Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มองสมานในสามานย์
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2022 เวลา 12:32
เธอมีอิสรภาพทางโลกทัศน์ หรือว่าโลกทัศน์ของเธอถูกปลูกฝังด้วยอุดมการณ์ของใคร
วันนี้เรามาต่อจากบทความตอนที่แล้ว ด้วยการค้นหาคำตอบกันว่าโลกทัศน์ของแต่ละคนเป็นแบบใด และมันสำคัญอย่างไรต่อชีวิตเรา?
คราวก่อนได้เกริ่นไว้ว่า โลกทัศน์เปรียบเสมือนเลนส์ที่พวกเราสวมใส่ไว้เพื่อมองดูโลก เชื่อมต่อตัวเราเองกับโลก และมีปฏิสัมพันธ์กับโลก อันที่จริงควรต้องบอกว่าไม่ใช่เฉพาะโลกภายนอกเท่านั้น โลกทัศน์ยังเป็นตัวกำหนดว่าเราเชื่อมต่อกับภายในตัวเราเองอย่างไรอีกด้วย
ขอยกนิยามคำว่าโลกทัศน์ของอดีตทนายความทำเนียบขาวและที่ปรึกษาอดีตประธานาธิบดีนิกสันนามว่า Chuck Colson มาอ้าง เพราะมันสั้นและง่ายดี เขาบอกว่า “โลกทัศน์คือผลรวมทั้งหมดของความเชื่อที่เรามีเกี่ยวกับโลก” เสริมด้วยคำพูดของนักประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม Richard Tarnas ด้วยว่า “โลกทัศน์สร้างโลก”
พวกเราแต่ละคนต่างก็ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความเข้าใจที่เราสร้างขึ้นมาเอง ว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวทำงานอย่างไร ทั้งธรรมชาติ พฤติกรรมผู้คน กลไกทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งคุณค่าของมัน นี่แหละที่เรียกว่าโลกทัศน์
โลกทัศน์ไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่มันถูกหล่อหลอมเข้ากับตัวเราผ่านการรับรู้และประสบการณ์ โดยเริ่มตั้งแต่วินาทีที่เราลืมตาดูโลกจากการสังเกตและซึมซับคนรอบข้าง ทั้งพ่อแม่และญาติๆ และขยายวงกว้างขึ้นเมื่อเราเติบใหญ่ จนตกผลึกออกมาอยู่ในรูปของศรัทธาและคุณค่า มันกลายเป็นกรอบที่กำหนดพฤติกรรมและทัศนคติของเรา เป็นตัวสร้างความหมายให้แก่ชีวิตของเราแต่ละคน
เราอาจรู้หรือไม่รู้ตัวว่าเรามีโลกทัศน์เป็นของตัวเอง อาจไม่สามารถบอกออกมาได้ชัดเจนว่ามันเป็นอย่างไร แต่หากเรามีความเชื่ออะไรบางอย่าง และดำเนินชีวิตตามความเชื่อนั้น นั่นหมายความว่าเรามีโลกทัศน์ในแบบของเราเอง
โลกทัศน์ของเรามีที่มาจากสองทาง
ทางแรกคือโดยการหล่อหลอมขึ้นมาจากเสรีภาพของตัวเราเองผ่านปัจจัยอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น:
●
ความเชื่อในเรื่องศาสนา เช่นการมีอยู่หรือไม่มีพระเจ้า บทบาทของพระเจ้าหรือศาสดาที่มีต่อโลก คำสอนทางศาสนาว่าแน่นอนตายตัวหรือควรปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย
●
ทัศนะในเรื่องที่มาของความรู้ เช่น การเล่าเรียนจากครู การใช้ตรรกะและเหตุผล การผ่านประสบการณ์ การใช้สัญชาตญาณ หรือการใช้วิจารณญาณ
●
มุมมองที่มีต่อธรรมชาติของมนุษย์ ว่าดีงามหรือชั่วร้าย แบ่งปันหรือแก่งแย่ง ร่วมมือหรือแข่งขัน
●
มุมมองต่อสิ่งนามธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นชาติ แฟชั่น ดราม่าประจำวัน หรือระบบกลไกต่างๆ ทางสถาบัน ทั้งครอบครัวและชุมชน การเงิน-การธนาคาร รูปแบบทางเศรษฐกิจและการพัฒนา การเมือง-การปกครอง
●
มุมมองต่อเป้าหมายในชีวิตมนุษย์ เช่น ความสุข ความเจริญ คุณงามความดี สิทธิมนุษยชน หรือความยุติธรรม
●
มุมมองต่อธรรมชาติรอบตัวของมนุษย์ ว่ามีไว้เพื่อเป็นเบี้ยให้แก่มนุษย์ หรือสรรพสิ่งทั้งมวลเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ทางที่สองคือโดยการถูกป้อนมาในรูปของโลกทัศน์สำเร็จรูป ที่มาจากความพยายามเพื่อผลักดันรูปแบบโลกทัศน์ที่ตายตัวในแบบหนึ่งให้แทนที่โลกทัศน์อีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดหรือเพื่อเป้าหมายใด
ทั้งจากขบวนการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มอำนาจในสังคม (ไม่ใช่เฉพาะรัฐ แม้แต่ทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์ก็ด้วย) จากพลังขับเคลื่อนของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นพลังที่มาจากเจตนาอันบริสุทธิ์หรือมีเจตนาร้ายแอบแฝง หรือจากการป้อนโดยเทคโนโลยีอัจฉริยะผ่านเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยโดยอาศัยความขาดสติของเราเป็นช่องทาง
โลกทัศน์สำเร็จรูปที่ไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาจากเสรีภาพของตัวเราเองนั้น เรามักเรียกมันว่า “อุดมการณ์” ซึ่งเป็นโลกทัศน์ที่นำเสนอ “ความจริง” ในรูปแบบที่ตายตัว โลกทัศน์ที่ได้มาในลักษณะนี้ช่างน่ากลัวยิ่งนัก!!!
หากดูจากปัจจัยอันหลากหลายข้างต้นที่หล่อหลอมออกมาเป็นโลกทัศน์ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแจกแจงออกมาว่ามีโลกทัศน์แบบใดได้บ้าง เพราะความเป็นจริงนั้นมันช่างซับซ้อนเหลือเกิน โลกทัศน์ในโลกแห่งความเป็นจริงจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ส่งผลให้พวกเราแต่ละคน มองโลกไม่เหมือนกัน
แต่เพื่อความง่ายในการมองเห็นภาพ (และเพื่อโยงกับแบบทดสอบที่เราได้ให้ไว้ในบทความก่อน) ในบทความนี้เราจึงนำการจัดกลุ่มของโลกทัศน์โดยอ้างจากบทความทางวิชาการของกลุ่มนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ (นำโดย Annick De Witt) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Policy ในปี 2016 ที่มองโลกแห่งความเป็นจริงที่ซับซ้อนผ่านโลกทัศน์สี่แบบ
แต่การตีความเป็นของเราเองนะ หากผิดพลาดประการใดก็อย่าไปโทษคุณแอนนิคเลย ให้โทษเราเถอะ
โลกทัศน์ทั้งสี่แบบมีดังต่อไปนี้
ก. โลกทัศน์แบบดั้งเดิม หรือประเพณีนิยม (Traditional)
จุดกำเนิดของโลกทัศน์แบบนี้มักมาหลังเผชิญเหตุการณ์อันโหดร้ายที่เกิดจากความเห็นแก่ตัวหรือความสะเพร่าของคน เช่นโดนมิจฉาชีพโกง, แก๊ง 18 มงกุฎหลอกหลวง, อุบัติเหตุบนท้องถนน, ลูกหลงจากความวิวาทของผู้อื่น จนทำให้ชีวิตของคนผู้นั้นตกระกำลำบาก
หากมองในระดับชาติ มันอาจเกิดจากเหตุการณ์โกลาหลวุ่นวายที่ผู้คนในสังคมประสบร่วมกัน โดยเฉพาะที่มาจากผู้นำที่มีอีโก้สูง ที่อาจชี้นำการพัฒนาของชาติไปในทางที่ผิด หรือเข้ามาแสวงหาอำนาจเพื่อตักตวงผลประโยชน์สู่กลุ่มของตน จนนำไปสู่ความวิบัติในวงกว้าง และก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในสังคม
เนื่องจากคนที่มีโลกทัศน์แบบนี้มองว่าต้นตอของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากข้อบกพร่องของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสันดานของคน การขาดวิสัยทัศน์ของผู้นำ หรือจากการแหกกฎของคนบางกลุ่ม พวกเขาจึงมักระแวงในความเป็นปัจเจกชน และเคร่งครัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีที่คุ้นเคย
พวกเขามักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง นอกจากมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่กระทบต่อความมั่นคงในชีวิต
นอกจากนี้พวกเขายังให้ความสำคัญต่อผู้คนที่แวดล้อมตน เพราะความที่รู้จักคนเหล่านั้นดี และเชื่อใจพวกเขา เช่นครอบครัวและเพื่อนฝูง และอาจขยายไปถึงชุมชนและชาติ ขึ้นอยู่กับบริบทของเหตุการณ์ที่คนผู้นั้นเผชิญ
โลกทัศน์แบบนี้จึงมักมองการเสียสละส่วนตนเพื่อส่วนรวมว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ พวกเขามักให้ความสำคัญต่อคุณค่าที่นำมาสู่ความแน่นอนและความมั่นคง เช่น ความสมัครสมานสามัคคี ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การอยู่ในระเบียบวินัย การมีมารยาทต่อผู้อื่น และความถ่อมตน
แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มักระแวงในความหลากหลาย เพราะมองว่ามันเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้ง (ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับความมั่นคง) จึงมักสนับสนุนแนวคิดที่เน้นความสมานฉันท์และสอดคล้องต้องกัน ซึ่งบางทีก็ถึงกับทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างไม่มีความยืดหยุ่น
มันจึงทำให้พวกเขามองทุกอย่างเป็นขาวกับดำ จนนำไปสู่ข้อสรุปที่มีเพียงถูกหรือผิด แบ่งผู้คนเป็นพวกฉันและพวกเธอ และมักรังเกียจคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตน จนอาจคุกคามแนวคิดอื่นที่มีในสังคม
ข. โลกทัศน์แบบทันสมัย หรือโมเดิร์น (Modern)
จุดกำเนิดของโลกทัศน์แบบนี้มาจากความอัดอั้นที่เห็นการใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีมาเป็นเครื่องมือเพื่อบีบคั้นผู้คนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับโลกทัศน์แบบดั้งเดิม คนในกลุ่มนี้จึงมักเน้นถึงค่านิยมทางวิทยาศาสตร์และการใช้หลักคิดแนวเหตุผล โดยอ้างว่ามันเป็นการปลดปล่อยปัจเจกไม่ให้ถูกคุมขังจากความคิดที่งมงายและกฎเกณฑ์ที่ไร้ข้อพิสูจน์
พวกเขายืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับโลกทัศน์แบบดั้งเดิมอย่างสุดโต่ง เช่น การไม่เชื่อในขนบธรรมเนียมประเพณีหากไม่มีเหตุผลรองรับถึงความคงอยู่ของมัน หรือการดูแคลนแนวคิดที่หล่อหลอมผู้คนให้สามัคคีกันหากแนวคิดนั้นมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปัจเจก
มันทำให้พวกเขามองโลกทัศน์แบบดั้งเดิมว่าไร้ความคิดและโง่ที่เสียสละตนเองให้กับเรื่องที่ไร้เหตุผล พวกเขาจึงมักให้คุณค่าต่อความทันสมัยและเชิดชูความเป็นปัจเจก เช่น สิทธิมนุษยชน ความเป็นอิสระเสรี ความเสมอภาค การยืนบนลำแข้งด้วยตนเอง ความสำเร็จส่วนบุคคล ความสุขสบายและความเพลิดเพลิน
มันจึงทำให้พวกเขาพยายามถีบตัวเองเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตนยึดถือคุณค่า โดยการทำงานหนักเพื่อแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง การไขว่คว้าหาตำแหน่งแห่งหนในสังคม การมีสถานะที่ได้รับการยอมรับจากผู้คน และการจับจ่ายใช้สอยทุกอย่างที่ตนเห็นว่าสมควร
ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ชีวิตของพวกเขาไร้ความหมาย
พวกเขาอาจประสบความสำเร็จมากมาย มีเงินทองก่ายกอง มีชื่อเสียงขจรไกล ปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมใจอยาก แต่พวกเขาก็กลายเป็นหนูปั่นจักรที่ติดอยู่ในกับดักความสำเร็จของตัวเอง พวกเขาอาจมีอิสระทางกายแต่ก็กลายเป็นทาสของความอยากทางวัตถุ อาจไม่มีบุคคลใดมาบังคับเขาได้แต่ก็กลายเป็นทาสของสิ่งเร้าจากภายนอกจนถูกชักจูงโดยกลไกที่มองไม่เห็นตัวตน
พวกเขากลายเป็นคนหยาบกระด้างต่อความรู้สึกภายในของตน จนค้นพบว่าชีวิตตนนั้นช่างว่างเปล่าก็ต่อเมื่อสายไปเสียแล้ว
อ้อ เกือบลืม ไม่ใช่ว่าโลกทัศน์แบบนี้ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องส่วนรวมนะ แต่พวกเขามองว่าทุกปัญหาในสังคมสามารถแก้ไขได้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ขอเพียงให้ผู้คนมีอิสระเสรีในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง ผ่านกลไกอย่างทุนนิยมตลาดเสรี ที่พวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเป็นกลไกที่เสรีอย่างแท้จริง!!!
