30 มิ.ย. 2022 เวลา 06:17 • ความคิดเห็น
คำว่า "รักตัวเอง" มักถูกนำมาใช้ในเชิงเตือนสติหรือกระตุ้นในยามที่ใครบางคนอาจจะกำลังคิดหรือทำอะไรในทางที่ไม่ดีกับตัวเอง คนรอบข้างที่หวังดีก็มักจะพูดคำนี้ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่เมื่อได้ยินคำๆนี้ แล้วเราจะรู้สึกดีหรือมีกำลังใจขึ้น บางครั้งกลับรู้สึกแย่ รู้สึกผิดและสับสน จนถึงขั้นสงสัยว่า "หรือเรากำลังไม่รักตัวเอง"
1
หากจะตีความอย่างเป็นรูปธรรม "รักตัวเอง" ในความหมายแรก–เราก็ต้องรักร่างกายของเราเสียก่อน รู้จักใส่ใจสุขภาพของตนเอง ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การนอน การออกกำลังกาย ดูแลร่างกายให้สะอาดสะอ้านถูกหลักสุขอนามัย เหล่านี้เป็นต้น
ความหมายที่สอง–ในเชิงของการปฏิบัติต่อตัวเอง เคยสังเกตไหมว่าเราพูดจาสื่อสารหรือมองตัวเองอย่างไร? เราชื่นชมสิ่งที่เป็นจุดเด่นหรือข้อดีของเราได้ดีเพียงใด? เรายอมรับในข้อจำกัดของเราได้ดีเพียงใด? ต่างๆเหล่านี้คือพื้นฐานของการรักตัวเอง
อีกเรื่องหนึ่งของการรักตัวเองคือ เรามีความพยายามหรือไม่-มากน้อยเพียงใด ที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุด หรือชีวิตที่เต็มตามศักยภาพให้กับตัวเอง หรือเรากำลังทำร้ายตัวเองทางอ้อม สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการรักตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การพูดกับคนอื่นว่าให้เขารักตัวเอง มันอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่า เขากำลังไม่รักตัวเอง หลายครั้งหลายคราที่คำๆนี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะ จนกลายเป็นดาบสองคม และอาจส่งผลเสียกับคนที่เราคุยด้วย นำไปสู่ความคิดเชิงตำหนิต่อว่าตัวเอง ตัดสินตัวเองด้วยการบอกว่า เขายังไม่รู้จักรักตัวเองให้ดีพอ ส่งผลในทางลบที่ทำให้เขาอารมณ์ดำดิ่งและแย่ลง
1
อีกประเด็นคือ–คนส่วนใหญ่คิดว่าการรักตัวเอง เป็นการคิดอย่างมีเหตุผลและรู้ตัว แต่แท้ที่จริงแล้วความรู้สึกภูมิใจและรักตัวเอง คือสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เมื่อได้รับความรัก ความใส่ใจ ตั้งแต่เมื่อเขาแบเบาะ ความอบอุ่นใจที่เด็กได้รับจากผู้เลี้ยงดู เป็นที่มาของความรู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ ก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะพูดได้หรือมีความคิดเสียด้วยซ้ำ นั่นคือพื้นฐานของการรักตัวเอง
คนที่โตมาโดยไม่ได้รับสิ่งนี้ จึงพร่องในสิ่งนี้ การแก้ไขจึงเป็นการแก้ไขที่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กเล็กมากๆ แก้ไม่ได้ด้วยการคิดเชิงเหตุผล แต่ต้องแก้ด้วยการสร้างประสบการณ์บางอย่างในตัวเอง ที่ลึกซึ้งมากๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปฏิบัติในสายจิตวิญญาณ เช่น การทำสมาธิจนถึงจุดที่มีความสุขจากภายใน จนสามารถทำเกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่ต่อตัวเอง
โฆษณา