23 มิ.ย. 2022 เวลา 05:33 • การศึกษา
เมื่อจู่ๆ เจ้านายก็ไม่อยากจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่โดนปลดออก อ้าว!งานเข้า HR เจ้านายบอกว่า พวกเขาไม่ทำผลงาน ตกลงเป้ากันที่ 100 แต่ทำได้จริงแค่ 10-20 ให้โอกาสมาแล้วถึง 3-4 เดือนแต่ไม่มีอะไรดีขึ้น แบบนี้ขอไม่จ่ายชดเชยได้ไหม
พี่ HR ตอบเจ้านายว่า คนที่เจ้านายจะปลดออกทำงานเกิน 120 วันแล้ว ยังไงก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่เหมือนเจ้านายจะไม่ค่อยพอใจกับคำตอบ เลยหันมาถาม HR มือใหม่อย่างฉัน
จ้ะ ถาม HR มือใหม่ ที่ทำงานมาได้ยังไม่ถึงเดือน ความรู้ด้านกฏหมายก็ไม่มี พี่เลี้ยงก็ไม่มี HR ที่มีอยู่ตอนนี้ก็ไม่มีเวลาว่างมาสอน ถ้าจะให้ไปนั่งอ่านกฏหมายเองตอนนี้ก็คงไม่ทันใจเจ้านายแน่ๆ
นึกได้ก็เสิร์จหาเบอร์โทรกรมแรงงาน เมื่อเราออกตัวว่าเราเป็นมือใหม่ เจ้าหน้าที่ก็ใจดีมาก กระตือรือร้นที่จะช่วยเราตอบคำถาม
การปลดพนักงานในลักษณะแบบที่เจ้านายต้องการ เป็นการปลดแบบที่คนไทยเรียกกันว่า “แบบฟ้าผ่า” คุยกันวันนี้ พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงาน ต่างคนต่างแยกย้าย
วันนี้เจ้าหน้าที่ให้คำตอบ และหลักในการทำงานว่า…
♞ หากพนักงานทำงานมานานมากกว่า 120 วัน (ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในตำแหน่งเดียวกันตลอดหรือไม่) นอกจากเงินเดือนที่ต้องจ่ายตามปกติแล้ว ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานด้วย ซึ่งอัตราค่าชดเชยที่ต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการทำงาน
♞ หากจะให้ออกเลยทันที ต้องจ่ายค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) คิดจากวันที่ออก-รอบจ่ายเงินเดือนของเดือนถัดไป (เงินเดือน/ 30 แล้ว x ด้วยจำนวนวัน) ยกเว้นแจ้งล่วงหน้า 30 วันก็ไม่ต้องจ่ายในส่วนนี้
♞ ภาระผูกพันระหว่างนายจ้างและพนักงาน เกิดขึ้นเมื่อมีการว่าจ้างเกิดขึ้น โดยดูจากสัญญา หรือพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น มีการจ่ายเงินเดือน มีการเดินทางตอกบัตรเข้าทำงาน หมายความว่าต่อให้ไม่มีการเซ็นสัญญาจ้างงาน แต่เกิดพฤติกรรมข้างต้นก็ถือว่ามีภาระผูกพันระหว่างกันแล้ว
อื่นๆ :
♞ การที่พนักงานคนนั้นๆ ทำงานไม่ได้ตามเป้า ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานได้ “ยกเว้น มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพนักงานไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่”
หรือถ้าพนักงานทำงานอย่างเต็มที่แล้วแต่ผลงานยังไม่ดี ศาลก็อาจจะพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ขายของไม่ได้ตามเป้าเพราะเกิดภาวะโควิด ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปขายสินค้าได้ แบบนี้ศาลก็อาจจะตัดสินว่าพนักงานไม่มีความผิด
♞ นายจ้างมีสิทธิย้ายตำแหน่ง หรือสถานที่ทำงานของพนักงานได้ แต่ควรได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อน หากพนักงานมองว่าการย้ายตำแหน่งหรือสถานที่นั้นไม่เป็นธรรม เป็นการกลั่นแกล้ง ก็มีสิทธิที่จะไปฟ้องร้องต่อศาลได้
♞ การย้ายพนักงานให้ไปทำงานบริษัทในเครือ (เจ้าของคนเดียวกัน) บริษัทที่รับพนักงานไปจะต้องรับภาระความรับผิดชอบต่อพนักงานคนนั้นๆ ไปด้วย หมายถึง เงินเดือน และสวัสดิการจะต้องไม่น้อยกว่าเดิม ระยะเวลาการทำงานจะต้องถูกรวมเข้ากับที่ทำงานเดิม ไม่สามารถเริ่มนับ 1 ใหม่ได้
♞ การปลดออกเนื่องจากกระทำความผิด จะต้องมีการเเจ้งเตือนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แบบฟอร์มการแจ้งเตือนต้องถูกต้อง และต้องมีหลักฐานชัดเจนที่พิสูจน์ได้
♞ พนักงาน Freelace/Parttime ถ้าทำงานแบบสั่งทำกราฟฟิค เสร็จแล้วน้องเค้าก็ส่งงานมาเป็นจ๊อบๆ ไม่ได้มีการกำกับดูแล แบบนี้ก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โฆษณา