะพระองค์ท่านทรงเล่าไว้อย่างละเอียดลออจนคนอ่านรู้สึกเพลิดเพลินราวกับได้ตามเสด็จฯ ไปด้วย
.
กลับมาที่รูปถ่ายฝรั่งปริศนาที่ตอนนี้รู้แล้วว่าเป็นรูปคาโรลุส-ดูรอง จิตรกรใหญ่ แต่ที่ยังสงสัยคือรูปถ่ายฝรั่งซึ่งถึงจะดังเปรี้ยงปร้างในยุโรปยุคนั้น แต่คนบ้านเราคงไม่รู้จัก นั้นจับพลัดจับผลูตกมาอยู่ในเมืองไทยได้ยังไง เบาะแสเพิ่มเติมที่มีคือบริเวณใต้ลายเซ็นที่ตวัดสดด้วยปากกา คาโรลุส-ดูรอง ได้เขียนวันเดือนปีเอาไว้ด้วยว่า 20 June 1907 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2450
เอาล่ะสิ คุ้นๆ ไหม ถ้าจำกันได้ 2450 นี้คือปีเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปพอดี ซึ่งพระราชหัตถเลขาชุด ไกลบ้าน ก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นด้วย คืนนั้นกลับมาบ้านเลยไม่พูดพร่ำทำเพลง รีบควานเอาหนังสือพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน เล่มหนาเตอะน้องๆ สมุดโทรศัพท์มาพลิกหาหน้าของวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงบันทึกไว้ว่า
.
“ฉบับที่ 24 คืนที่ 86 วันพฤหัสบดี ที่ 20 มิถุนายน……ไปที่สตูเดียวมองสิเออคาโรลัสดูรัง แกช่างอยู่ไกลเสียลิบลับ ไปถนนใหญ่แล้วถึงถนนเล็กๆ เข้า ยังต้องไปเข้าในถนนที่มีรั้วกั้นอีกจึงถึงที่อยู่ ที่จริงมันก็เปนการจำเปน เพราะจะอยู่ในเมืองที่เสียงรถม้าลั่นก้องอยู่ แกไม่มีสมาธิ จึงได้ออกไปอยู่เสียห่าง ตามแถบที่อยู่นั้น มีขายเครื่องเขียนน้ำยาแลพู่กันต่างๆ เปนที่ช่างเขียนเขาอยู่กัน แต่กระไดขึ้นอยู่ข้างลำบาก
สตูเดียวมีสองห้อง ที่จริงดูออกจะร้างๆ สู้ของตาเยลลีไม่ได้ นั่นของแกสนุกแลสอาดอยู่ข้างจะทิ้งรกๆ ห้องนอกที่ตั้งรูปไว้ค่อยยังชั่ว แต่ห้องในยิ่งรกหนักขึ้น แต่ขาดอ้ายนาฬิกาซึ่งหน้าตาเหมือนทำด้วยตกั่วที่เคยมีในวังนั้นไม่ได้ ต้องมีอันหนึ่งเหมือนกัน รูปครึ่งตัวหน้าดีกว่าเต็มตัวถ้าเวลาแลดูใกล้ดูไม่เหมือน ออกมาไกลดีขึ้น ถ้ายิ่งดูในกระจกเงาอีกด้านหนึ่งยิ่งเหมือนมาก
เปรสิเดนต์ได้สรรเสริญมองสิเออดุรังมาก ว่าเปนช่างอย่างสูงวิเศษ ที่ได้เลือกให้เขียนนั้นถูก ความจริงเขาเขียนด้วยความกล้าเปนอันมาก ตั้งใจจะอวดฝีมือ ว่าช่างเขียนผู้อื่นจะทำได้โดยยาก ฤๅทำไม่ได้ทีเดียว
เพราะเลือกเอาสีเหลืองหมดทั้งแผ่น ดาดหลังก็ใช้กำมหยี่เหลืองพื้นก็ใช้เหลือง เครื่องแต่งตัวเสื้อครุยก็เปนสีเหลือง สายตพายแลตราทั้งปวงก็เปนสีเหลือง ผิวหน้าก็เหลือง เสื้อขาวก็เปนลักษณเหลือง คงที่ตัดสีอยู่แต่กางเกงดำกับสีแดงที่หัวไหล่เท่านั้น แกอยากจะอวดเขามาก จึงขออนุญาตที่จะเอาไปตั้งในสะลองสัก 7 วัน
พ่อก็ยอม รูปที่เขาเขียนๆ ไว้ มีแผ่นโตๆ เท่ารูปหมู่ที่ห้องไปรเวตพระที่นั่งจักรีหลายแผ่น มีเทวดาน้ำองุ่นแผ่นหนึ่ง เขียนดีมาก มีคนกว่าสิบคน ตั้งราคาสองพันปอนด์แฟมะลีของแกเองมากคนด้วยกัน รวมทั้งตัวเองด้วยก็มี มีรูปการิเกชั่วแผ่นหนึ่ง ซึ่งเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสเขียนเมื่อเวลาเขาเขียนรูปพระมเหษี เขาให้รูปของเขาเองสองรูป ออกจากบ้านมองสิเออดุรัง……”
.
‘เขาให้รูปของเขาเองสองรูป’ ประโยคนี้ทำให้อึ้งไปพักใหญ่ ก่อนจะหลุดจากภวังค์ตั้งสติได้ ก็พลันพนมมือไหว้รูปถ่ายฝรั่งที่วางอยู่ตรงหน้า ไม่ได้จะไหว้ดูรองนะ แต่เพราะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของบุคคลที่เคยสัมผัสรูปนี้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วต่างหากล่ะ 😊
.
.
หลงเลนส์ "รูปคาโรลุส-ดูรอง ที่ต้องกราบ" โดย ตัวแน่น 🙂
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับเป็นแบบให้คาโรลุส-ดูรอง วาดพระบรมาทิสลักษณ์ (ภาพจากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2936611406638249&id=1850405861925481
โฆษณา