29 มิ.ย. 2022 เวลา 10:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หากพูดถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบทั้งอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ไม่ต่างกัน แต่ศรีลังกานั้นถือว่าเป็นประเทศที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงมากจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกานั้นได้ล่มสลายและกำลังจะตายแล้ว
ภาพข่าวจากศรีลังกาทุกวันนี้ เราได้เห็นการชุมนุมประท้วง การต่อแถวอันยาวเหยียดของประชาชนเพื่อรอเติมน้ำมัน การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติแต่กลับเห็นได้ทุกวัน นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียใต้ ประชาชนศรีลังกามีรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเจอกับปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปประมาณ 10 กว่าปีก่อน สภาพเศรษฐกิจของศรีลังกานั้นถือว่ามีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในช่วงปี 2003-2012 นั้นมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 6.7% ต่อปี และในปี 2012 นั้นเติบโตมากถึง 9.1% ก่อนที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะเริ่มตกต่ำลง และมาวิกฤตสุดๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปี 2020
ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้ ก็เนื่องมาจากการบริหารการเงินที่ผิดพลาดของรัฐบาล การลดภาษีที่ผิดจังหวะ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลักของประเทศอย่างการท่องเที่ยว
ด้านบริการในประเทศศรีลังกามีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 60% ในปี 2020 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วน 26% ภาคเกษตรมีสัดส่วนที่ 8% การปิดประเทศจึงส่งผลภาคบริการเป็นอย่างมากส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศสะดุดหลังจากเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง การเป็นประเทศเกิดใหม่ความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและค่าเงินยังมีไม่มากพอ จำเป็นต้องพึ่งพาเงินตราต่างประเทศ
และล่าสุดคือภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงมากทำให้ประชาชนกว่า 22 ล้านของคนศรีลังกาต้องขาดแคลนสินค้าปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ทำให้การนำเข้าสินค้าจำเป็นในหลายรายการต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง
ไม่เพียงเท่านั้นสถานการณ์ยังเลวร้ายถึงขั้นที่รัฐบาลศรีลังกาจำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อเก็บงบประมาณเอาไว้ใช้เรื่องจำเป็นอื่นๆ ซึ่งสาเหตุนั้นก็เกิดขึ้นมาจากการบริหารนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาดต่อเนื่องของหลายรัฐบาล และรัฐบาลของประธานาธิบดีราชปักษาก็ยังมาทำพลาดซ้ำด้วยการลดภาษีเสียอีก ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกาต้องมาพังคามือของรัฐบาลชุดนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลศรีลังกาจะพยายามหาทางกู้เงินจากทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือประเทศอินเดีย และจีน เพื่อมากู้วิกฤตในครั้งนี้ แต่ดูเหมือนว่าเสถียรภาพทางการเมืองของศรีลังกาที่อ่อนแอเป็นอย่างมากจะเป็นอุปสรรคสำคัญในเรื่องดังกล่าว
การกู้เงินจาก IMF เป็นสัญญาณที่บอกถึงว่าประเทศไม่มีความสามารถในการบริหารเงินภายในประเทศได้ การกู้เงินจาก IMF เป็นการเปิดให้ต่างชาติเข้ามามีแทรกแซงในการบริหาร หากหลีกเลี่ยงได้ประเทศที่สภาวะทางการเงินยังปกติจะไม่เลือกกู้จาก IMF อย่างแน่นอน
ปัจจุบันประชาชนชาวศรีลังกาประมาณ 60% ตามข้อมูลของธนาคารโลกอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาลดลงมากกว่า 3 ใน 4 จากช่วงก่อนโควิดปี 2019 เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่สูงถึง 8000 ล้านเหรียญ ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญฯ ทำให้มีปัญหาในการซื้อสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ เช่น น้ำมัน ยารักษาโรค ปุ๋ย และอาหารบางประเภท อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ศรีลังกายังมีนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศราว 1,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะสามารถชำระได้
นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาในปัจจุบันยังสูงถึง 39.1% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาอาหารพุ่งขึ้นมากกว่า 60% อีกทั้งยังมีการลดค่าเงินรูปีศรีลังกาจนทำให้ค่าเงินรูปีศรีลังกานั้นมีมูลค่าลดลงกว่า 44% ในรอบปีที่ผ่านมา ประชาชนถูกขอให้ทำการ work from home ซึ่งพื้นที่จำนวนมากของประเทศถูกตัดไฟ
ล่าสุดรัฐบาลศรีลังกาประกาศห้ามยานพาหนะส่วนบุคคลซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม โดยรัฐบาลเปิดเผยว่าเหลือน้ำมันดีเซลเพียง 9,000 ตัน และน้ำมันเบนซินเพียง 6,000 ตัน หากยังคงให้ประชาชนเติมน้ำมันจะมีน้ำมันเพียงพอแค่ 1 อาทิตย์ จึงอนุญาตเพียงรถบัส รถไฟ และยานพาหนะเพื่อการแพทย์เติมน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น
ซึ่งวิกฤตด้านการเงิน อาหารและพลังงานนั้นนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรง การบุกเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐจนเกิดความสูญเสียทั่วประเทศ
ด้านนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังการะบุว่า ศรีลังกาต้องการเงินอย่างน้อย 5,000 ล้านเหรียญฯ หรือราว 177,500 ล้านบาท เพื่อซื้อสินค้าจำเป็นเช่น อาหาร ยา เชื้อเพลิง และปุ๋ย ในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ปัญหาตอนนี้ของศรีลังกามันลุกลามใหญ่โต ทั้งปัญหาเงินเสื่อมค่าที่รุนแรงกว่าประเททศอื่น การมีเงินก็ไม่ได้การันตีว่าจะสามารถหาซื้อสินค้าได้เพราะการนำเข้าถูกจำกัด ส่งเสริมให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้นไปอีกจากอุปทานที่ลดลง อีกทั้งเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเงินทุนสำหรับฟื้นฟูกิจการจะถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นจากความน่าเชื้อถือของค่าเงิน หรือถูกปฏิเสธในการกู้ยืมไปเลย
ในขณะนี้วิกฤตทางเศรษฐกิจของศรีลังกาในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเกินกว่าที่รัฐบาลศรีลังกาจะรับมือได้แล้ว การขอแรงจากนานาชาติเพื่อเข้าช่วยประเทศศรีลังกาในตอนนี้ดูเป็นเรื่องยาก เพราะ ณ ตอนนี้ทั้งโลกก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ไม่หนักเท่าของศรีลังกา ต้องเฝ้าดูกันต่อไปว่าศรีลังกาจะแก้เกมกลับมาอย่างไร
โฆษณา