Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลือชัย พิศจำรูญ
•
ติดตาม
21 มิ.ย. 2022 เวลา 05:45 • ประวัติศาสตร์
“ยายสำอาง เลิศถวิล” วณิพกเพลงขอทานคนสุดท้าย นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ “แอ๊ด คาราบาว” แต่งสองบทเพลงเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวตำนานเพลงเพื่อชีวิต เมื่อประมาณปี พ.ศ.2525-2527 นับเป็นเพลงดังในอดีตที่ฟังติดหูจนร้องกันได้ทั้งบ้านทั้งเมือง นั่นคือเพลง “วณิพก” และ “ยายสำอาง
“ยายสำอาง เลิศถวิล” เป็นชาวตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พ่อเป็นคนจีน เมื่อแรกคลอดออกมาเป็นลูกสาว ด้วยธรรมเนียมจีนที่ต้องการลูกชายจึงไม่เป็นที่ชอบใจของผู้เป็นพ่อ ประกอบกับแรกเกิดมาไม่ค่อยแข็งแรงนัก พ่อและแม่จึงนำไปวางทิ้งไว้ที่ศาลาวัดบางน้อย เดชะบุญที่มีวณิพก
สองคนผัวเมียผ่านมาพบเข้า จึงนำไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม
พ่อแม่บุญธรรมนั้นเป็นวณิพกยากจนแต่ไม่จนน้ำใจ ได้พาเด็กน้อยออกร่อนเร่พเนจรร้องเพลงขอทานเรื่อยไป แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่ออายุได้สี่ขวบเด็กน้อยก็ตาบอดสนิทลงทั้งสองข้าง เนื่องจากตาเป็นเกล็ดกระดี่และมีอาการเจ็บตาเรื่อยมาโดยไม่ได้หาหมอรักษา จนกระทั่งตาบอดสนิทมองไม่เห็นในที่สุด
“เพลงขอทาน” ที่ได้ยินได้ฟังมาแต่เล็กแต่น้อยถูกซึมซับหลอมจนเป็นจิตวิญญาณของศิลปินโดยแท้จริง ยายสำอางจึงสามารถขับร้องเพลงขอทานเป็นสัมมาชีพได้อย่างเชี่ยวชาญ ถึงแม้จะไม่เคยได้รับการศึกษาระดับสูง แต่ปริญญาชีวิตนั้นมีไม่แพ้ใคร
เราลองนึกภาพตาม... ในสมัยก่อนยังไม่มีช่องทางโซเชียล โทรทัศน์และวิทยุยังเป็นของที่มิใช่ทุกบ้านจะซื้อหามาได้โดยง่าย โรงหนังโรงละครยิ่งแล้วใหญ่ไม่
ต้องพูดถึง นานทีปีหนจึงจะมีงานบุญจัดมหรสพมาให้ความบันเทิงกันสักครั้ง จึงเกิดวณิพกเที่ยวร่อนเร่พเนจรไปทุกถิ่นที่ ขับกล่อมเพลงแก่ชาวบ้านให้ได้รื่นเริงใจ แลกเงินแลกอาหารเพื่อประทังยังชีพ
“วณิพกเพลงขอทาน” นั้นจะแตกต่างจากเพลงลูกทุ่งหรือลูกกรุงที่วณิพกทั่วไปนำมาร้องกัน นับว่าเพลงขอทานเป็นศิลปะเพลงพื้นบ้านซึ่งมีมาแต่ครั้งโบราณเลยทีเดียว
“เพลงขอทาน” หมายถึง เพลงพื้นบ้านภาคกลางชนิดหนึ่ง อย่างเพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเรือ แต่มีท่วงทำนองเป็นของตนเอง มักขับร้องเล่าเรื่องราวเป็นตอนๆ ในนิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน หรือวรรณคดีไทย ความยาวแล้วแต่เรื่องที่จะร้อง เช่น พระรถเมรี ขุนช้างขุนแผน จันทโครพ ฯลฯ โดยผู้ร้องหรือลูกคู่จะตีกรับ โหม่ง โทน ฉิ่ง หรือฉาบ เพื่อประกอบการเข้าจังหวะตามแต่ถนัด บางครั้งก็มีลูกคู่ร้องรับกันหลายคนด้วย
แม้จะผ่านความทุกข์ยากลำเค็ญแค่ไหนในสายตาของคนทั่วไป แต่นั่นไม่ใช่ตัวชี้วัดดัชนีความสุขของยายสำอาง แกไม่ค่อยวิตกทุกข์ร้อนต่อชะตาชีวิตที่พลิกผัน ทั้งยังเป็นคนอารมณ์ดี ร่ำรวยอารมณ์ขัน ตลกสนุกสนาน เข้ากับคนง่าย คำพูดจาฉะฉานคล่องแคล่ว และมีไหวพริบปฏิภาณว่องไว แม้จะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือก็ตาม
...จึงไม่แปลกใจที่ยายสำอางจะมีลูกเล่นแพรวพราวขณะยังเป็นวณิพกพเนจรขับร้องเพลงขอทานเลี้ยงชีพ ด้วยความสามารถและเสียงก้องกังวานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อถึงเนื้อเรื่องตอนสนุกสนานก็ร้องล้อไปกับเสียงโทนและฉิ่งได้อย่างครึกครื้น และเมื่อถึงคราวต้องเศร้าก็ขับกล่อมได้โศกสลดชนิดสะกดจิตกระชากใจคนดูเลยทีเดียว ถ้าเป็นสมัยนี้คิดว่าน่าจะมีแฟนคลับติดตามเยอะแน่ๆ
ยายสำอางเคยมีสามีมาก่อนสองคน แต่ตายจากกันไปเสียทั้งคู่ จนมาอยู่กับสามีคนที่สาม อายุ 80 กว่าปี ชื่อว่า ตาผาด (บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ.2527 คาดว่าเสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน) ซึ่งถือว่าตาผาดเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของยายสำอาง เป็นเสมือนดวงตาคอยมองทาง จูงไม้จูงมือเวลาไปไหนมาไหนโดยไม่เดือดร้อนนัก
ยายสำอางเป็นวณิพกเพลงขอทานเที่ยวร่อนเร่พเนจรไปตามที่ต่างๆ หลายสิบปี
จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2525 แกได้มาขับร้องเพลงขอทานอยู่แถวหน้าบ้านของ “อาจารย์อภัย นาคคง” ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่เพาะช่าง จนต่อมาเรื่องราวของยายสำอางรู้ถึง “คุณเอนก นาวิกมูล” จึงได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพและบทความเรื่อง ชีวิตวณิพก ในหนังสือ อยู่อย่างชาวสยาม จากนั้น “แอ๊ด คาราบาว” ได้นำเรื่องราวชีวิตไปแต่งบทเพลง “วณิพก” และ “ยายสำอาง” จนโด่งดัง
หลังจากนั้นยายสำอางก็ได้รับความช่วยเหลือ โดยได้พาไปโชว์การขับร้องเพลงขอทานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ และออกรายการโทรทัศน์ต่างๆ หลายช่องในสมัยนั้น ทำให้คนทั่วไปได้รู้จัก “เพลงขอทาน”
(คลิปวิดีโอ เพลงขอทาน เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยวณิพกเพลงขอทาน ยายสำอางค์ เลิศถวิล)
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งยายสำอางเคยถูกกรมประชาสงเคราะห์พาไปดูแลให้เป็นอยู่
สุขสบาย การได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไปวันๆ ทำให้แกรู้สึกอึดอัดใจเป็นที่สุด จึงขอออกมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอยู่ที่ชุมชนข้างวัดบางแวก สุดซอยพาณิชยการธนบุรี (ซอยจรัลสนิทวงศ์ 13)
ถึงแม้ขณะนั้นยายสำอางจะเข้าสู่วัยชราเจ็ดสิบกว่าปี ไม่ได้หาเลี้ยงชีพเป็นวณิพกเพลงขอทานแล้ว แต่ทว่าหญิงชราตาบอดสองข้างก็มิเคยงอมืองอเท้า ยังคงสู้ชีวิตต่อไปด้วยการหาเลี้ยงชีพเหลาลำไม้ไผ่ให้เป็น “ไม้เสียบไก่ปิ้ง” มีความชำนิ
ชำนาญคล่องแคล่วชนิดคนตาดีเทียบฝีมือไม่ได้เลยก็แล้วกัน
ยายสำอาง เลิศถวิล เสียชีวิตอย่างสงบในบ้านซอยจรัลสนิทวงศ์ 13 เมื่อปี พ.ศ.2539
ภาพยายสำอาง “ถือมีดปาดตาลคู่ชีวิต” ยังคงเป็นภาพที่จดจำติดตรึงใจแก่ผู้พบเห็น ความกระฉับกระเฉงและมีชีวิตชีวาตลอดชีวิตที่สร้างความสุขแก่คนทั่วไป แสดงถึงความเข้มแข็งของจิตใจที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคความยากลำบากใดๆ
ชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยไม่เบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนทุกข์ใจแก่ผู้อื่น
“มีดวงตาก็ไร้ความหมาย...
หากดวงใจมืดบอด”
ด้วยจิตคารวะ ครูเพลงขอทานพื้นบ้าน “ยายสำอาง เลิศถวิล” วณิพกเพลงขอทานคนสุดท้าย
บันทึกไว้ในความทรงจำ จากลูกหลานคนแม่กลอง 10.07.19 Cr:ลักขณา โภชนา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย