1 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
ค่าครองชีพสูงขึ้นมากในช่วงนี้ จะบริหารค่าตอบแทนพนักงานอย่างไรดี
ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งค่าครองชีพสูงมาก ถ้าเราดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ และอัตราค่าครองชีพ จากราคาสินค้าต่าง ๆ ทั่วโลก จะเห็นว่าสูงขึ้นอย่างมากมาย และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย
ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน เราเริ่มเห็นอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาเรื่อย ๆ มาประมาณ 3-4 เดือนได้แล้ว พนักงานที่ทำงานในองค์กรต่าง ๆ ก็เริ่มบ่นให้ฟังกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เงินเดือนค่าจ้างที่ได้นั้นมันไม่พอที่จะกินอยู่แล้ว ทุกอย่างแพงขึ้นหมด
ในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2565 อัตราค่าครองชีพสูงขึ้นถึง 7.1% เรียกได้ว่า สูงกว่าอัตราการขึ้นเงินเดือนของพนักงานในหลาย ๆ บริษัทด้วยซ้ำไป
พนักงานบางคนที่พยายามประหยัดแล้ว เงินเดือนก็ยังไม่พอใช้จ่ายกับสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แล้วถ้าเรามองในมุมขององค์กร เราจะบริหารค่าตอบแทนพนักงานในช่วงค่าครองชีพสูงขึ้นแบบนี้อย่างไรดี
ก็มีหลากหลายวิธีที่องค์กรเลือกใช้ ผมจะสรุปให้อ่านกัน แต่องค์กรของท่านคงต้องพิจารณาว่า วิธีการไหนที่เหมาะสมกับองค์กรเรามากที่สุด
• ปรับฐานเงินเดือนพนักงาน วิธีแรกที่สามารถทำได้ ก็คือ การปรับฐานเงินเดือนพนักงานให้สูงขึ้น ซึ่งต้องกำหนดว่า พนักงานกลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพสูงมากที่สุด ก็อาจจะปรับให้เฉพาะกลุ่มนั้นก่อน จากการสำรวจของบริษัท Think People Consulting ที่ปรึกษาด้านการบริหารค่าจ้างเงินเดือน พบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากที่สุดก็คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มพนักงานจบใหม่ ที่เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท
วิธีนี้ทำได้ง่าย เราสามารถกำหนดอัตราปรับให้เท่ากันทุกคนก็ได้ (ซึ่งควรจะให้เงินเพิ่มในส่วนนี้เท่าไหร่นั้น จะเขียนให้อ่านกันในท้ายบทความนี้) แต่สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ การเพิ่มต้นทุนคงที่ในเรื่องเงินเดือนพนักงานขององค์กร คงต้องพิจารณาว่า เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นให้นี้ จะไปกระทบกับอะไรบ้าง เช่น เงินสมทบประกันสังคม สมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การขึ้นเงินเดือนในปีถัดไป โบนัสตามผลงาน ฯลฯ
• เพิ่มเงินค่าครองชีพอีกก้อนหนึ่งแยกจากเงินเดือน วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่มีหลายบริษัททำกัน เราสามารถกำหนดเงินค่าครองชีพเพิ่มเติมให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบได้ โดยให้ทุกคนเท่ากัน และให้ประจำทุกเดือนไปเลย แยกจากเงินเดือนประจำ วิธีนี้ก็จะทำให้ฐานเงินเดือนพนักงานไม่สูงขึ้น ซี่งไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารค่าตอบแทนในด้านอื่น ๆ แต่ก็คงต้องพิจารณาอัตราค่าครองชีพที่ให้ และงบประมาณในภาพรวมว่าองค์กรจะต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้อีกเท่าไหร่
• เพิ่มเงินค่าครองชีพ แต่ให้ชั่วคราว วิธีถือเป็นการแก้ไขปัญหาในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ในกรณีที่เรามั่นใจว่าค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น สูงขึ้นเป็นการชั่วคราว จากนั้นก็น่าจะลดลงบ้างเล็กน้อย ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นมาก ๆ บริษัทก็สามารถให้เงินช่วยเหลือแก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นการให้ชั่วคราว
บริษัทจะต้องเขียนข้อกำหนดในเรื่องนี้อย่างชัดเจน เช่น ให้ในอัตราเท่าไหร่ และจากเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ สิ้นสุดระยะเวลาแล้ว ก็จะไม่ให้เงินก้อนนี้ต่อไปนะ ดังนั้นเงินก้อนนี้ก็จะไม่ถือเป็นค่าจ้าง แต่เป็นเงินช่วยเหลือ คล้าย ๆ สวัสดิการพนักงานเท่านั้น
ส่วนอัตราในการให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพนั้น ต้องบอกว่า ไม่มีเกณฑ์ตายตัว จากผลการสำรวจ จะอยู่ที่ 1,000-3,000 บาท อยู่ที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงาน และงบประมาณของบริษัทที่สามารถช่วยเหลือได้
ดังนั้นในช่วงนี้ บริษัทสามารถที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นของพนักงานได้ ในกรณีที่เราพอจะมีงบประมาณในการนี้ อย่างน้อยก็ทำให้พนักงานเกิดความสะดวกในการมาทำงานมากขึ้น มิฉะนั้น เราอาจจะสูญเสียคนเก่ง ๆ ไปได้ เพราะคนเหล่านี้ก็จะหางานใหม่ ที่มีเงินเดือนสูงกว่าเดิม ถ้าเขาเดือดร้อนจริง ๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากบริษัท
ก็คงต้องพิจารณากันอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจครับ
โฆษณา