ค. โลกทัศน์แบบข้ามสมัย หรือโพสต์โมเดิร์น (Post-modern)
ในขณะที่โลกทัศน์ทั้งสองแบบข้างต้นมองว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว โลกทัศน์แบบข้ามสมัยมองว่า ความจริงมีอยู่มากมายเต็มไปหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มุมมองแบบใดในการมองโลก
จุดกำเนิดของโลกทัศน์แนวนี้มาจากการตอบกลับกลุ่มแนวคิดโมเดิร์นว่าความเป็นจริงบนโลกไม่ได้ดำเนินตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมเสมอไป แต่เป็นไปตามความเข้าใจที่มนุษย์เรามีต่อโลก ความเป็นจริงที่เราเห็นต่างก็ถูกผูกเรื่องราวมาแล้วทั้งนั้น
แน่นอนว่ากฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวกำหนดโลกทางกายภาพ แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ หรือไม่อาจอธิบายได้เลยก็เป็นได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรมที่โลกทัศน์แบบนี้ให้คุณค่า เช่น อารมณ์ความรู้สึก ความปรารถนา ความคิดสร้างสรรค์ ศีลธรรมและความถูกต้อง การตีความและความคิดเห็น จินตนาการ สามัญสำนึก สัญชาตญาณ เป็นต้น
กลุ่มนี้มองว่าสิ่งที่สร้างโลกคือมโนทัศน์ของคนเรานั่นเอง มีคำพูดหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ “ประวัติศาสตร์ที่เราเห็นว่าเป็นแบบนั้น ก็เพราะเรื่องเล่าของมันยังน่าเชื่อถืออยู่”
แนวคิดแบบนี้ให้อำนาจแก่มนุษย์ในฐานะปัจเจก ในการขีดเส้นทางให้แก่ตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใดมากำหนด ไม่ว่าจะเป็นชะตาฟ้าลิขิตตามโลกทัศน์แบบดั้งเดิม หรือศักยภาพทางเทคโนโลยีตามโลกทัศน์แบบทันสมัย พวกเขามองว่าคุณค่าจากโลกทัศน์ทั้งสองมักถูกนำไปรับใช้กลุ่มอำนาจในสังคมทั้งสิ้น ซึ่งเป็นต้นตอของความอยุติธรรมในสังคม
ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายการใช้ชีวิตของกลุ่มโพสต์โมเดิร์นคือการ “อธิบายเรื่องเล่า” ของกลุ่มอำนาจ เพื่อปลดปล่อยสังคมจากการถูกครอบงำผ่านเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้น
แต่ก็ด้วยแนวคิดที่เห็นความหลากหลายในคุณค่านี่เอง บางทีก็ส่งผลให้พวกเขาปฏิเสธคุณค่าทุกประการ เนื่องจากพวกเขามักมองเห็นเพียงข้อบกพร่องในคุณค่าเหล่านั้น และมองว่าท้ายสุดคุณค่าทั้งหลายแหล่ก็เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์บางประการให้แก่ผู้ยึดถือคุณค่าแบบนั้น
พวกเขามองว่าไม่มีสิ่งใดที่มีความเที่ยงแท้ ไม่มีสิ่งใดสลักสำคัญ ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างมีเลศนัย ส่งผลให้พวกเขาไม่มีหลักใดๆ ให้ยึด นอกจากการหลงตัวเองว่าตนสามารถมองเห็นในสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็น
การมีโลกทัศน์แบบข้ามสมัยทำให้พวกเขาไม่อาจรู้ได้อีกต่อไปว่าสิ่งใดเป็นความจริง และสิ่งใดมีคุณค่าที่แท้จริง!!!
ง. โลกทัศน์แบบเอกภาพ หรืออินทิกรัล (Integrative)
ความเป็นจริงของโลกที่ถูกมองผ่านโลกทัศน์แบบนี้มีความซับซ้อนยิ่งกว่าโลกทัศน์แบบที่กล่าวมาทั้งสามนัก กลุ่มนี้มองว่าโลกของเราประสานไปด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณปะปนกันไป
คำว่าจิตวิญญาณไม่ได้หมายถึงสิ่งลี้ลับใดๆ แต่มันหมายถึงความเป็นจริงที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นพบและพิสูจน์ได้ น่าเสียดายที่คำนี้ได้ถูกไสยศาสตร์ปล้นไปเสียแล้ว ทำให้มันมีความหมายในแง่ลบ โดยเฉพาะสำหรับผู้นิยมโลกทัศน์แบบทันสมัย
โลกทัศน์แบบนี้พยายามมองหาความเป็นเอกภาพ หรือความเป็นหนึ่งเดียว ท่ามกลางการกระจัดกระจายของทุกสิ่ง มีคำพูดหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ “ข้อบกพร่องพื้นฐานในธรรมชาติมนุษย์คือเราพยายามมองหาเพื่อยกย่องความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของปัจเจก โดยไม่ตระหนักเลยว่าเราต่างก็เหมือนกันที่ต้องเกิดแก่เจ็บตายในสังคมนี้ร่วมกันทั้งสิ้น”
ในขณะที่พวกเขามองเหมือนกับโลกทัศน์แบบข้ามสมัยว่าความจริงมีอยู่มากมายเต็มไปหมด พวกเขาไม่ได้ตั้งแง่ถึงคุณค่าของความจริงเหล่านั้นว่าเป็นไปเพื่อสนองประโยชน์ของใครหรือสิ่งใด แต่พวกเขามองทุกสิ่งอย่างที่มันเป็นโดยปราศจากอคติ และพยายามมองลึกลงไปเพื่อค้นหาคุณค่าที่แท้จริง ซึ่งพวกเขาคาดหวังว่าจะเป็นคำตอบให้แก่สิ่งท้าทายในโลกปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความแตกแยกในสังคม วิกฤติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การดำรงชีวิตอย่างยากลำบากจากพฤติกรรมของตัวเอง การเป็นวัฒนธรรมแห่งความฟุ้งซ่าน การหลงเชื่อในข้อมูลที่บิดเบือนอย่างง่ายดาย ความว้าวุ่นในใจคน การมีชีวิตที่ไร้ความหมาย ฯลฯ
โลกทัศน์แบบเอกภาพพยายามมองถึงความเชื่อมโยงหรือแบบแผน (pattern) ที่มีร่วมกันของสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้าม เช่นวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ ระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศน์ ทุนนิยมและสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา อำนาจและการเสียสละ รูปธรรมและนามธรรม ถูกและผิด ดีและชั่ว
เพื่อเชื่อมสิ่งเหล่านี้ด้วยคุณค่าที่มีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อเท็จจริง การมีสัมพันธภาพซึ่งกันและกัน การพึ่งพาอาศัยกัน ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน โอกาสแห่งการประสานร่วมมือกัน ความกลมกลืนกัน ความสงบสุขและสันติที่ต่างก็ถวิลหาเหมือนกัน
ซึ่งคุณค่าสูงสุดที่โลกทัศน์แบบเอกภาพยึดถือคือการมีสติ การตระหนักรู้ในตนเอง และการค้นหาตัวตนที่แท้จริง เพื่อเป้าหมายสู่การอยู่แบบผสมผสานกับสิ่งรอบตัวอย่างเป็นสุข
แต่การเป็นคนมองภาพของสรรพสิ่งแบบองค์รวม บางทีก็ทำให้คนในกลุ่มนี้มีความรู้สึกที่ท่วมท้น พวกเขาอาจกลายเป็นคนที่มีความประนีประนอมสูงจนไม่อาจหาแนวทางที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอย่างลงตัว หรืออาจปฏิเสธข้อจำกัดบางประการของแนวทางแก้ไขสิ่งท้าทายที่สามารถทำได้ในความเป็นจริง
การมีเป้าหมายชีวิตที่สูงส่งแบบในอุดมคติก็อาจทำให้คนในกลุ่มนี้มีความยโสในตัวเอง บางคนอาจรู้สึกว่าผู้อื่นไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตนพูด ทำให้พวกเขาเบือนหน้าหนีจากความวุ่นวายในสังคม และปลีกวิเวกเข้าหาธรรมชาติเพื่อเสาะแสวงหาความสงบสุขในใจตน กลายเป็นคนที่เพิกเฉยต่อสังคมในที่สุด
คิดเห็นอย่างไรกันบ้างกับโลกทัศน์ทั้งสี่ข้างต้น แบบทดสอบที่ให้ไว้ในบทความคราวที่แล้วก็ตรงกับโลกทัศน์ทั้งสี่ที่พูดถึงนี้ พวกเธอที่ทำแบบทดสอบก็สามารถดูได้ว่าตรงกับตัวเองไหม เห็นด้วยหรือไม่ในข้อใดก็ทักท้วงกันได้
อย่างเช่นผลจากแบบทดสอบของตัวเราเองออกมาดังนี้ — ก:ข:ค:ง = 10:8:21:33 ผลนี้บอกได้ว่าเรามีโลกทัศน์ทั้งสี่แบบกระจายอยู่ในตัวเอง บ่งบอกได้ว่าเราคงไม่ได้ถูกครอบงำผ่านอุดมการณ์ใดๆ (รึเปล่านะ) โดยที่โลกทัศน์หลักที่เรามีคือแบบเอกภาพ (ง) บางครั้งเราก็มองโลกแบบข้ามสมัย (ค) แต่ก็ไม่ได้ละเลยความดั้งเดิม (ก) หรือความทันสมัย (ข) แต่อย่างใด
โลกทัศน์ของเราเอง
โลกทัศน์ที่พวกเรามีมักสะท้อนออกมาผ่านแนวคิดและการกระทำของเรา มันไม่หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา
ในระดับบุคคล การเปลี่ยนโลกทัศน์อาจใช้เวลาเป็นเดือนๆ หรือเป็นแรมปี อยู่ที่ว่าคนผู้นั้นเปิดใจตัวเองในการรับมุมมองใหม่มากน้อยเพียงใด อย่างตัวเราเองก็คงเคยมีโลกทัศน์หลักเป็นแบบอื่นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แล้วมันก็คงเปลี่ยนไปมาจนมาเป็นในแบบปัจจุบัน ในอนาคตมันก็คงเปลี่ยนไปจากนี้
ในระดับชาติ (หรือแม้แต่ในระดับโลก) เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมยึดถือคุณค่าที่คล้ายๆกัน โลกทัศน์แบบนั้นก็จะอยู่ในกระแสหลัก กฎระเบียบและประเพณีในสังคมก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตามโลกทัศน์ที่แปรเปลี่ยนไป แต่กระบวนการนี้อาจใช้เวลา 1-2 ช่วงชีวิตคน ขึ้นอยู่ที่ว่าโลกทัศน์นั้นถูกหล่อหลอมมาจากเสรีภาพของคนในชาติ หรือมาจากการปลูกฝังผ่านอุดมการณ์
หากมาจากเสรีภาพ มันก็คงไม่ยากที่จะสมาน แต่หากเป็นอุดมการณ์ เราคงต้องอดทนกับความสามานย์ยาวนานสักหน่อย จะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแรงเสียดทานจากอำนาจของโลกทัศน์หลักที่มีอยู่ขณะนั้น
แต่โลกทัศน์ก็เหมือนสัจธรรมในเรื่องอื่น การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ และหากเธอใช้ชีวิตอย่างมีสติและเปิดใจตัวเองมากพอ ความสามานย์ก็จะสมานในท้ายที่สุด...
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย