25 มิ.ย. 2022 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านชั้นเดียวที่มีฟังก์ชันเป็นทั้งสตูดิโอเเละบ้านพักอาศัยของครอบครัวโดยออกแบบให้ล้อไปกับบ้านของคุณพ่อคุณแม่ที่ฝั่งตรงข้ามราวกับเป็นพื้นที่เดียวกัน แบ่งพื้นที่ใช้งานหลัก ๆ ออกเป็น 3 ส่วนคือ พื้นที่กึ่งสาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และ สตูดิโอของแบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของบ้าน
บ้านชั้นเดียวในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่หลังนี้ มีจุดเริ่มต้นของมาจากที่ดินที่สร้างบ้านอยู่ติดกับบ้านคุณพ่อคุณแม่ของ คุณปกรณ์ อยู่ดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขาเติบโตเเละคุ้นเคยมาตั้งเเต่ยังเด็ก
ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ประกาศขาย เขาจึงรีบซื้อไว้เเเล้วออกแบบเป็นบ้านที่มีฟังก์ชันเป็นทั้งสตูดิโอเเละบ้านพักอาศัยของครอบครัวที่ประกอบด้วยตัวเขาเอง ภรรยา เเละลูกชาย โดยออกแบบให้ล้อไปกับบ้านของคุณพ่อคุณแม่ที่ฝั่งตรงข้ามราวกับเป็นพื้นที่เดียวกัน
2
โดยแบ่งพื้นที่ใช้งานหลัก ๆ ออกเป็น 3 ส่วนคือ พื้นที่กึ่งสาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และสตูดิโอของแบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายญี่ปุ่นที่ออกแบบโดยคุณปกรณ์และภรรยาในนาม DIN ที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของบ้าน
1
จากรั้วบ้านเมื่อเดินเข้ามาสิ่งแรกที่พบคือ สตูดิโอของแบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายญี่ปุ่นที่ออกแบบได้อย่างน่ารัก ถัดมาเป็นคอร์ตกลางของบ้านที่ภาษาเหนือเรียกว่า “ข่วงบ้าน” คุณปกรณ์เลือกออกแบบให้บ้านและสตูดิโอล้อมข่วงบ้านนี้เอาไว้ โดยมีต้นจิกเป็นไม้ประธานข้างตัวบ้าน เเละปลูกแปลงผักสวนครัวไว้ที่ริมรั้วบ้านฝั่งตะวันออก
สังเกตได้ว่าบ้านหลังนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่รับแดดตลอดทั้งวัน ในฐานะสถาปนิก คุณปกรณ์บอกกับเราว่าถือเป็นการวางบ้านขวางตะวันที่ผิดไปจากในตำรา แต่ด้วยความที่คุ้นชินกับพื้นที่บริเวณนี้ดีอยู่แล้ว จึงรู้ว่าสามารถจัดการกับบริบทรอบบ้านได้อย่างไรบ้าง เช่น ในส่วนหลังบ้านและทิศตะวันตกสามารถทำรั้วต้นไม้สูงเพื่อบังแดดและสร้างความเป็นส่วนตัวได้
1
ส่วนหน้าบ้าน ด้วยความที่มีคอนโดมิเนียมมาสร้างอยู่ใกล้ ๆ จึงเกิดเป็นช่องลมที่พัดเข้าสู่หน้าบ้านได้พอดี เลยตั้งใจหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ แล้วแก้ปัญหาแดดสาดเข้าสู่ตัวบ้านด้วยการทำหลังคาที่ยื่นยาวคุ้มแดดคุ้มฝนแทน ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า Micro Climate หรือภูมิอากาศเฉพาะที่นั่นเอง
บ้านหลังนี้มีบานเปิดที่สามารถเปิดออกสู่สวนและคอร์ตได้ในเกือบทุกจุด ซึ่งเป็นการนำรูปแบบของบ้านญี่ปุ่นที่คุณปกรณ์ชื่นชอบมาประยุกต์ให้เข้ากับบ้านล้านนาดั้งเดิม จนกลายเป็นบ้านทรงสูงที่มีชายคายื่นยาว อันเป็นสถาปัตยกรรมเเบบล้านนาที่คุ้นตากันดี
สำหรับส่วนที่คล้ายบ้านญี่ปุ่นนั้น คุณปกรณ์ได้ประยุกต์เอาเติ๋นหรือชานเตี้ยของบ้านมาปรับให้เป็นทางเดินรอบบ้าน สามารถออกมานั่งเล่นได้ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายนอกกับภายในของบ้าน
“คิดไว้เสมอว่าอยากให้บ้านหลังนี้สามารถใช้งานได้ในทุกส่วน ถ้าไม่ได้มีประโยชน์ก็อยากให้นั่งเล่นได้ก็ยังดี สามารถเดินเท้าเปล่าจากบ้านลงผืนหญ้าไปยังอีกจุดได้ไม่ยาก”
การวางพื้นที่ภายในและภายนอกสลับกัน ประกอบกับการใช้บานเปิดของบ้านหลังนี้ ทำให้บ้านสามารถอยู่อาศัยร่วมกับลมธรรมชาติได้อย่างดี มีการไหลเวียนของอากาศในแนวระนาบจากภายนอกและระบายออกในแนวดิ่ง ผ่านสวนขนาดเล็กข้างห้องน้ำและห้องนอน
จากส่วนรับแขกทางด้านหน้าไปสู่ห้องนอนหลักจะมีพื้นที่เล็ก ๆ คล้ายสะพานเชื่อม ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอน โดยพื้นที่นี้ออกแบบให้เป็นห้องทำงานแบบลำลอง จัดวางที่นั่งเตี้ย ๆ แบบญี่ปุ่นที่คุณปกรณ์มักใช้เวลามานั่งทำงานเป็นประจำ รวมถึงลูกๆ ที่จะมานั่งทำการบ้านเสมอ ๆ
โดยพื้นที่นี้ได้ออกแบบให้หันไปสู่สวนลับทางด้านหลังบ้าน ซึ่งตรงกับห้องนอนหลักที่เปิดสู่วิวสวนได้ด้วยเช่นกัน เเต่ทั้งสองส่วนนี้กลับไม่สามารถมองเห็นกันและกันได้เเบบถนัดตา เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวนั่นเอง
คุณปกรณ์ตั้งใจใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาไม่เเพง มาทดลองผ่านการทำรายละเอียดต่าง ๆ กระทั่งได้ผลสำเร็จที่ดีเกินคาด ในส่วนอื่น ๆ ก็เช่นกัน เขาได้ทดลองใช้วัสดุพื้นถิ่นที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ เช่น กระเบื้องหลังคาวิบูลย์ศรี ที่มีช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างแผ่น ช่วยให้อากาศไหลผ่านได้ดี
รวมถึงการเลือกใช้อิฐเก่ามาปูเป็นแผ่นพื้นทางเดินรอบบ้าน โดยอิฐเก่าเหล่านี้จะมีคุณสมบัติอมความชื้นทำให้บ้านเย็นสบาย
ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดี ๆ ของบ้านที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตที่ครอบคลุมทุกความต้องการ ก่อเกิดเป็นสุนทรียภาพแห่งการใช้ชีวิต
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3Hl0ISF
เจ้าของ : คุณวิภาดา หว่างจ้อย – คุณปกรณ์ อยู่ดี
สถาปนิก : INLY STUDIO Co.,Ltd โดยคุณปกรณ์ อยู่ดี
งานไม้ : ยางนาสตูดิโอ
ภูมิสถาปัตย์ : กานต์ การ์เด็น
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : Bline space
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา