30 มิ.ย. 2022 เวลา 08:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ไปซื้อ “ผ้าทอ” ??? กันมั้ย
เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวไฟไหม้ ตลาดสำเพ็ง ซึ่งเป็นตลาดค้าผ้าตั้งแต่ในตำนานจนถึงปัจจุบัน ที่ผู้คนจะพากันไปซื้อหาผ้ากันเป็นหลัก แต่ถ้าเราอยากได้ผ้าทอละคะ จะไปบอกผู้ขายได้ถูกต้องหรือเปล่า ว่าต้องการผ้าทอ แบบไหน ลักษณะเป็นอย่างไร ดังนั้นก่อนไปซื้อหา เรามาทำความรู้จัก โครงสร้างผ้ากันดีกว่าค่ะ
ผ้าทอ
โครงสร้างผ้า (Fabric construction)
จริงๆ แล้ว ผ้า ก็คือ วัสดุสิ่งทอชนิดหนึ่ง ที่ประกอบขึ้นจาก เส้นใยธรรมชาติ และ/หรือ เส้นใยประดิษฐ์ ที่ได้รับการปั่นรวมกันจนกลายเป็นเส้นด้าย หรืออาจประกอบขึ้นจากเส้นใยโดยตรงโดยที่ไม่ผ่านการปั่นรวมกันเป็นเส้นด้ายก็ได้
เทคนิคการผลิตวัสดุสิ่งทอ ที่เรียกว่าผ้า มีกระบวนการผลิตอยู่หลายรูปแบบ ประมาณหนึ่ง แต่กระบวนการเริ่มต้นที่ใช้ในการผลิตคือ การทอ (weaving) และการถัก (knitting) ที่จะให้ผลผลิตออกมาเป็น ผ้าทอและผ้าถัก นั่นเอง
การทอ
การทอคือกระบวนการขัดสานกันของเส้นด้ายสองชุด ที่เรียกว่า เส้นด้ายยืน (warps) ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งแนวตั้ง กับ เส้นด้ายพุ่ง (weft) ในตำแหน่งแนวนอน บนผู้ช่วยที่มีชื่อว่า เครื่องทอผ้า (loom) เกิดเป็นลายทอผ้า 3 แบบหลักๆ ได้แก่ ลายขัด (plain) ลายทแยง (twill) และลายซาติน (satin)
loom
การทอลายขัด (Plain weave)
การทอลายขัดจัดเป็นลายผ้าทอพื้นฐานและเก่าแก่ที่สุดของโครงสร้างผ้าทอ เกิดจากการนำเส้นด้ายยืนและเส้นด้ายพุ่งแต่ละเส้น ขัดกันไป-มา ในลักษณะของ การข้ามผ่านบนเส้นด้ายยืนเส้นที่หนึ่งแล้วลอดผ่านเส้นด้ายยืนเส้นถัดไป (ตามรูป) ผิวหน้าผ้าที่ได้จะเรียบแน่นและจะมีลักษณะเหมือนกันทั้ง 2 ด้าน
ผ้าทอลายขัดและลักษณะการสอดประสานของด้ายพุ่ง&ด้ายยืน
บางครั้ง ลายขัดพื้นฐานอาจถูกเรียกได้ว่า “การทอผ้าลายแทฟ-ฟิทะ (taffeta)” ซึ่งผิวสัมผัสของผ้าทอลายขัดอาจมีได้ทั้งหยาบและอ่อนนุ่มขึ้นอยู่กับขนาดของเบอร์เส้นด้ายที่ใช้ในการทอ
ผ้าทอลายขัดพื้นฐานนี้อาจถูกดัดแปลงเป็นผ้าทอลายสานตะกร้า (basket weave) ที่เส้นด้ายยืนและ/หรือเส้นด้ายพุ่งได้มาจากการใช้เส้นด้ายมากกว่าหนึ่งเส้นรวมกัน
ทำให้เกิดรูปลักษณ์ของลายผ้าที่เรียกได้ว่า โครงสร้างผ้าทอลายสานตะกร้า
ชื่อที่ใช้เรียกชนิดของผ้าทอลายขัด ได้แก่ ผ้าชีฟอง (chiffon) ผ้าออร์แกนซ่า (organza) ผ้าแทฟ-ฟิทะ (taffeta) ผ้าแคนวาส (canvas) เป็นต้น
ผ้าทอลาย Hound's Tooth
การทอลายทแยง (Twill weave)
เป็นการทอที่กำหนดให้ด้ายยืนและด้ายพุ่งสานขัดกันแล้วเกิดเส้นลอยเรียงเป็นแนวเส้นทแยงมุม เป็นโครงสร้างที่มีจุดสานน้อยกว่าลายขัด ลายทอมีลักษณะเป็นเส้นทแยงใหญ่บ้างเล็กบ้าง เรียงติดต่อกันอย่างเห็นได้ชัด แนวของเส้นลอยที่เห็นเป็นสันนูนบนผืนผ้าเรียกว่า เวล (wale)
การใช้เส้นด้ายที่มีขนาดเล็กทอผ้าลายทแยงจะได้ผ้าเนื้อแน่น ทนทาน และน้ำซึมผ่านได้ยาก และจากเหตุที่เส้นด้ายขัดกันไม่แน่นเท่าแบบลายขัด เส้นด้ายเคลื่อนที่ได้ค่อนข้างดี ทำให้ผ้ามีความโค้งงอและไม่ยับง่าย
ตัวอย่างผ้าลายสอง ได้แก่ ผ้าเสิร์จ (serge) ผ้ากาบาร์ดีน (gabardine) ผ้าวิปคอร์ด (whipcord) ผ้าเดนิม (denim) ผ้าดริล (drill) ผ้าฟูลาร์ด (foulard) และผ้าซูราห์ (surah) เป็นต้น
ผ้าทอลายทแยงและลักษณะการสอดประสานกันของด้ายยืน&ด้ายพุ่ง
การทอลายต่วน (Satin or Sateen weaving)
ผ้าลายต่วนหรือผ้าลายซาตินมีลักษณะคล้ายผ้าทอลายทแยง ด้ายยืนหรือด้ายพุ่งจะลอยข้ามอยู่ด้านบนเกือบทั้งหมด และมีลายทางที่ยาวกว่า วิธีขัดของเส้นด้ายแตกต่างกันกับผ้าลายทแยง คือ เส้นด้ายที่ลอดอยู่ด้านใต้กระจัดกระจาย ส่วนเส้นด้ายที่ลอย ยิ่งยาวยิ่งทำผ้าให้เป็นมันมาก
ผ้าทอลายต่วน
ผ้าทอ 2 ชั้น (Double – cloth weaving)
ใช้ด้าย 4 ชุด เป็นด้ายยืน 2 ชุด ด้ายพุ่ง 2 ชุด เมื่อทอเป็นผ้า 2 ชั้น ในการทอด้ายจะสานและยึดผ้าทั้ง 2 ชั้นให้ติดกันเป็นช่วงๆ หรือเป็นระยะสลับกัน ช่วงที่ผ้าไม่ติดกันจะเกิดช่องว่างคล้ายถุงหรือกระเป๋า บางครั้งจึงเรียกการผลิตผ้าวิธีนี้ว่าการทอแบบกระเป๋า (Pocket weave) และเรียกผ้าที่ทอเสร็จแล้วว่า ผ้ากระเป๋า
ผ้าที่ได้จะเป็นผ้าเนื้อหนาและหนัก มักออกแบบสำหรับผ้าที่ต้องการใช้ได้ทั้ง 2 หน้า และมีสีและลวดลายทั้ง 2 ด้าน เช่นด้านหนึ่งหรือด้านบนเป็นผ้าตา อีกด้านหนึ่งหรือด้านล่างเป็นผ้าเนื้อเรียบธรรมดาและมีสีพื้นเพียงสีเดียว
Double-cloth weaving
การทอแจ็กการ์ด (Jacquard weaving)
เป็นการทอตกแต่งลวดลายผ้าด้วยเครื่องทอที่มีเครื่องทอประกอบพิเศษที่เรียกว่า แจ็กการ์ด ซึ่งเป็นการทอยกดอกและลวดลายที่มีขนาดใหญ่ จะต้องจัดเส้นยืนไว้ไม่น้อยกว่า 25 ชุด ในการทำลวดลายหนึ่งๆ ทำให้ผ้ายกดอกแจ็กการ์ดมีราคาค่อนข้างแพง ลวดลายของผ้าจะสวยงามมาก ตัวอย่างผ้าทอแจ็กการ์ด ได้แก่ ผ้าดามาสค์ (damask) ผ้าโบรเคด (brocade) ผ้าทาเพสตรี (tapestry) ฯลฯ
The floral pattern ทอจากเครื่องทอแจ็กการ์ด
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
- Fabric for Fashion by Clive Hallett & Amanda Johnston
- @ออกแบบสิ่งทอ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิสนีย์ สิงหวรเศรษฐ์
โฆษณา