30 มิ.ย. 2022 เวลา 01:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ชื่อย่อหุ้น BDMS แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าจะมีการทำ tender offer หุ้น SVH บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ซึ่ง BDMS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SVH อยู่แล้ว 95.76% เป็นจำนวนหุ้น 95,764,033 หุ้น จะทำการ tender offer จำนวนหุ้นที่เหลือของ SVH เพื่อจะนำหุ้น SVH ออกจากลาดหุ้น (Delisting) มารู้จัก tender offer กันว่าคืออะไร และถ้าหุ้นที่เราถืออยู่ถูก tender offer มีทางเลือกยังไงบ้าง
tender offer คืออะไร??
การทำ tender offer คือ การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต่อผู้ถือหุ้นโดยทั่วไป ซึ่งจะมีหนังสือเสนอซื้อและรายละเอียดต่างๆ ส่งไปที่ผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัทที่ถูกทำ tender offer ไม่ได้เป็นการมาเคาะซื้อกันในกระดานหุ้นตามปกติ
จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัท A ต้องการเข้าไป take over บริษัท B โดยที่ต้องการซื้อหุ้นจำนวนมาก จึงไม่ต้องการไปเคาะซื้อในกระดานซื้อขายหุ้นตามปกติ
ซึ่ง tender offer จะมีอยู่ 3 ลักษณะใหญ่ มาค่อยๆ อ่านทีละแบบกัน…
1. Mandatory Tender Offer คือ แบบที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำ เมื่อบุคคลนั้นหรือกิจการนั้นมีสัดส่วนการถือหุ้นสูงขึ้น จนทำให้มีให้ผลต่อการบริหารงาน หรือการครอบงำกิจการได้ กฎหมายจึงให้กิจการนั้นหรือบุคคลนั้น ต้องทำ Mandatory Tender Offer เพื่อรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไปด้วย ซึ่งกฎหมายบ้านเรากำหนด trigger point ไว้ 3 ช่วง ได้แก่ 25%, 50% หรือ 75% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ รวมถึงการได้หุ้นทางอ้อมในบริษัทจดทะเบียน (Chain Principle)
กรณีนี้มีเพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างเราๆ นั่นเอง เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจในการครอบงำกิจการ อาจทำให้ผู้บริหารและทิศทางของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ถือหุ้นทั่วไปจะได้มีโอกาสตัดสินใจว่าจะถือต่อ หรือขายให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ทำการเสนอซื้อนั้นไปก็ได้ แล้วแต่เราพิจารณาและราคาที่เขาจะมาเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อยนั้น กฎหมายมีการกำหนดเพิ่มเติมด้วยว่า ต้องไม่ต่ำกว่าราคาสูงสุดในรอบ 90 วัน ก่อนทำการเสนอซื้อ
มาต่อกันที่แบบที่ 2. Voluntary Tender Offer แบบสมัครใจ ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำ แบบนี้ คือ ต้องการซื้อหุ้นจำนวนมากจากรายย่อยที่ถืออยู่ จึงทำเป็น voluntary tender ขึ้นมา ซึ่งไม่ต้องมานั่งเคาะซื้อกันในกระดานหุ้น เป็นการทําคําเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจ
1
3. Delisting tender offer แบบนี้เป็นแผนที่ เมื่อ CPN บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จะทำการ Delisting หุ้นบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“SF”) และที่บริษัท SCBX ทำการ tender offer หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์เดิม แต่ตอนนั้นการทำ tender offer ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินให้ผู้ถือหุ้นเดิม แต่เป็นลักษณะของการแลกหุ้น ซึ่งมีแผนในการนำธนาคารไทยพาณิชย์ออกจากตลาดไป
