9 ก.ค. 2022 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
พระเครื่อง ประวัติศาสตร์มีชีวิต Ep 14 พระปางนาคปรกศิลปะเขมร หาใช่พระพุทธสมณโคดม : พระนาคปรกพิมพ์ใหญ่ กรุวัดราชบูรณะ อยุธยา
เรามักได้เห็นว่าพระพุทธรูปปางนาคปรกว่าเป็นที่นิยมมากในดินแดนอุษาคเนย์ ถึงขนาดถูกบัญญัติให้เป็นพระประจำวันสำหรับผู้ที่เกิดวันเสาร์ โดยความนิยมในพระพุทธรูปปางนี้สืบต่อคติความนิยมมาแต่สมัยเขมรโบราณ
โดยในความเข้าใจของคนไทยแล้วพระพุทธรูปทั่วไปย่อมหมายถึงรูปเคารพจำลองของพระสมณโคดมหรือที่เราเรียกง่ายๆว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งมีองค์เดียวในกัปปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปในยุคเขมรโบราณ ซึ่งเป็นช่วงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมฮินดูและพุทธมหายานนิกายวัชรยานแล้ว พระพุทธรูปจึงไม่ใช่รูปจำลองของสมณโคดม เพราะหาใช่พระพุทธเจ้าที่เคารพสูงสุดในวัชรยาน
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจหลักพื้นฐานของวัชรยานเสียก่อน โดยวัชรยานเชื่อว่าแต่เดิมก่อนก่อกำเนิดโลก จักรวาลเป็นอากาศว่างเปล่า ต่อเมื่อช่วงเวลาอึดใจที่กำเนิดโลกได้เกิดแสงสว่างวาบขึ้นมาพร้อมกัน(แสงคล้ายสายฟ้าแลบ จึงชื่อวัชรยาน) ณ เวลานั้นได้เกิดพระอาทิพุทธเจ้า(อาทิชื่อเฉพาะมิใช่คำแปลความหมายว่าตัวอย่าง)
ซึ่งพระอาทิพุทธเจ้านี้เป็นต้นสายกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันได้แก่พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์(คนละพระพุทธเจ้าทั้ง 5 ของเถรวาท) ถือว่าพระอาทิพุทธเจ้าเป็นกายทิพย์ที่เรียกกันว่าธรรมกาย หรือเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นกายธรรมที่แสดงความจริงอันเป็นสากลโลก อันได้แก่ ความว่างเปล่านั่นเอง ส่วนนี้จะเทียบกับเถรวาทก็คือคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ คือความไม่มีตัวตน
ทั้งนี้พระอาทิพุทธเจ้ายังมีอีกพระนามที่เฉพาะเจาะจงกว่าคือ พระมหาไวโรจนะพุทธเจ้า และเมื่อเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งมวลที่วัชรยานถือว่ามีอีกหลายพระองค์ จึงเป็นเป็นบิดาแห่งโลกทั้งมวลหรือราชาแห่งโลก และแบบนั้นเองทำให้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ดังที่ปรากฏในศิลปะเขมรโบราณ
ซึ่งการทรงเครื่องแบบกษัตริย์นี้เองที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าพระพุทธรูปนาคปรกเขมร มิใช่รูปเคารพจำลองของพระไภษัชยครุ พระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรค(เภสัชกรรมก็อาศัยรากศัพท์จากชื่อของท่าน) ซึ่งมีหลายคนเคยชี้เอาไว้ เพราะแม้พระไภษัชยครุจะเป็นราชาปกครองมัณฑละตะวันออกในความเชื่อมหายาน แต่พระองค์จะไม่ทรงเครื่องแบบกษัตริย์เฉกเช่นพระมหาไวโรจนะ
ในส่วนของพระพุทธรูปปางนาคปรกแบบเขมรที่มีลักษณะคล้ายบาตรหรือหม้อยาที่พระหัตถ์จนเข้าใจว่าเป็นพระไภษัชยครุนั้น แท้จริงคือกรวยดอกไม้แบบที่คนเขมรโบราณนิยมนำมาสักการะ(ในหลวงพระบางยังนิยมใช้กรวยดอกไม้แบบนี้ใส่บาตรข้าวเหนียวแสดงการสักการะ ส่วนไทยพัฒนาเป็นพวงมาลัยในเวลาต่อมา) แต่ด้วยพื้นที่และการพัฒนารูปแบบช่างจึงทำให้คลาดเคลื่อนไป
ในขณะที่นาคแผ่พังพานตามความเข้าใจของคนไทยและเถรวาทคือพญานาคมุจรินทร์ขึ้นแผ่พังพานป้องกันหยาดฝนแก่พระพุทธเจ้าสมณโคดม หากแต่ในส่วนของเขมรโบราณก็มิใช่พญานาคมุจรินทร์ แต่เป็นการผสานความเชื่อดังเดิมที่ว่าชนกัมพูชาเกิดจากเจ้าชายจากอินเดียสมสู่กับเจ้าหญิงนาค ดังนั้นในเมื่อพระมหาไวโรจนะคือบิดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งมวล เปรียบได้กับเจ้าชายอินเดียบิดาแห่งกัมโพชแล้ว
1
นาคเบื้องหลังก็คือโสมะเทวี กัมพุชะนาคราชผู้เป็นเจ้าหญิงแห่งนาค มารดาแห่งชาวกัมโพช พระปางนาคปรกจึงเปรียบได้กับรูปเคารพบรรพบุรุษแห่งชาวเขมรโบราณ ทั้งยังเป็นการกล่าวอ้างว่าชาวกัมโพชประดุจสืบเชื้อสายจากพระมหาไวโรจนะและพระนางโสมะเทวี จึงถือว่าชาวกัมโพชมีเชื่อสายวรรณะสูงส่งกว่าใคร โดยเฉพาะกษัตรเขมรโบราณ
พระนาคปรกพิมพ์ใหญ่ กรุวัดราชบูรณะ สร้างขึ้นราวหลัง พศ 1967 ไม่นานนัก ในสมัยเจ้าสามพระยา รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยมีการสร้างพระปรางค์ขนาดใหญ่ ภายในมีกรุมหาสมบัติและประดิษฐานพระบรมสารีรักธาตุ โดยพระพิมพ์ที่บรรจุถวายเป็นพุทธบูชา มีทั้งแบบของเก่าที่นำมาบรรจุในคราวสร้างพระปรางค์
และพระที่สร้างใหม่เพื่อการนี้เช่นกัน โดยพระที่สร้างขึ่นใหม่มีทั้งแบบที่ล้อพิมพ์ศิลปะแบบเดิมที่มีอยู่ก่อน ทั้ง สุโขทัย อู่ทอง ลพบุรี และแบบที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น อยุธยาระยะที่ 1 โดยพระปางนาคปรกพิมพ์ใหญ่เป็นพระที่ล้อพิมพ์จากพระปางนาคปรกกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
ซึ่งเป็นพระที่ได้อิทธิพลศิลปะเขมรในประเทศไทยช่วงสุดท้ายก่อนเขมรโบราณเสื่อมอำนาจลงได้แก่ศิลปะแบบบายน แต่จากลักษณะโดยทั่วไปและเนื้อหามิใช่พระที่ชะลอมาจากลพบุรีเพื่อมาบรรจุกรุที่นี่ น่าจะเป็นพระที่สร้างขึ้นในอยุธยาคราวนั้นนั่นเอง
ในส่วนนี้เป็นการบอกเล่าผ่านมุมมองความคิดความเชื่อ และการตีความด้วยตนเอง จากการรับข้อมูลจากอาจารย์หลายๆ ท่านในแวดวงประวัติศาสตร์ หากผิดพลาดประการใดเป็นเพราะความอ่อนด้อยของผมเอง จึงกราบขออภัยมา ณ ที่นี่ครับ
โฆษณา