21 มิ.ย. 2022 เวลา 09:21 • หนังสือ
"ปรัชยาไส้"
อันมิใช่ปวงปรัชญาอันหนักอึ้ง
กับกาลครั้งหนึ่งในวันอันประทับใจ...
1
นี่คือหนังสือรวมเรื่องสั้นๆสิ่งละอันพันละน้อยหลากหลายรสในชีวิตประจำวันแบบติดดินของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 ซึ่งถึงแม้กายจะล่วงลับดับหาย แต่ผลงานไม่มีวันตายไปจากใจนักอ่าน
เรื่องราวจากชุด "เหมืองแร่" อันเกริกไกรยังตราตรึงในความทรงจำของเหล่าหนอนหนังสือ และถึงแม้นักอ่านในยุคหลังๆอาจจะสงสัยว่านี่คือใคร แต่บอกได้เลยว่าในยุคก่อนหน้า ชื่อของอาจินต์ ระบือนามทั้งในด้านนักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการใหญ่ และนักคิด นักเขียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย
ผมยังจดจำมิลืมเลือนถึงครั้งหนึ่ง...วันที่ได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปคารวะ ขอคำแนะนำปรึกษา และได้สนทนากับท่าน รวมถึงน้อมรับคำติชมเกี่ยวกับการจัดทำงานหนังสือของท่านเล่มหนึ่งเรื่อง "นางเอกหลังบ้าน" เมื่อนานมาแล้ว ซึ่งท่านได้ให้ความเมตตาสอนสั่งเป็นอย่างดี
ซึ่งจากคำติ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ท่านเอ็นดูและช่วยชี้ทางสว่างให้ จึงรับฟังด้วยความตั้งใจ และถือเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ส่วนจากคำชมก็ทำให้หัวใจคนตัวเล็กๆอย่างผมพองโตและปลาบปลื้ม แต่ต้องไม่ลืมว่าอย่าหลงระเริงกับคำชมเป็นอันขาด เพราะสิ่งนั้นจะทำให้เราไม่สามารถก้าวเดิน และพัฒนาตัวเองให้ไปสู่จุดหมายอันงดงามแท้จริงได้
ผมเลยถือโอกาสเรียกท่านว่า "ลุง" ซึ่งลุงอาจินต์ก็มิได้ถือเนื้อถือตัวแต่อย่างใด และถึงแม้ท่านจะเป็นคนพูดตรง แต่ในความตรงนั้นก็เต็มไปด้วยความจริงใจ ซึ่งผมรู้สึกว่าสัมผัสได้
นั่นคือกาลครั้งหนึ่ง...ในวันอันแสนประทับใจ กับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งในบรรณพิภพไทย
1
สำหรับ ปรัชยาไส้ ฉบับสมบูรณ์ เล่มนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อคิดดีๆมากมาย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี โดยถ้อยคำง่ายๆ ที่ดูธรรมดาๆ แต่มากด้วยพลังเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยการตีความอะไรให้ยุ่งยาก ทุกอย่างตรง ชัด ไม่ซับซ้อน แต่หลายสิ่งหลายอย่างสามารถ "สัมผัส" และ "จับต้อง" ได้จริง
ทุกข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้เกิดจากการที่ผู้ประพันธ์ได้พบปะ พบเห็นความเป็นไปอันหลากหลายของคนในทุกชนชั้นของสังคมในต่างกรรมต่างวาระต่างสถานที่ ไม่ว่าจะตามท้องถนน คลับบาร์ โรงแรม โรงหนัง ร้านเหล้า สถานที่ราชการ ทุ่งนาป่าเขา ฯลฯ
และด้วยสายตาของนักคิด นักเขียน ตลอดจนบรรณาธิการผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการน้ำหมึกมาเป็นเวลายาวนาน จึงได้ค้นพบความเป็น "ปราชญ์" ที่มีอยู่ในตัวตนของผู้คนเหล่านั้น และได้นำมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสืออันมีชีวิตชีวานี้
ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น "ปราชญ์" อันมีชื่อเสียงโด่งดังหรือนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างอันสูงส่ง เพราะผู้ที่เท้าเดินดินกินข้าวแกง แต่รู้จักวิธีขวนขวายในการทำให้ชีวิตของตัวเองอยู่รอดโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสังคม ก็สามารถเป็น "ปราชญ์" ได้เช่นเดียวกัน
แม้ว่าความหมายของ "ปรัชยาไส้" ตามคำอธิบายของผู้ประพันธ์ จะอธิบายว่าเป็นการนำคำว่า "ปรัชญา" กับคำว่า "ยาไส้" มาผสมกัน จนเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้
แต่ความหมายที่แท้จริงมันก็ได้แสดงออกถึงวิถีในการดำเนินชีวิต และได้สะท้อนถึง "ความเสมอภาคทางความคิด" และ "ความเท่าเทียมกัน" ในความเป็นมนุษย์นั่นเอง
1
ศาสตรา สุมาลยศักดิ์/เรื่อง
โฆษณา