24 มิ.ย. 2022 เวลา 01:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์
ของปรากฏการณ์ผีหลอก
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
เวลาเรารู้สึกว่ามีผีอยู่ในห้องด้วย คอยแอบมองเราอยู่ตามซอกตามมุม หรือรู้สึกแปลกๆ เหมือนมีพลังงานลึกลับเหนือธรรมชาติอยู่รอบตัวในสถานที่บางอย่างเช่น บ้านร้าง หรือคฤหาสน์เก่าๆ ห่างไกลผู้คน
1
สาเหตุที่เป็นไปได้อาจมีสองอย่าง อย่างแรก คือมีผีหรือพลังงานลึกลับเหนือธรรมชาติอยู่เป็นเพื่อนเราจริงๆ กับอีกอย่างคือ ไม่มี คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าผีไม่มีแล้ว มีปัจจัยอะไรบ้างที่ดูมีแววจะเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เหล่านี้ได้
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 มีนักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องเป็นราวด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ออกมาเป็นงานวิจัยหลายชิ้น ซึ่งสาขานี้ยังถือได้ว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่อยู่ การทดลองต่างๆ ยังมีจุดให้ปรับปรุงเพื่อความรัดกุมได้อีกหลายจุด แต่ผ่านมา 20 กว่าปี อย่างน้อยก็ถึงจุดที่เรามานั่งมองย้อนได้แล้วว่า โดยรวมมีสมมุติฐานอะไรที่น่าสนใจบ้าง
คณะนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากหลากหลายชาติได้เล่าไว้ในวารสาร Frontiers in Psychology เมื่อปี ค.ศ. 2020 ว่า ปัจจัยที่ศึกษากันในงานวิจัยเฉพาะที่ตีพิมพ์ที่เป็นภาษาอังกฤษ 66 ชิ้นมี 6 อย่างหลักๆ คือ
- บรรยากาศชวนหลอนของสถานที่
- แสง
- คุณภาพอากาศ
- อุณหภูมิ
- คลื่นใต้เสียง (infrasound)
- สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic field หรือ EMF)
สี่อย่างแรกอาจจะไม่ทำให้ใครประหลาดใจมาก เพราะเรื่องของสภาพแวดล้อมรวมๆ ที่เข้ามาปรุงแต่งการรับรู้ ความรู้สึก และความทรงจำ นั้นค่อนไปทางจิตวิทยา ส่วนสองอย่างสุดท้ายค่อนมาทางฟิสิกส์ กล่าวคือ คลื่นเสียงหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราตระหนักรู้ไม่ได้ อาจจะกระทบกระเทือนสมองให้เราหลอนก็เป็นได้
คลื่นใต้เสียง(infrasound) ที่มา : https://www.dreamstime.com/illustration/infrasound.html
คลื่นใต้เสียง(infrasound)เป็นคำรวมๆ ที่หมายถึงคลื่นเสียงความถี่ต่ำ ช่วงที่มนุษย์ไม่ได้ยินหรือแทบไม่ได้ยิน ไม่ว่าจะดังหรือเบาก็ตาม (แต่ถ้าดังเกินก็สามารถเป็นอันตรายก็เยื่อแก้วหูหรืออวัยวะอื่นๆ จนถึงแก่ชีวิตได้) คำนี้ไม่ได้มีนิยามแน่ชัด แต่โดยทั่วไปหมายถึงช่วงความถี่ต่ำกว่า 16 หรือ 20 เฮิร์ตซ์ ซึ่งเริ่มเป็นที่สนใจเป็นวงกว้างว่าอาจจะเป็นสาเหตุของเรื่องหลอนๆได้
จากบทความวิจัยชื่อเรื่องว่า “The Ghost in the Machine” ในวารสาร Journal of the Society for Psychical Research เมื่อปี ค.ศ. 1998 ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า เป็นไปได้ว่าการสั่นสะเทือนของลูกตาอันเกิดจากคลื่นเสียงความถี่ประมาณ 19 เฮิรตซ์ที่ออกมาจากพัดลมระบายอากาศในโรงงานแห่งหนึ่งนั้น เป็นสาเหตุให้คนหลอนว่าเห็นผี
The Society for Psychical Research ที่มา : Wikipedia
หลังจากนั้นก็มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่พยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างคลื่นใต้เสียงกับการที่คนรู้สึกหลอน เช่น กรณีที่พบว่าห้องเก็บไวน์ใต้ดิน “ผีสิง” ที่สร้างมาแล้วกว่า 600 ปีใต้ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวในเมืองโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ มีคลื่นใต้เสียงตั้งแต่ 2–20 เฮิร์ตซ์ โดยดังสุดคือความถี่ที่ 5.7 เฮิร์ตซ์ อย่างไรก็ดี เทคนิคการวัดก็ยังไม่ดูน่าเชื่อถือนัก
และยังไม่มีใครตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า คลื่นใต้เสียงมันไปกระทบกระเทือนร่างกายอย่างใดกันแน่
แหล่งของคลื่นใต้เสียงที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น ที่มา : Wikipedia
บางการทดลองก็เป็นการแอบเล่นคลื่นใต้เสียงให้คนที่มาดูคอนเสิร์ต แล้วก็เปรียบเทียบกับคอนเสิร์ตเดียวกันแต่เป็นรอบที่ไม่ได้แอบเล่น โดยใช้แบบสอบถามถามปฏิกิริยาของคนดูหลังคอนเสิร์ตจบ แต่วิธีนี้ก็ตอบไม่ได้แน่ชัดอยู่ดี ว่าความรู้สึกแปลกๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผลจากคลื่นใต้เสียง หรือตัวแปรอื่นๆ ที่ไม่ได้ควบคุมให้เหมือนกันเป๊ะๆ ในคอนเสิร์ตทั้งสองรอบ (ซึ่งแน่นอนว่าทำได้ยาก)
ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากับปรากฏการณ์หลอน เริ่มมาดังตอนที่มีงานวิจัยในวารสาร Perceptual and Motor Skills เมื่อปี ค.ศ. 1996 ออกมาเล่าถึงตอนไปศึกษากรณีของผู้หญิงอายุ 17 ปีคนหนึ่ง ที่สมองเสียหายเล็กน้อยตอนคลอด และพอโตขึ้นก็รู้สึกว่า “พระจิต” หรือ “พระวิญญาณบริสุทธิ์” (ในศาสนาคริสต์) ชอบมาหาตอนกลางคืน
คณะผู้วิจัยพบว่า เมื่อนำนาฬิกาไฟฟ้าขนาด 10 นิ้วบนหัวนอนออกไป “พระจิต” ก็ไม่มาหาอีก และเมื่อนำนาฬิกาไปตรวจสอบก็พบว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่นาฬิกาปล่อยออกมานั้น มีรูปคลื่น (waveform) ในลักษณะเดียวกับที่กระตุ้นให้คนหรือหนูเกิดอาการลมชักได้
God Helmet หมวกกันน็อคที่ศาสตราจารย์ Michael Persinger ใช้ในการทำลองทางประสาทวิทยา ที่มา : Wikipedia
อย่างไรก็ดี ในงานวิจัยอื่นๆ ที่พยายามกระตุ้นให้คนรู้สึกเหมือนเจอผีหลอกด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าภายใต้สภาวะควบคุมในห้องทดลอง ก็ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ ความยากอย่างหนึ่งคือ จะเลือกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ไหน สนามแม่เหล็กไฟฟ้าต้องมีความเข้มเท่าไรถึงจะพอเหมาะ ไม่แรงไป ไม่เบาไป แล้วต้องปล่อยเป็นจังหวะอย่างไรสักอย่างด้วยหรือไม่จึงจะมีผล แล้วจะเลือกรูปแบบจังหวะอย่างไรดี เป็นต้น
อาการประสาทหลอนที่เหนี่ยวนำโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMF-induced hallucinations) มีชื่อเรียกรวมๆ ในวงการวิจัยว่า Persinger effect ตามชื่อศาสตราจารย์ Michael Persinger แห่งมหาวิทยาลัย Laurentian ในประเทศแคนาดา ที่ศึกษาวิจัยปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอย่างมากมายในเชิงประสาทวิทยา ซึ่งอาจารย์ท่านนี้เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีก่อน
Michael Persinger ที่มา : Wikipedia
หลังจากนี้เราก็คอยติดตามลุ้นกันต่อไป ว่านักวิทยาศาสตร์จะเจออะไรก่อนกัน ระหว่าง เจอผี เจอสาเหตุของผี หรือเจอบั๊กในระบบของเดอะเมทริกซ์!
3
โฆษณา