ในการทำ Tender offer จะมีเอกสารชี้แจ้งและแผนการของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยพิจารณา เพื่อไม่ให้รายย่อยเสียประโยชน์
ถ้าหุ้นที่เราถืออยู่ถูก Tender Offer เราก็จะได้รับเอกสารต่างๆ ส่งมาให้เราอ่าน สิ่งที่ต้องรู้คือ
1. เราควรศึกษาข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงของบริษัทที่จะเกิดขึ้นหลังการทำ Tender offer เพราะบริษัทที่ถูก take over อาจมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและทิศทางขงบริษัทได้ และถ้าในกรณี Delisting คนที่ถือหุ้นอยู่เดิมอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมถึงผลกระทบกับการถือหุ้นนอกตลาดด้วยนะ
2. ระยะเวลารับซื้อ ซึ่งปกติจะมีระยะเวลารับซื้ออย่างน้อย 25 วัน แต่ไม่เกิน 45 วัน เป็นระยะเวลาให้เราตัดสินใจว่า จะขายหรือไม่ขาย
3. ราคารับซื้อ ในเอกสารที่เขาส่งมาให้เรา ก็จะมีราคาเสนอรับซื้อ เราก็ดูราคาด้วยว่าเท่าไหร่
ซึ่งถ้าเราดูแล้ว หลังจากบริษัทถูก take over น่าจะดีกว่าเดิม และราคารับซื้อก็ยังไม่น่าสนใจ เราก็ไม่ต้องขายให้ เมื่อเราไม่ขาย เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้น ซึ่งก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจการหลังถูก take over ไปด้วย
แต่ถ้าเราดูแล้ว หลังถูก take over ไม่น่าจะดีนัก และราคาที่เสนอรับซื้อมาก็น่าสนใจ เราก็ขายหุ้นที่เราถืออยู่ให้บริษัทที่ต้องการ take over ไป ซึ่งในเอกสารที่ส่งมาให้อ่านรายละเอียดก็จะมีรายละเอียด เวลา ราคารับซื้อ และเอกสารต่างๆ ที่เราต้องกรอก เพื่อตอบรับคำเสนอซื้อนั้นให้เรียบร้อย แต่ถ้าใครไม่แน่ใจว่าต้องทำยังไง และต้องการขายให้เขาไป ก็ลองให้บริษัทโบรกเกอร์ หรือมาร์เกตติ้งที่เราเปิดบัญชีหุ้นอยู่ช่วยอำนวยความสะดวกให้
อีกกรณีหนึ่ง คือเราเห็นแล้วบริษัทไม่น่าจะดีหลังถูก take over และราคาหุ้นของบริษัทที่จะถูก take over ในกระดานหุ้นตอนนี้ราคาดีกว่า ราคาที่เขาทำการเสนอซื้อมา เราอยากขาย เราก็สามารถไปขายในกระดานหุ้นตามปกติได้นะ ไม่ได้จำเป็นว่า ต้องขายให้กับบริษัทที่เขามาทำเรื่องเสนอซื้อให้เราเท่านั้น
ถ้าหุ้นที่เราถืออยู่ถูก Tender Offer เราก็จะได้รับเอกสารต่างๆ ส่งมาให้เราอ่าน เราควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ทั้งราคารับซื้อ และแผนต่างๆของกิจการ การปรับโครงสร้างและทิศทางของบริษัท ให้เราพิจารณาว่า เราจะรับคำเสนอซื้อนั้นหรือไม่ โดยในกรณี Delisting คนที่ถือหุ้นอยู่เดิมอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมถึงผลกระทบกับการถือหุ้นนอกตลาดด้วย
ดังนั้นเมื่อเราเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทที่ถูก tender offer ก็ควรศึกษารายละเอียด และตัดสินใจว่าจะทำยังไงกับหุ้นที่เราถืออยู่ด้วยนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #หุ้น #TenderOffer #เทนเดอร์ #เทนเดอร์หุ้น #ชื้อหุ้น #ลงทุนหุ้น #ซื้อหุ้นจำนวนมาก #TakeOver
โฆษณา