20 มิ.ย. 2022 เวลา 01:39 • หนังสือ
หนังสือ : ดั่งใจปรารถนา
จำนวนหน้า : 352
ผู้เขียน : ซูซานนา ตามาโร
ผู้แปล : สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์
หากชีวิตปัจจุบันของเราเปรียบดั่ง "รอยแผล" ที่เป็นมรดกตกทอดกันมาจากอดีต ชีวิตของเราจะต้องดำเนินต่อไปอย่างนี้ ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ ..จริงหรือ?
ดั่งใจปรารถนา เป็นวรรณกรรมในทำเนียบหนังสืออมตะของอิตาลี ที่ต่างไปจากเรื่องอื่น เพราะผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่
เมื่อเราพูดถึงเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และคนชราใครจะกล้าปฏิเสธได้เล่า ว่าคนเหล่านี้ในโลก ในแต่ละทวีป มีหัวใจต่างกัน!
เนื้อเรื่องแสดงความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งเกลียดของยาย - แม่ - หลาน เสน่ห์ของนิยายเรื่องนี้คือความลุ่มลึก ของหญิงชราผู้ผ่านร้อนผ่านหนาว จนแทบไม่เชื่อว่าผู้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครผู้รู้โลกและชีวิต อายุเพียง 35 เมื่อเริ่มเขียน
ผู้เขียนใช้การเปรียบเปรยที่ลุ่มลึกสะเทือนอารมณ์ กระชับแต่จับใจ ใช้ภาษาได้สวยงาม
ปมความขัดแย้งของเรื่องเกิดจากความไม่เข้าใจกันที่สะสมมานานตั้งแต่รุ่นก่อนหน้า ด้วยช่องว่างที่มากเกินจะทำให้ยายหลานหันหน้าเข้าหากันได้
หลานสาว(ปิเอโตร) จึงตัดสินใจไปเรียนภาษาที่อเมริกา ปล่อยให้ยาย(โอปีชีนา) อยู่กับเจ้าบุ๊คสุนัขพิการขี้เหร่เพียงลำพัง
หลังจากที่ผ่านไปได้สองเดือน สุขภาพของยายแย่ลงจนอาจอยู่ได้อีกไม่นาน ด้วยสัญญาที่มีต่อกันว่าจะไม่ส่งจดหมายหากัน
ยายจึงเขียนบันทึกขึ้นมา เพื่อให้บันทึกเป็นตัวแทนของยายเมื่อวันที่หลานกลับมาโดยไม่มียายอีกแล้ว!
บันทึกที่บอกเล่าเรื่องราวความในใจทั้งหมดของต้นเหตุแห่งความไม่เข้าใจเพื่อให้หลานเข้าใจ และเป็นการสอนการใช้ชีวิตจากเรื่องราวของยายที่ผ่านมา โดยบันทึกเริ่ม 16 พฤศจิกายน - 22 ธันวาคม ค.ศ.1992
แก่นของเรื่องว่าด้วย.. "การ(ใช้สติ)ฟังเสียงของหัวใจ"
หนังสือปิดประเด็นด้วย "คำสอนของยาย" ที่ทิ้งไว้ให้หลานสาวประโยคนี้...
"แล้วเมื่อใดก็ตามที่เบื้องหน้าปรากฏเส้นทางหลายสาย และหนูไม่รู้จะเลือกทางสายใด อย่าก้าวเดินไปส่งๆ แต่จงนั่งลงรอคอย หายใจเข้าลึกๆ อย่างมั่นใจ เหมือนที่หนูได้หายใจในวันแรกเมื่อลืมตาดูโลกนี้ อย่าวอกแวกไปกับสิ่งใดเป็นอันขาด จงรอ แล้วก็รออยู่นิ่งๆ อย่างสงบแล้วคอยเงี่ยฟังเสียงหัวใจของหนู ถ้ามันพูดกับหนูเมื่อใด เมื่อนั้นแหละ จงลุกขึ้น แล้วก้าวไปตามที่หัวใจนำทาง "ดั่งใจปรารถนา" (หน้า 325 - 326)
หนังสือพาผู้อ่านค่อยๆ ลงลึกลงไป จนเห็นว่า "แรงจูงใจ" อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่ง แสดงความเกลียดคนที่สมควรเป็นที่รักออกมา แต่ละคนทำความรัก และความสัมพันธ์ที่มีให้กันหล่นหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่!
สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบในนิยายเรื่องนี้คือ..
"เมื่อหนูโตขึ้น ทุกครั้งที่อยากเปลี่ยนจากสิ่งผิดเป็นสิ่งชอบ จงจำไว้ว่า การปฏิวัตินั้น อย่างแรกที่ต้องทำคือ ปฏิวัติภายในตัวเอง เป็นสิ่งแรกและสำคัญที่สุด การต่อสู้เพื่อความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่รู้ตักตนเองนั้นเป็นอันตรายที่สุดประการหนึ่งซึ่งมนุษย์ไม่ควรทำ(หน้า 325)
.
คุณยายแสดงความเห็นถึง การจะตัดวงจรการส่งต่อมรดกแห่งบาดแผลและความปวดร้าวในจิตใจว่า.. ต้องมีใครซักคนลุกขึ้นมา "ก่อกบฏ" และทำการ "ปฏิวัติ" ด้วยการรู้จักตัวเอง
รู้ว่าเราเป็นใคร? หน้าที่ของเราคืออะไร?
"การปฏิวัติภายในตัวเอง" ..คือการเข้าใจตัวเอง เปิดใจรับ ใช้ความกล้าหาญยอมรับในความผิดของตัวเอง รับผิดชอบตัวเองแต่เพียงผู้เดียว เพื่อตัดวงจรในการส่งต่อบาดแผลนั้นไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป
และการหยุดฟังเสียงของหัวใจ(ด้วยสติ) ในวันที่เราไม่รู้จะเลือกเส้นทางสายใด
"ความเข้าใจตัวเอง เกิดจากความพร้อมที่จะเปิดใจรับ เกิดจากความสามารถเปลี่ยนทิศทางได้ทุกชั่วขณะ ลอกคราบเก่าออกเหมือนกิ้งก่ายามเปลี่ยนฤดู" (หน้า 282)
.
หลายคนอาจมองว่าชีวิตมีทางเดินทางเดียวเมื่อเลือกเดินทางไหนแล้วก็ต้องไปในเส้นทางนั้นจนสุดทางแต่ เปล่าเลยเราเปลี่ยนทิศทางได้เสมอด้วย #การเปลี่ยนแปลงตัวเอง
"เวลาที่เราไม่อยากย้อนดูตัวเองนั้น วิธีง่ายที่สุดในโลกก็คือ หันไปโทษคนอื่น ผู้อื่นนั้นมีความผิดตลอดเวลา แต่การจะยอมรับว่าตัวเราเองผิดนั้น เราต้องใช้ความกล้าหาญมากทีเดียว หรือจะพูดให้ถูกก็คือ ตัวเราเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพราะอย่างที่บอกหนูแล้วว่า นี่คือวิธีเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ถ้าชีวิตคือเส้นทางเดิน ก็เป็นทางเดินซึ่งชันขึ้นเสมอ" (หน้า 283)
.
ความกล้าหาญในการรับผิดชอบตัวเองแต่เพียงผู้เดียว คือการทบทวนตัวเอง การทบทวนข้อบกพร่องของตัวเราเองโดยเฉพาะระหว่างเรากับอัลลอฮฺ
"ทุกข์เท่านั้นที่จะทำให้เราเติบโตขึ้น"
แต่ความทุกข์นั้นเราต้องเผชิญหน้ากับมันตรงๆ ใครเลี่ยงหรือใครมัวสงสารตัวเองผู้นั้นก็แพ้" (หน้า 291)
.
ยิ่งกล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์ หรืออดทนต่อบททดสอบมากเท่าไหร่ ชีวิตยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่านั้น
หากชีวิตปัจจุบันของเราเปรียบดั่ง "รอยแผล" ที่เป็นมรดกตกทอดกันมาจากอดีต ชีวิตของเราจะต้องดำเนินต่อไปอย่างนี้ ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ ..จริงหรือ?
มีแต่ผู้ก่อ "กบฏ" และ "ปฏิวัติ(ภายในตนเอง)" เท่านั้นที่จะหลุดออกจากวงจรนี้ได้ ..จริงมั้ย?
ยิ่งกลับเข้ามาในแนวทางของอัลลอฮฺ(การใช้สติ) และเชื่อมั่นในพระองค์มากเท่าไหร่ เสียงของหัวใจที่นำทาง ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้นเท่านั้น
อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับท่าน แม้ว่าท่านอาจจะยังมองไม่เห็นมันก็ตาม บางครั้งสิ่งที่ยากลำบากที่สุดจะมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดให้กับเราก็เป็นได้ ดังนั้นจงเชื่อมั่นในอัลลอฮฺเถิด ชัยคฺ ซัลมาน อัล
ชัยคฺ ซัลมาน อัลเอาดะฮฺ
โฆษณา