27 มิ.ย. 2022 เวลา 01:11 • ไลฟ์สไตล์
“อาศัยสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่น
อย่าไปบังคับจิตให้ตั้งมั่น
จิตเหมือนเด็ก ไม่ชอบให้ใครบังคับ
บังคับแล้วเครียด เครียดแล้วไม่มีสมาธิ”
1
“ … ฝึกสมาธิชนิดที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
ส่วนสมาธิ วิธีฝึก สอนอยู่เป็นประจำ
วิธีฝึกให้จิตได้สมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง
สมาธิชนิดที่หนึ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน จิตเพ่งอยู่ที่ตัวอารมณ์
สมาธิชนิดที่สองเรียก ลักขณูปนิชฌาน จิตไปสนใจอยู่ที่ไตรลักษณ์ ที่ลักษณะคือไตรลักษณ์
เพราะฉะนั้นอารัมมณูปนิชฌานนี่แบบหนึ่ง
ลักขณูปนิชฌานเป็นอีกแบบหนึ่ง
ท่องปริยัติมาอย่างไรก็แยกไม่ออกหรอก ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วย ท่านเก่ง หลวงปู่เทสก์ท่านเก่งเรื่องสมาธิ
ที่ท่านเก่งเรื่องสมาธิ เพราะท่านเคยติดสมาธิอยู่ตั้ง 10 กว่าปี หลวงปู่มั่นแก้ให้ท่านก้าวสู่การเจริญปัญญาไปได้ เป็นผู้นำครูบาอาจารย์สายวัดป่าอยู่ช่วงหนึ่งจนท่านสิ้นไป ถัดมาก็เป็นรุ่นหลวงตามหาบัว
1
หลวงปู่เทสก์ท่านสอนสมาธิไว้ 2 อย่าง อันหนึ่งคือสมาธิที่เพ่งอารมณ์ ก็คือตัวอารัมมณูปนิชฌานนั่นเอง อีกอันหนึ่งเป็นสมาธิที่ใช้เจริญปัญญา ก็คือลักขณูปนิชฌาน แต่ท่านไม่ได้เรียกอย่างนี้ ท่านเรียกสมาธิกับฌาน ท่านเรียกย่อๆ
ตัวคำว่าฌานของท่านก็คือ อารัมมณูปนิชฌาน
คำว่าสมาธิของท่านหมายถึง ลักขณูปนิชฌาน
วิธีฝึกให้ได้อารัมมณูปนิชฌาน อารัมมณูปนิชฌานก็คือการที่จิตมันเพ่ง สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำอารัมมณูปนิชฌาน จะฝึกให้จิตสงบ ต้องหาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ที่จิตไปรู้
คำว่าอารมณ์ไม่ใช่ความรู้สึกอะไรหรอก คำว่าอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนาคือสิ่งที่ถูกรู้ ตัว object สิ่งที่ถูกรู้
เพราะฉะนั้นเราต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ไว้สักอย่างหนึ่ง อย่างมากไม่เกิน 3 อย่าง
เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจอันหนึ่ง พุทโธเป็นอันหนึ่งอันที่สองแล้ว
บางท่านหายใจเข้าพุทออกโธยังไม่พอ จิตยังฟุ้ง ท่านก็มีอันที่สาม มีการนับเลขด้วย เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง อันนี้หลวงพ่อเรียนมาตั้งแต่ตอน 7 ขวบ
ครูบาอาจารย์ที่สอนเรื่องนี้ที่หลวงพ่อเรียนด้วย ก็คือท่านพ่อลี วัดอโศการาม ท่านสิ้นไปตั้งแต่อายุไม่มากเป็นโรคกระเพาะ ยุคนั้นการแพทย์ยังไม่ค่อยเก่ง
ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน หาอารมณ์กรรมฐานสักอย่างหนึ่ง หรืออย่างมากก็ 2 อย่าง หรืออย่างมากที่สุด 3 อย่าง อย่าเยอะ เยอะแล้วจิตใจจับจด
เวลาเราจะทำอารมณ์กรรมฐานอันหนึ่ง ทำอารัมมณูปนิชฌาน อยู่กับอารมณ์อันนั้นไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ได้
จะดูท้องพอง จะดูท้องยุบก็ได้
หรือท่องพุทโธเฉยๆ ก็ได้
อารมณ์ของสมถกรรมฐานใช้ได้ทั้งหมด
ใช้อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดก็ได้
เช่นคิดพิจารณาร่างกาย พิจารณาปฏิกูลอสุภะ พิจารณาความตาย หรือพิจารณาอะไรก็ได้
หรือบริกรรมต่างๆ อันนี้เป็นอารมณ์บัญญัติ จะพุทโธ สัมมาอรหัง นะ มะ พะ ทะ เหมือนกันหมดล่ะ ยุบหนอ พองหนอ
ถ้าบริกรรมขึ้นมามันก็คืออารมณ์บัญญัติเหมือนกันหมด ใช้อารมณ์บัญญัติก็ทำสมาธิชนิดสงบได้
เช่นเราพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ
ตอนไหนใจฟุ้งซ่านเราก็พุทโธเร็วๆ
ตอนไหนใจสงบมันก็พุทโธช้าลง
เช่น พุทโธๆ กว่าจะใจสงบ
เวลาใจฟุ้งซ่านมันจะหนีไปคิดอุตลุดเลย
พยายาม ใจมันดิ้นๆๆ จะไปคิด
เราก็พุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆ พุทโธๆๆ
อย่าให้มันมีช่องโหว่ที่มันจะหนีไป
ทำไปเรื่อยๆ ใจมันจะค่อยๆ calm down
ค่อยๆ เชื่องลงมา ในที่สุดจิตใจมันก็สงบ
จะใช้อารมณ์รูปธรรมก็ได้ ใช้นามธรรมก็ได้
อย่างหลวงพ่อเคยเล่นตั้งแต่เด็ก ชอบๆ จุดเทียนเข้าแล้วก็นั่งดูไฟ ชอบมาแต่เด็กเลยเรื่องไฟ นั่งดูไฟมีความสุข จะหลับตามันก็สว่างขึ้นมา ก็เล่นไปเรื่อยๆ ใจก็ไม่วอกแวกไปที่อื่น เพราะใจมันชอบดูไฟ
ถ้าใจมันชอบดูไฟ เราก็นั่งดูไฟ ไปจุดเทียนเข้าสักอันแล้วก็นั่งดู จิตใจมีความสุข เคล็ดลับของการทำสมาธิชนิดสงบ ก็คือ ความสุข
ฉะนั้นอย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ มี 2 อันกรรมฐานที่หลวงพ่อใช้
คือใช้ลมหายใจกับพุทโธประกอบกันนี่อันหนึ่ง
อีกอันหนึ่งคือเล่นกสิณไฟ เล่นไฟ นั่งดูไฟ ชอบดูไฟ
เราเห็นไฟแล้วมีความสุข
พอมีความสุขใจมันก็สงบ
หรือชอบหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
หายใจไปแล้วมีความสุข
พอใจเรามีความสุขสมาธิชนิดสงบจะเกิดขึ้นทันทีเลย
1
ในตำราเขาก็สอนดีบอกว่า “ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ” เราต้องไปฝึกเอา
ฝึกแล้วได้อะไร เราได้ที่พักผ่อน
เวลาที่เราเจริญวิปัสสนาจิตใช้พลังงานมาก
พอใช้พลังงานมากสักพักหนึ่งกำลังไม่พอแล้ว
กำลังไม่พอเราก็กลับมาพักผ่อน
ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว
จิตจะมีกำลังแข็งแรงถ้าจิตหยุดนิ่ง
ร่างกายจะแข็งแรงถ้าเคลื่อนไหวเป็นประจำ
กลับกัน ร่างกายเรา เรา exercise ทุกวันก็แข็งแรง เคลื่อนที่ไป
แต่จิตหยุดแล้วก็จะแข็งแรง
จิตของเราไม่เคยหยุดเลย ฟุ้งซ่านทั้งวัน คิดโน้นคิดนี้ทั้งวัน เราก็มาให้มันคิดเรื่องเดียว
เช่น มาคิดเรื่องพุทโธ คิดเรื่องไฟ คิดเรื่องลม
คิดเรื่องอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง
คิดถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรก็ได้
ให้มันอยู่ในเรื่องเดียว แล้วถ้าใจเราชอบอันนั้น
ต้องไปดูตัวเองว่าอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไร แล้วมีความสุข เอาอันนั้นล่ะ ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น เราถนัดอะไรเราเอาอันนั้น
1
พอใจเรามีความสุขอยู่ในอารมณ์อันนั้น
จิตใจก็ไม่หนีไปหาอารมณ์อันอื่น
จิตที่ไม่มีสมาธิ จิตที่ฟุ้งซ่าน
คือจิตที่วิ่งไปจับอารมณ์โน้นทีจับอารมณ์นี้ที
วิ่งไปดูรูปไม่มีความสุข
ก็วิ่งไปฟังเสียงก็ไม่มีความสุข
เหมือนบางคนไปดูหนังนึกว่าจะมีความสุข
มันสุขนิดเดียวไม่สุขอีกแล้ว
ไปฟังเพลงนึกว่าจะมีความสุขก็ไม่สุขอีกแล้ว
เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใจมันไม่อิ่ม มันไม่เต็ม
เพราะมันไม่มีความสุข
ถ้าเรามาทำกรรมฐานอยู่ในอารมณ์ที่อยู่แล้วใจมีความสุข ใจก็ไม่หิวอารมณ์อันอื่น ใจก็ไม่วิ่งแส่ส่ายไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนี้เรียกว่าเราได้อารัมมณูปนิชฌาน
1
ได้สมาธิชนิดที่หนึ่งเอาไว้พักผ่อน
เวลาต้องการพักผ่อนก็ใช้สมาธิอย่างนี้
เวลาจะเล่นอภิญญาเล่นอะไรก็ใช้สมาธิชนิดนี้
ไม่ใช่ชนิดอื่นหรอก
แต่เรื่องอภิญญาอะไรนี่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกสิณ
พวกเราอย่าไปเล่นเลยเดี๋ยวบ้า
เล่นแล้วไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ๆ เพี้ยนไปง่ายๆ เลย
เห็นโน้นเห็นนี้ สุดท้ายแยกไม่ออก
ว่าที่เห็นจริงหรือไม่จริง ใช้ไม่ได้
อันนั้นทำไปแล้วกิเลสมากกว่าเก่า
กูเก่งกว่าคนอื่น กูรู้ กูเห็น
พวกกูรูๆ ทั้งหลาย มันมาจากกูรู้
ที่แท้ไม่รู้อะไรหรอก
ฝึกสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น เอาไว้เจริญปัญญา
ส่วนวิธีที่จะฝึกให้ได้สมาธิชนิดตั้งมั่น
อาศัยสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่น
อย่าไปบังคับจิตให้ตั้งมั่น
จิตเหมือนเด็กไม่ชอบให้ใครบังคับ
บังคับแล้วเครียด เครียดแล้วไม่มีสมาธิ
เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เคยใช้กรรมฐานอะไรก็ใช้อันนั้น แต่ปรับขึ้นนิดหนึ่ง อย่างแต่เดิมเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เราเห็นร่างกายหายใจไปเรื่อยๆ แล้วใจสงบ เราปรับนิดหนึ่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วรู้ทันจิตตัวเอง
ถ้าจิตมันหนีไปคิดรู้ทัน
จิตมันถลำไปเพ่ง เพ่งลมหายใจ
เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง
เพ่งอะไรก็รู้ทันเอา
หรือไปเพ่งไฟไหลไปอยู่ที่แสง รู้ทันเอา
ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา ไหลไปไหลมา
การเคลื่อนนั้นจะดับ
เพราะจิตที่เคลื่อนไปนั้นมันมีอุทธัจจะ
มีความฟุ้งซ่านอยู่ เป็นกิเลส
เรามีสติรู้ทันกิเลสมันก็ดับ จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน
จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
สมาธิชนิดนี้ สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นเอาไว้เจริญปัญญามี 3 ระดับ
ตั้งแต่ขณิกสมาธิเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นชั่วขณะ แต่ให้มันชั่วขณะบ่อยๆ ไม่ใช่วันหนึ่งชั่วขณะเดียว อย่างนั้นไม่ได้เรื่อง ต้องชั่วขณะบ่อยๆ ถี่ๆ จิตผู้รู้มันก็จะทรงตัวขึ้นมาได้
ทีแรกมันก็ไม่ได้ รู้ตัวแวบเดียวหลงยาว ผู้รู้ไม่เกิดให้เห็นหรอก แต่ถ้ามันหลงแล้วรู้ๆๆ ถี่ยิบขึ้นมา ตัวรู้มันจะเด่นขึ้นมาเลย นี้เราได้สมาธิที่ทำให้จิตเราตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่แล้ว
มันก็ถึงบทเรียนที่สามชื่อ อธิปัญญาสิกขา
หลักของอธิปัญญาสิกขา
ก็คือให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางก็คือ จิตที่มีลักขณูปนิชฌาน
แล้วมีอะไร มีสติ สติไปทำหน้าที่อะไร ไปทำหน้าที่ระลึกรู้
ไม่ใช่ไปบังคับ ทำหน้าที่ระลึกรู้อะไร
รู้รูปธรรมนามธรรม
พูดให้เข้าใจง่ายก็คอยรู้กายรู้ใจของตัวเองไป
คอยรู้สึกไป มีสติระลึกไป
แต่ระลึกด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
แล้วจะเห็นอะไร
จะเห็นว่าทุกสิ่งที่สติระลึกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น
ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น
นั่นล่ะคือการเจริญปัญญาที่แท้จริง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 พฤษภาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา