28 มิ.ย. 2022 เวลา 07:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ROE
ROE เป็นอัตราส่วนที่สำคัญทางการเงินอย่างหนึ่ง ในการวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และใช้เป็นตัวตัดสินใจอันหนึ่งว่า กิจการนั้นน่าลงทุนหรือเปล่า มารู้จักเรื่องของอัตราส่วนที่สำคัญทางการเงินตัวนี้กัน
ส่วนใครชอบแบบอ่านไปเรื่อย มาค่อยๆ อ่านกันได้เลยค่ะ
1. ROE(Return on Equity) คิดมาจาก
กำไรสุทธิ(Net Profit) หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น(Equity)
ROE = กำไรสุทธิ x 100 / ส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อทำให้เป็น %
ค่านี้จึงเป็นอัตราส่วนที่สำคัญในการวัดความสามารถในการทำกำไร ถ้าค่านี้ยิ่งสูงแสดงว่าบริษัทสามารถบริหารเงินทุนได้ดี
2. ค่า ROE จะแปลความได้ว่าแบบนี้ ถ้า ROE = 10% หมายถึง บริษัททำกำไรได้ 10 บ. จากเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น 100 บ. (ส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ก็คือส่วนทุนของกิจการ)
3. ROE ยิ่งสูง ยิ่งดี แสดงว่าบริษัทมีความสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี เช่น กิจการหนึ่ง ROE 20% กับอีก กิจการหนึ่ง ROE 10% ก็จะเห็นว่ากิจการที่ทำ ROE ได้ 20% ก็จะน่าสนใจกว่า เพราะจากเงินของผู้ถือหุ้น 100 บ. ทำกำไรได้ 20 บ.
4. ถ้าบริษัทที่มีหนี้สินน้อย ค่า ROE จะใกล้กับค่า ROA เพราะ ROA (Return on Asset) คิดมาจาก กำไร/ สินทรัพย์รวม ซึ่งสินทรัพย์รวม นั้นเท่ากับ ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินรวม
เราก็จะเห็นว่า ถ้าไม่มีหนี้สินเลย สินทรัพย์รวมก็จะเท่ากับส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งจะทำให้ค่า ROE = ROA
5. ROE ที่สูงนอกจากมีความสามารถในการทำกำไรได้ดี อาจแสดงถึงว่าบริษัทสามารถใช้พลัง leverage จากหนี้สินได้ดีซึ่งเหมือนจะเป็นข้อดี แต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องระวังเหมือนกัน
เช่น เราซื้อคอนโดปล่อยเช่าราคา 2 ล้านบาท โดยที่เป็นเงินเราเอง 1 ลบ. และกู้มาอีก 1 ลบ. ปล่อยเช่าได้กำไร 1 แสนบาทต่อปี เท่ากับเราทำ ROE ได้เท่ากับ
กำไร 1 แสนบาท/ ส่วนเงินเรา 1 ล้านบาท = 10%
แต่เพื่อนเราซื้อคอนโดเปล่อยเช่าทุกอย่างเหมือนกับเรา แต่เขาใช้เงินตัวเองแค่ 5 แสนบาท นอกนั้นอีก 1.5 ลบ. กู้มา เพื่อนเราจะทำ ROE ได้เท่ากับ กำไร 1 แสนบาท/ เงินส่วนที่ออกเอง 5 แสนบาท ROE = 20%
จากตัวอย่างจะเห็นว่า เพื่อนเราจะมีหนี้สินมากกว่า นอกนั้นเหมือนกัน แต่ทำให้ ROE ของเขาดูดีขึ้นกว่าเราได้ แต่หนี้สินที่มากเกินไปก็ต้องระวัง เพราะถ้ามีวิกฤตขาดรายได้ หนี้ที่มากจะทำปัญหาได้
6. ROE จะใช้เทียบระหว่างกิจการได้ดี กิจการที่จะนำมาเทียบกันควรมีสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นใกล้ๆ กัน
สัดส่วนหนี้สิน(Debt) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น(Equity) หรือ D/E ratio จากตัวอย่างในข้อ 5
เราจะมี D/E ratio = 1 เท่า เพราะหนี้เรา 1 ลบ. เงินทุนเราเอง ก็ 1 ลบ.
ส่วนของเพื่อน D/E ratio = 3 เท่า เพราะกู้มา 1.5 ลบ. เงินตัวเองแค่ 0.5 ลบ.
เพราะจากที่เล่าให้ฟังข้างต้นในข้อ 5 นะ
7. นอกจากดูว่า ROE ยิ่งสูง ยิ่งดีแล้ว ความสามารถรักษา ROE ได้สม่ำเสมอ ก็สำคัญ
เพราะปกติแล้วเวลาที่บริษัททำกำไรสุทธิได้ในแต่ละปีนั้น ส่วนหนึ่งก็จะปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้น อีกส่วนก็จะเก็บเข้าเป็นเงินทุนต่อไปของกิจการ ซึ่งเงินทุนตรงนี้ก็จะมาบวกเข้าไปเรื่อยๆ ในส่วนของกำไรสะสม ซึ่งกำไรสะสมเป็นส่วนหนึ่งของ "ส่วนของผู้ถือหุ้น" จึงทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่ง ROE = กำไรสุทธิ/ ส่วนผู้ถือหุ้น
ถ้าบริษัททำกำไรได้เท่าเดิม แต่ส่วนผู้ถือหุ้นโตขึ้น ก็จะทำให้ ROE ลดลง ดังนั้น ถ้าจะรักษาระดับ ROE ให้ดีสม่ำเสมอ บริษัทต้องสามารถทำกำไรได้โตขึ้นพอๆ กับส่วนผู้ถือหุ้นที่โตขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นการรักษา ROE ได้ดีอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นอีกเรื่องที่ควรสนใจ
ROE ถือเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญตัวหนึ่งที่เราใช้ดูถึงความสามารถในการทำกำไรของกิจการ และเป็นตัวหนึ่งที่ใช้เพื่อตัดสินใจว่ากิจการนั้นน่าลงทุนรึเปล่า
แต่การดู ROE นั้นต้องดูเรื่องของ D/E ratio ประกอบด้วย และที่สำคัญไม่ใช่แค่ ROE สูงเท่านั้น การรักษาระดับให้สูงได้อย่างสม่ำเสมอ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #ROE #ROA #หุ้น #หนี้สิน #ความสามารถในการทำกำไร #งบการเงิน #อัตราส่วนทางการเงิน #ส่วนของผู้ถือหุ้น
โฆษณา