28 มิ.ย. 2022 เวลา 09:40 • การศึกษา
✨สัมมาทิฏฐิ (ตอนที่ 1)✨
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก หมายถึงการมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโลก และความเป็นไปของชีวิต ว่าเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา
ระดับของสัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
1. สัมมาทิฏฐิเบื้องต้น หรือระดับโลกียะ เป็นความเข้าใจถูกในระดับที่เกื้อกูลให้ชีวิตได้รับความสุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า หรือในระหว่างที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด จนกว่าจะหมดกิเลส
2. สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง หรือระดับโลกุตตระ เป็นความเข้าใจถูกในระดับรู้แจ้งเห็นจริงของพระอริยเจ้าด้วยการเจริญสมาธิภาวนา จนสามารถกำจัดกิเลสได้
1. สัมมาทิฏฐิเบื้องต้น
สัมมาทิฏฐิ 10 ประการ (เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง)
2. สัมมาทิฏฐิเบื้องสูง มี 4 ประการ คือ
1. ความรู้ในทุกข์
2. ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)
3. ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์)
4. ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางดับทุกข์)
ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วย ธรรม 2 ประการ คือ
1. ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร
2. โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะ และตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
บทความนี้จะมุ่งไปที่สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก่อนเป็นอันดับแรก
สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นทั้ง 10 ประการดังกล่าว ข้อที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อทุกชีวิตมากที่สุด และเมื่อเราได้ศึกษาสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นครบถ้วนแล้วค่อยติดตามต่อไปว่าสัมมาทิฏฐิเบื้องสูงมีอะไร และจะสามารถเข้าถึงได้ไหม อย่างไร เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวจนเกินไปขอสรุปสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นทีละข้อ นั่นคือ ข้อที่ 1 ดังนี้
สัมมาทิฏฐิ ข้อ 1 ทานที่ให้แล้วมีผลจริง
หลักคำสอนในพระพุทธศาสนากล่าวว่า “ทาน” หรือ การให้ เป็นความดีที่เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น (ความเห็นถูกหรือเข้าใจถูก) ของมนุษย์ทุกคน
เพราะทั้งการให้ การแบ่งปัน หรือการสงเคราะห์ ล้วนเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลกันระหว่างชีวิตต่อชีวิต เป็นพื้นฐานความดี ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น ทาน ยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับการทำความดีอื่นๆ ที่จะตามมา ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งยังสร้างบารมี กว่าพระองค์จะประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตได้อย่างนี้ (การตรัสรู้ธรรม บรรลุมรรคผลนิพพาน) พระองค์ก็อาศัยการทำทานเป็นจุดเริ่มต้นของการสั่งสมความดี และทานที่สั่งสมดีแล้วย่อมอำนวยผลอย่างไม่มีประมาณเหมือนกัน
ความหมายของทาน
ทาน คือการให้ ทั้งที่เป็นสิ่งของ และเป็นความรู้ทั้งทางโลก และทางธรรม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากผู้รับ นอกาจากนี้ยังรวมถึงการให้คำพูดดีๆ เช่น ปิยวาจา สัมมาวาจา วาจาสุภาษิต ให้การช่วยเหลือ ให้ความปลอดภัย เช่น การอาราธนาศีล 5 ศีล 8 ก่อนออกจากบ้าน
วัตถุประสงค์ของการให้ทาน การทำทานที่แท้จริง คือ ต้องเป็นไปเพื่อชำระกิเลส เพื่อตอบแทนคุณ เพื่อสงเคราะห์ หรือเพื่ออนุเคราะห์ การให้ด้วยวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่ถือว่าเป็น การให้ทาน
ทาน มี 2 ประเภท คือ อามิสทาน และธรรมทาน
1. อามิสทาน หากแบ่งตามสิ่งของที่ทายกให้ สามารถแบ่งได้เป็น ทาสทาน สหายทาน และสามีทาน หากแบ่งตามเจตนาของผู้ให้ สามารถแบ่งได้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน และสังฆทาน
อามิสทานแบ่งตามทายก (ผู้ให้) มี 3 ประเภท ดังนี้
- ทานทาสะ หรือเรียกว่า “ทาสทาน” หมายถึงการที่ทายกให้ของที่ด้อยกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอยเอง
- ทานสหาย หรือเรียกว่า “สหายทาน” หมายถึงทายกให้ของที่เสมอกันกับที่ตนเองบริโภคใช้สอย
- ทานสามี หรือเรียกว่า “สามีทาน” หมายถึงทายกให้ของที่ดีประณีตกว่าของที่ตนเองบริโภคใช้สอย
2. อามิสทานแบ่งตามเจตนา (ผู้ให้) มี 2 ประเภท คือ
- ปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้เฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น เราจะทำบุญบ้านเลี้ยงพระจำนวน 9 รูป ก็เจาะจงไปว่า ขอนิมนต์พระรูปนั้นรูปโน้น การมีเจตนาเจาะจงนิมนต์ เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน
- สังฆทาน คือทานที่ให้แก่หมู่คณะ ไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อผู้ให้ต้องการถวายปัจจัยไทยธรรมก็เต็มใจถวายแก่ภิกษุทั้งนั้น ด้วยความเคารพ โดยไม่ได้เจาะจงภิกษุรูปใดเป็นพิเศษ
เช่น เมื่อจะนิมนต์พระไปทำบุญบ้านก็เข้าหาเจ้าอาวาส หรือเจ้าหน้าที่รับนิมนต์ของวัด กราบเรียนท่านว่าจะทำบุญบ้าน ขอนิมนต์พระสงฆ์ไปรับไทยธรรม 9 รูป ทางวัดจะส่งพระรูปใดไปรับไทยธรรม ก็มีความยินดี เต็มใจถวายทางแก่ท่าน ทานที่ผู้ให้มีเจตนากว้างไม่เจาะจงนิมนต์อย่างนี้ เรีกกว่า สังฆทาน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญว่ามีอานิสงส์มาก
2. ธรรมทาน การให้อะไรก็ตามที่ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ เช่น การให้ความรู้ ให้คำแนะนำสั่งสอนในทางที่ดี ให้วิชาความรู้ในการประกอบอาชีพ ให้อภัย ให้ข้อคิด ให้สติตักเตือนเมื่อหลงทางผิด และที่ทำให้ง่ายที่สุดคือ การให้หนังสือธรรมะเป็นทาน ในบรรดาการให้ทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นข้าวน้ำ วัตถุสิ่งของ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการให้ธรรมะเป็นทานว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และเป็นสุดยอดแห่งการให้ทานทั้งปวง
สังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ล้วนอาศัยการให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคนในสังคมเอาไว้ด้วยกัน เพราะการให้ ทำให้เกิดการแบ่งปัน ผู้คนจึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่ต้องเบียดเบียนเข่นฆ่าทำร้าย หรือจ้องทำลายซึ่งกันและกัน การให้ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกชีวิตจำเป็นต้องมีการที่เราจะได้มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ เบื้องต้นจะต้องมีสัมมาทิฏฐิ 10 ประการ
สัมมาทิฏฐิ หมายถึงยิ่งให้ทานกับทักขิไณยบุคคลย่อมเกิดผลอันไพบูลย์ และการให้ยังสามารถกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวออกจากใจได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มพูนความปรารถนาดีต่อกัน ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ซึ่งจุดหมายที่แท้จริง เพื่อมุ่งให้เราเป็นคนไม่ตระหนี่ ไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง
การให้ทานที่จะได้บุญมาก มีองค์ประกอบ 3 ประการ ดังนี้ คือ
1. วัตถุบริสุทธิ์ ได้แก่ สิ่งที่จะให้ทานต้องเป็นของที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเราเอง ไม่ได้คดโกงใครเขา
2. เจตนาบริสุทธิ์ ได้แก่ มีความตั้งใจที่จะให้ทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ฆ่าความโลภให้สิ้นไป ไม่ได้หวังลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเครื่องตอบแทน แต่มีความตั้งใจที่จะเสียสละ ให้เกิดเป็นบุญกุศลจริงๆ และการหวังได้บุญ ไม่ใช่เป็นความโลภนะ ขอให้พิจารณาแยกแยะกันให้ดี
3. บุคคลบริสุทธิ์ คือ ทั้งผู้ให้ทาน และผู้รับทานต้องบริสุทธ์ หากเป็นผู้ที่รักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ก็จะได้บุญมาก บุคคลบริสุทธิ์แบ่งออกได้ 2 ประการ คือ
3.1 ผู้ให้บริสุทธิ์ คือ ตัวผู้ให้ทานเองต้องมีศีล 5 เป็นอย่างน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนให้ก็มีจิตใจผ่องใส ชื่นบาน เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใสอยู่ หลังจากให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่นึกเสียดาย
3.2 ผู้รับบริสุทธิ์ คือเนื้อนาบุญหรือผู้รับทาน ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ผู้หมดกิเลส ซึ่งจะทำให้ได้บุญมากเป็นพิเศษ และได้บุญทันตาเห็นในชาตินี้ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้าหรือพระภิกษุสงฆ์ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เพื่อความหมดกิเลส แต่หากผู้รับเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องเป็นคฤหัสถ์ที่มีศีลธรรมอันดี
อาการของการให้ทาน แบ่งออกเป็น 2 ประการ คือสัปปุริสทาน และอสัปปุริสทาน มีรายละเอียด ดังนี้
อาการของการให้ทาน 2 ประการ (เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง)
พระพุทธองค์ตรัสอุปมาไว้ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อีกว่า
ภิกษุสงฆ์ (ปฏิคาหก) เปรียบเหมือน นา
ผู้ถวาย (ทายก) เปรียบเหมือน ชาวนา
สิ่งของที่ถวาย เปรียบเหมือน พืช
เมื่อชาวนาหว่านพืชลงในนาที่ดี ผลย่อมไพบูลย์ คือมีผลมาก ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึง ทรงสอนให้พิจารณาถึงนาบุญหรือบุญเขต ถ้าจะนิมนต์พระเจาะจง คือเป็นปาฏิปุคคลิกทาน ก็ให้พิจารณา นิมนต์พระที่เคร่งครัดสิกขาวินัย น่าเลื่อมใส ถ้าจะไม่นิมนต์พระเจาะจง คือเป็นสังฆทาน ก็ให้พิจารณา นิมนต์จากหมู่ที่ประพฤติสิกขาวินัยเคร่งครัดก่อน แล้วจึงให้
ดังพระบาลีว่า วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ การให้ด้วยพิจารณา พระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญ ในข้อนี้ พึงเห็นตัวอย่างจากเรื่องต่อไปนี้
อังกุรเทพบุตร
ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดา ขณะประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลา บน ภพดาวดึงส์นั้น ทรงมีรัศมีแผ่กว้างครอบคลุมหมู่เทวดา เทพบุตรพุทธมารดาก็เสด็จมาจากภพดุสิต ประทับในที่ข้างขวา อินทกเทพบุตรก็มานั่งในที่ข้างขวาเหมือนกัน ส่วนอังกุรเทพบุตรมานั่งในที่ข้างซ้าย แต่เมื่อเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่กว่าทยอยกันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
อังกุรเทพบุตรก็ต้องถอยห่างไปเรื่อยๆ จนถอยไปถึงที่สุดของบริษัทไกลถึง 12 โยชน์ ขณะที่อินทกเทพบุตรก็ยังนั่งอยู่ที่เดิม ไม่ต้องย้ายไปไหน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมองดูเทพบุตรทั้งสองแล้ว มีพระประสงค์จะประกาศความแตกต่างระหว่างทานที่ บุคคลถวายแด่ทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ กับทานที่บุคคลให้แล้วแก่โลกียมหาชน จึงตรัสถามอังกุรเทพบุตรว่า
“ดูก่อนอังกุระ ท่านให้ทานมาเป็นเวลานานถึง 10,000 ปี ก่อเตาหุงข้าวยาวเป็นแถวถึง 12 โยชน์ ทุกวัน แต่เมื่อมาสู่สมาคมของเรา ท่านกลับต้องนั่งห่างออกไปถึง 12 โยชน์ ไกลกว่าเทพบุตรทั้งปวงนั่น เป็นเพราะเหตุใด”
อังกุรเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าได้บริจาคทานมากก็จริงในสมัยที่เป็นมนุษย์ แต่ก็ได้ให้ทานแก่ โลกียมหาชน คือให้ทานในเวลาที่ปราศจากทักขิไณยบุคคล ส่วนอินทกเทพบุตรนี้ แม้ถวายทานเพียงน้อยนิด แต่เพราะได้ทำในทักขิไณยบุคคล จึงรุ่งเรืองกว่าข้าพเจ้า เหมือนดวงจันทร์รุ่งเรืองกว่าหมู่ดาว ฉะนั้น”
พระศาสดาจึงตรัสถามอินทกเทพบุตร ผู้นั่งอยู่กับที่มิได้เคลื่อนย้ายไปไหนเลย อินทกเทพบุตร จึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ถวายทานแด่ทักขิไณยบุคคล ดุจหว่านพืชแม้น้อยนิดในเนื้อนาดี ผลย่อมงอกงาม ไพบูลย์” และเพื่อจะประกาศความสำคัญของทักขิไณยบุคคล จึงกราบทูลต่อไปว่า
“พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ชาวนาเองก็ ไม่ปลื้มใจฉันใด ทานแม้มีมากที่บุคคลให้แล้วในผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทายกก็ ไม่ปลื้มใจฉันนั้น ส่วนพืชแม้น้อยที่หว่านแล้วในนาดี ย่อมมีผลไพบูลย์ ชาวนาก็ปลาบปลื้มฉันใดทานเล็กน้อยที่บุคคลทำในเขตบุญ ในท่านผู้มีศีล มีคุณธรรมที่มั่นคง ย่อมอำนวยผลไพบูลย์ ยังผู้ให้ให้ชื่นชมยินดีฉันนั้น”
อินทกเทพบุตรนั้น เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ได้ถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวแด่พระอนุรุทธเถรผู้เป็นพระอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญนี้ย่อมมีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตรทำแล้ว คือได้ก่อเตาไฟ หุงข้าวเป็นแถวยาว 12 โยชน์ ทุกวัน แก่โลกียมหาชนถึง 10,000 ปี ซึ่งเมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลแล้ว พระศาสดาจึงตรัสกับอังกุรเทพบุตรว่า
“ธรรมดาการให้ทาน ควรพิจารณาแล้วจึงให้ ทานนั้นย่อมมีผลมาก เหมือนการหว่านพืชในนาดี แต่เธอหาได้ทำเช่นนั้นไม่ เหตุนั้นทานของเธอจึงมีผลไม่มาก ทานที่บุคคลให้แล้วในเขตใดมีผลมาก ควรพิจารณาให้ในเขตนั้น การให้ด้วยพิจารณา พระตถาคตสรรเสริญ ทานที่ให้แล้วในทักขิไณยบุคคล ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดี ฉะนั้น”
จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ทานจะให้ผลไพบูลย์เมื่อได้ถวายแด่ผู้รับที่บริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคล ผู้รับจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ทานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มต้น “ทำบุญ” เมื่อใด บุญให้ “ผล” เมื่อนั้น
ขอเชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามซีรีส์สัมมาทิฏฐิ 10 ประการ ข้อที่ 2 ยัญที่บูชาแล้วมีผลในบทความต่อไปคะ
อ้างอิง :
ขุ.ธ.อ. 42/ 19/ 4-8 แปล มมร.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พระพรหมคคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
หนังสือ SB101 วิถีชาวพุทธ
Dmc.tv : https://bit.ly/3NiEVNr เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง
1
โฆษณา