23 มิ.ย. 2022 เวลา 06:02 • คริปโทเคอร์เรนซี
คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คืออะไร? พามือใหม่เข้าใจครบจบในที่เดียว!
Cryptocurrency คืออะไร? ใครเป็นมือใหม่ที่อยากลงทุนในโลกคริปโตฯ ต้องอ่านบทความนี้เลย เพราะบทความนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับคริปโตเคอเรนซีให้มากขึ้น รวมพื้นฐานที่ต้องรู้ก่อนลงทุนคริปโตฯ ครบจบในที่เดียว!
Cryptocurrency คืออะไร?
สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ประเภทหนึ่งที่มีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) เพียงแต่ไม่สามารถจับต้องได้
แม้ว่าตอนนี้คริปโตฯ จะยังไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายดังเช่นสกุลเงินทั่วไป (ยกเว้นประเทศเอลซัลวาดอร์ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติให้บิตคอยน์สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้) แต่ก็มีธุรกิจหลายแห่งเริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ มาใช้เพื่อปรับตัวรับโลกการเงินที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบิตคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ
ประโยชน์ของ Cryptocurrency
  • ทำธุรกรรมได้ง่ายและรวดเร็ว: เนื่องจากธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ เป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด จึงมีความสะดวกและรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมภายในประเทศหรือระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีเหนือกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม
  • ต้นทุนในการทำธุรกรรมต่ำ: ใครที่เคยโอนเงินระหว่างประเทศจะทราบกันดีกว่าค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมค่อนข้างสูง แต่หากทำธุรกรรมผ่านคริปโตฯ จะช่วยลดต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมไปได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับบริการทางการเงินอื่นๆ
  • มีความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว: เนื่องจากคริปโตฯ ทำงานอยู่บนเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “Blockchain” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยากต่อการถอดรหัสทางคณิตศาสตร์ ทำให้สกุลเงินดิจิทัลปลอดภัยกว่าธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป
  • ความโปร่งใสที่เหนือกว่า: ธุรกรรมแต่ละรายการของคริปโตฯ จะถูกบันทึกในบัญชีแยกประเภทโดยใช้เทคโนโลยี “Blockchain” ซึ่งไม่สามารถแก้ไข ย้อนกลับ หรือทำลายข้อมูลได้
  • ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ: ปัจจุบันเริ่มเห็นข่าวมหาเศรษฐีชาติต่าง ๆ เก็บบิตคอยน์เข้าพอร์ตเพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ เนื่องจากเชื่อว่าเหรียญที่มีอุปทานจำกัดอย่างเช่น Bitcoin สามารถนำมาเป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อได้
  • เปิดซื้อขายแลกเปลี่ยน 24 ชั่วโมง: เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับตลาดหุ้นที่มีวันหยุดและเวลาเปิดปิดอย่างชัดเจน แต่สำหรับตลาดคริปโตฯ นั้นมีสภาพคล่องสูงเพราะเปิดให้ซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด
Cryptocurrency มีหลักการทำงานอย่างไร?
Cryptocurrency ทำงานอยู่บนเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ โดยจะบันทึกข้อมูลลงในกล่อง (Block) และนำมาต่อกันเรื่อย ๆ เหมือนสายโซ่ (Chain) ซึ่งจะไม่สามารถย้อนกลับได้ ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง แก้ไข หรือทำลายข้อมูล
บล็อกเชนจะประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบ “กระจายศูนย์” (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่ปราศจากการควบคุมโดยตัวกลางอย่างธนาคารหรือรัฐบาล ดังนั้น ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ จึงมีความปลอดภัย โปร่งใส และน่าเชื่อถือ
มูลค่าของ Cryptocurrency เกิดจากอะไร?
เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยกันว่ามูลค่าของ Cryptocurrency เกิดจากอะไร เพราะถ้าเป็นหุ้นนั้นมีหลายปัจจัยมากที่กำหนดราคาหุ้น ทั้งพื้นฐานหุ้น งบการเงิน ผลประกอบการของบริษัท ฯลฯ แต่หากเป็นคริปโตฯ คงไม่มีข้อมูลเหล่านั้นให้เราดู แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าราคาของ Cryptocurrency ถูกกำหนดด้วยปัจจัยอะไร?
อย่างที่ทราบกันว่า สกุลเงินดิจิทัลไม่ได้ออกโดยธนาคารกลางและไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนั้น ปัจจัยเช่น นโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงไม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของ Cryptocurrency
สำหรับมูลค่าของคริปโตฯ จะแปรผันตามอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของตลาด หลักการก็คล้าย ๆ กับ “ทองคำ” ยิ่งเหรียญนั้นมีอุปสงค์หรือความต้องการมากเพียงใด ราคาของเหรียญนั้นก็จะดีดตัวสูงขึ้น และยิ่งเป็นเหรียญที่มีอุปทานจำกัดอย่างเช่น “บิตคอยน์” ที่มีจำนวนอุปทานจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ ก็จะยิ่งดันมูลค่าของเหรียญให้สูงยิ่งขึ้น
Cryptocurrency มีประเภทเหรียญแบบไหนบ้าง?
ปัจจุบันมีเหรียญคริปโตฯ มากกว่า 9,600 เหรียญ แต่ละเหรียญก็มีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันไป บทความนี้จึงขอมาแยกประเภทเหรียญคริปโตฯ ให้นักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก๋าบนโลกคริปโตฯ ได้เห็นภาพชัดขึ้น ดังนี้
1. กลุ่มรักษามูลค่า (Store of Value)
เหรียญคริปโตฯ กลุ่มแรกคือ “กลุ่มรักษามูลค่า” เป็นเหรียญกลุ่มที่สามารถเพิ่มกำลังซื้อได้เมื่อเวลาผ่านไป และเป็นเหรียญที่มีอุปทานอย่างจำกัดดังเช่น เหรียญราชาแห่งโลกคริปโต
อย่าง “Bitcoin” ที่มีจำนวนอุปทานอย่างจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ โดยจะแตกต่างกับสกุลเงิน Fiat ที่อุปทานไม่มีที่สิ้นสุดจากการพิมพ์ธนบัตรของธนาคารกลางแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อและทำให้สูญเสียกำลังซื้อไปเรื่อยๆ
นอกจาก Bitcoin แล้วยังมีเหรียญในกลุ่มรักษามูลค่าอื่น ๆ อีกเช่น Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH) เป็นต้น
2. กลุ่มสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)
เป็นเหรียญกลุ่มที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งสามารถใช้ “สัญญาอัจฉิรยะ” (Smart Contract) ได้ โดย Smart Contract เป็นกระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมแบบอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแพลตฟอร์ม DeFi รวมถึงแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized application: Dapp) บนเครือข่ายเหล่านี้ได้
ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม Smart Contract เช่น เหรียญ Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Solana (SOL) และ Kusama (KSM) เป็นต้น
3. กลุ่ม Stablecoin
เหรียญคริปโตฯ กลุ่มนี้ถูกสร้างมาเพื่อทำให้มูลค่าของเหรียญมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยการอ้างอิงกับมูลค่าของสินทรัพย์บางอย่าง ใช้สำหรับเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสกุลเงิน Fiat และสกุลเงินดิจิทัลในเรื่องของความมีเสถียรภาพ ความโปร่งใส และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำ
Stablecoin แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ Fiat-Collateralized (อ้างอิงด้วยเงินเฟียต), Commodity-Collateralized (อ้างอิงด้วยสินค้าโภคภัณฑ์), Crypto-Collateralized (อ้างอิงด้วยคริปโตฯ) และ Non-Collateralized (ไม่อ้างอิงด้วยอะไรเลย)
ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม Stablecoin เช่น เหรียญ “USDT” และ “USDC” จัดเป็น Stablecoin ประเภท Fiat-Collateralized ที่อ้างอิงกับมูลค่าของสกุลเงิน Fiat อย่างดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ในอัตราส่วน 1:1
4. กลุ่ม DeFi
“DeFi” ย่อมาจาก “Decentralized Finance” ซึ่งแปลว่า ระบบการเงินไร้ตัวกลาง โปรโตคอลและแพลตฟอร์ม DeFi ส่วนใหญ่ถูกสร้างบน Ethereum Blockchain จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “โทเคน” (Token) โดยเหรียญ DeFi มักจะถูกตั้งชื่อตามเครือข่ายบล็อกเชนที่เป็นผู้ออกเหรียญนั้นๆ
และจะสามารถใช้งานได้บนแพลตฟอร์มของผู้ออกเหรียญหรือแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งมูลค่าของเหรียญจะมาจากความนิยมของแพลตฟอร์มผู้ออก รวมถึงความนิยมใน DeFi ด้วย
ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม DeFi เช่น Maker (MKR), SushiSwap (SUSHI), Uniswap (UNI), Pancakeswap (CAKE) และ Aave (AAVE) เป็นต้น
5. กลุ่มส่งต่อมูลค่า (Value Transfer)
เหรียญกลุ่มนี้เป็นเหรียญที่ถูกพัฒนาและออกแบบมาเพื่อส่งต่อมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเน้นไปที่ความสามารถในการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างต่ำ เช่น เหรียญ “XRP” (Ripple) ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อของสกุลเงิน Fiat ทำหน้าที่คล้ายระบบ SWIFT ในส่งเงินข้ามประเทศ
นอกจากเหรียญ XRP แล้วยังมีเหรียญในกลุ่มส่งต่อมูลค่าอื่น ๆ อีกเช่น Stellar (XLM), OMG (OMG Network) และ Velo (VELO) เป็นต้น
6. กลุ่ม GameFi
เหรียญกลุ่ม GameFi เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในเกมหรือโลกเสมือนจริง (Metaverse) โดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันกระแส GameFi มาแรงมาก เพราะนอกจากจะทำให้เราสนุกไปกับเกมได้แล้ว เรายังสามารถสร้างรายได้จากเกมได้ด้วย
โดยรางวัลที่จะได้รับจากการเล่นเกมจะอยู่ในรูปของเหรียญในกลุ่ม GameFi ที่เป็นเหรียญหลักในระบบนิเวศของเกมนั้น ๆ ซึ่งเราสามารถใช้เหรียญ GameFi ที่ได้มาในการซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกม หรือจะขายบนกระดาน Exchange ก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเหรียญในกลุ่ม GameFi เช่น Decentraland (MANA), The Sandbox (SAND), Axie Infinity (AXS) และ My Neighbor Alice (ALICE) เป็นต้น
7. กลุ่มเหรียญมีม (Meme Coins)
เหรียญคริปโตฯ กลุ่มสุดท้าย คือ “เหรียญมีม” เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสนุกโดยเฉพาะ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากมีม (Meme) ที่เป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ เหรียญมีมที่ได้รับความนิยมและถูกกล่าวขานว่าเป็น “ราชาแห่งเหรียญมีม”
คงจะหนีไม่พ้นเหรียญ “Dogecoin” (DOGE) แม้จะบอกว่าเหรียญมีมถูกสร้างขึ้นแบบสนุก ๆ แต่ราคาที่พุ่งขึ้นก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว All-time High ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2021 ทำให้มูลค่าของเหรียญ DOGE พุ่งขึ้นเกือบ 12000% จากช่วงต้นปี 2021 เลยทีเดียว ก่อนที่มูลค่าจะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ราคาของเหรียญในกลุ่มมีมค่อนข้างผันผวน จึงเป็นกลุ่มเหรียญคริปโตฯ ที่เหมาะกับสายเทรดเดอร์ เน้นทำกำไรระยะสั้น
นอกจาก Dogecoin แล้วก็ยังมีเหรียญมีมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น Shiba Inu (SHIB), Dogelon Mars (ELON), Dogs of Elon (DOE) และ Samoyedcoin (SAMO) เป็นต้น
วิธีหาเงินจาก Cryptocurrency
การลงทุนระยะยาว (Hodl)
สำหรับนักลงทุนระยะยาว ในวงการคริปโตฯ จะเรียกนักลงทุนสายนี้ว่า “Hodl” ย่อมาจาก “Hold on for dear life” ความหมายคือ ถือเหรียญคริปโตฯ ไปแบบยาว ๆ โดยอาจจะถือเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่ขาย ไม่ว่าราคาตลาดจะเป็นเช่นไร จะผันผวนสักแค่ไหน ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนสายนี้ต้องคำนึงคือเทคโนโลยีของเหรียญที่เราเข้าซื้อถือว่ามีโอกาสที่จะเติบโตมากน้อยเพียงใด มีศักยภาพเติบโตได้ในระยะยาวหรือไม่
การเทรด (Trading)
การเทรดเป็นการทำกำไรในคริปโตฯ โดยใช้โอกาสระยะสั้นจากความผันผวนของราคาคริปโตฯ อย่างทราบกันว่าคริปโตฯ ราคาเคลื่อนไหวค่อนข้างไว จึงมีนักเก็งกำไรไม่น้อยที่เข้ามาหาโอกาสทำกำไรจากตลาดคริปโตฯ ซึ่งกลยุทธ์การเทรดก็มีหลากหลายทั้งแบบ Scalping, Day Trade และ Swing Trade
อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นสายเทรดเดอร์ได้เราต้องมีทักษะการวิเคราะห์และเทคนิคต่าง ๆ ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จและคาดการณ์ราคาเหรียญได้อย่างแม่นยำ
Staking
เป็นการนำเหรียญไปฝากไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัลที่รองรับการ Stake และล็อกมันไว้ เหรียญที่เราฝากไว้จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการความถูกต้องของธุรกรรมบนบล็อกเชนแบบ Proof of Stake (PoS) โดยผลตอบแทนจากการ Stake จะอยู่ในรูปแบบของดอกเบี้ย ซึ่งอัตราก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม การ Stake มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการปลดล็อกอยู่ ซึ่งอาจทำให้เราไม่สามารถถอนเหรียญที่เราฝากไว้ได้ทันที
Yield Farming
Yield Farming หรือที่เรียกกันติดปากว่าการ “ฟาร์ม” เป็นอีกหนึ่งวิธีการหารายได้จากคริปโตฯ ด้วยการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากไว้ใน Liquidity Pool ของแพลตฟอร์ม Decentralized Finance (DeFi) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์มนั้น ๆ โดยผลตอบแทนที่จะได้รับจากการฟาร์มจะอยู่ในรูปแบบของค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย รวมถึงโทเคน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ควรศึกษาก่อนว่าแต่ละแพลตฟอร์มเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งแพลตฟอร์ม DeFi ที่ได้รับความนิยมก็เช่น Uniswap, Sushiswap และ AAVE เป็นต้น
การขุด (Mining)
การขุด (Mining) เป็นหนึ่งในวิธีหารายได้จาก Cryptocurrency ที่มีมาอย่างยาวนานที่สุด ใครที่อยากหารายได้โดยการขุด สิ่งแรกที่เตรียมคือหาเครื่องขุดคริปโตฯ สเปคเจ๋งๆ มาสักหนึ่งเครื่อง ซึ่งหาซื้อไม่ยาก เพียงแค่เปิด Lazada หรือ Shopee ก็มีให้เราเลือกมากมาย ส่วนเรื่องราคาก็ตามสเปคเลย ยิ่งสเปคสูงประมวลผลได้รวดเร็วราคาก็สูงตาม
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึง “ค่าไฟ” ด้วย เพราะการขุดคริปโตฯ โดยเฉพาะบิตคอยน์จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล ดังนั้น ควรคำนวณให้ดีกว่าหากเราซื้อเครื่องขุดมาและหักต้นทุนค่าไฟไปแล้วจะคุ้มหรือไม่กี่ปีถึงจะคืนทุน
Airdrop
แอร์ดรอป (Airdrop) เป็นการแจกเหรียญคริปโตฯ รวมถึงโทเคนสู่กระเป๋าเงินดิจิทัล แต่แน่นอนว่าของฟรีไม่มีในโลก
หากใครอยากได้เหรียญคริปโตฯ แบบฟรีๆ ด้วยวิธี Airdrop ก็ต้องไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้แจกได้ตั้งเงื่อนไขเอาไว้ เช่น ติดตามแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดีย แชร์หรือรีทวีตโพสต์ สมัครใช้งานเว็บไซต์ ฯลฯ Airdrop ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีทำการตลาดสำหรับผู้ที่ทำโปรเจกต์คริปโตฯ เป็นการโปรโมทให้คนรู้จักโปรเจกต์นั้นๆ มากขึ้นนั่นเอง
ภาษีคริปโตฯ
ใครอยากลงทุนคริปโตฯ สิ่งสำคัญที่ต้องรู้อีกหนึ่งอย่างคือ “เงินได้จากการลงทุนในคริปโตฯ ต้องเสียภาษี” ตามประกาศของกรมสรรพากร ซึ่งการลงทุนในคริปโตฯ แบบไหนต้องเสียภาษีอย่างไรบ้าง เราสรุปแบบสั้น ๆ เข้าใจง่ายมาให้แล้ว
1. กำไรจากการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตฯ – เป็นเงินได้ประเภท 40(4)(ฌ) ยื่น ภ.ง.ด.90
2. การขุดเหรียญ – ยังไม่ถือเป็นเงินได้
3. จำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนเหรียญที่ขุดมาได้ – เป็นเงินได้ประเภท 40(8) ยื่น ภ.ง.ด.90
4. ได้รับคริปโตฯ เป็นเงินเดือน – เป็นเงินได้ประเภท 40(1) ยื่น ภ.ง.ด.90/91
5. ได้รับคริปโตฯ เป็นค่าจ้าง – เป็นเงินได้ประเภท 40(2) ยื่น ภ.ง.ด.90/91
6. ได้รับคริปโตฯ จากการให้ หรือได้เป็นรางวัล – เป็นเงินได้ประเภท 40(8) ยื่น ภ.ง.ด.90
7. ได้รับผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัล – เป็นเงินได้ประเภท 40(4)(ซ) ยื่น ภ.ง.ด.90
8. ได้รับผลตอบแทนจากการถือครองคริปโตฯ – เป็นเงินได้ประเภท 40(8) ยื่น ภ.ง.ด.90
วิธีเริ่มลงทุน Cryptocurrency
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากเริ่มลงทุนคริปโตฯ แล้วบ้าง? มาดูกันดีกว่าว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนจะลงทุนในโลกคริปโตฯ
อย่าลืมศึกษา White Paper ก่อนลงทุน
ถ้าเป็นกองทุนก็ต้องศึกษาหนังสือชี้ชวนก่อนลงทุน แต่หากเป็นคริปโตฯ เราต้องศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “White Paper” ก่อนลงทุนในเหรียญใดๆ เสมอ
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะ White Paper เป็นเอกสารที่ผู้สร้างเหรียญระบุข้อมูลที่เกี่ยวกับเหรียญทั้งหมด เป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้ถึงกลไกของเหรียญว่ามีกลไกอะไรที่ควบคุมอุปทาน (Supply) ของเหรียญอยู่ อุปทานของเหรียญมีอย่างจำกัดหรือไม่ ช่วยประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกลงทุนในเหรียญนั้นๆ
ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง
ไม่ใช่แค่เพียงการลงทุนในคริปโตฯ ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การศึกษารายละเอียดคือการ “ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง” ใครที่ตามข่าวคริปโตฯ อยู่ก็คงจะทราบกันดีว่า ตลาดคริปโตฯ มีความผันผวนสูงมาก ราคาเคลื่อนไหวเร็ว ขึ้นแรงลงแรง ลองประเมินความเสี่ยงดูว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด
หากรับความเสี่ยงไม่ได้มากแต่ยังอยากลงทุนในคริปโตฯ อยู่ ลองศึกษาวิธีลงทุนอื่น ๆ นอกเหนือจากการเทรดดู เลือกวิธีที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้มากที่สุด เราจะได้ลงทุนแบบมีความสุขไปได้ยาวๆ
เปิดบัญชีซื้อขายคริปโตฯ
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนในประเทศไทยมากมาย แต่ละเจ้าก็งัดจุดแข็งมาพิชิตใจลูกค้ากันแบบสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีที่สุดแสนจะง่ายดายผ่านทางออนไลน์ ค่าธรรมเนียมการเทรดที่ต่ำ ฯลฯ ลองเปรียบเทียบของแต่ละเจ้าดูว่ามีเหรียญที่เราอยากลงทุนเปิดให้ซื้อขายหรือไม่ แอปพลิเคชันซื้อขายสะดวกต่อการใช้งานไหม มีฟังก์ชันครบตามที่เราต้องการรึเปล่า
อ้างอิง
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
โฆษณา