2 ก.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จักการหามูลค่าเหมาะสมของหุ้นด้วย Relative Valuation หรือ Multiple
[วิธีนี้คือการใช้ PE / PBV / EBITDA]
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน PE / PBV / EBITDA กันมาบ้างแล้ว หากใครที่ลงทุนในหุ้น มักจะอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ บทวิเคราะห์ หรือเวลาเราดูงบการเงิน
วันนี้จะมาอธิบายแต่ละตัวและวิธีการคิดด้วยสามตัวนี้เพื่อจะหามูลค่าเหมาะสมของหุ้นแบบง่ายๆ
มาเริ่มที่ตัวแรกกันเลยดีกว่า
📌PE หรือ Price to earnings ก็คือราคาเทียบกับกำไร
สูตรมันคือ Price / Earnings โดยเรามักจะใช้ ราคาต่อหุ้น (Price per share) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (Earnings per share, EPS)
PE เป็นสูตรการเงินอันเดียวที่บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและผู้ถือหุ้น เพราะสิ่งที่บริษัททำได้ถูกสะท้อนมาจาก กำไรของบริษัท นั่นก็คือ EPS ขณะที่สิ่งที่นักลงทุนคิดหรือคาดหวัง สะท้อนมาจากราคาหุ้นนั่นเอง
บางคนอาจจะเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า “PE ต่ำน่าซื้อ PE สูงควรขาย” คำตอบคือไม่จริงเสมอไป ..
สิ่งที่ต้องดูคือ
1.ธรรมชาติของ PE ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นอสังหา จะเห็นเลยว่า PE จะอยู่ที่ราว 10x แต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีช่วง PE ของมันเอง เราต้องดูอดีต แล้วปัจจุบันรวมถึงคู่แข่งในอุตสาหกรรม
2.เข้าใจว่า PE ต่ำสูงมาจากอะไร เช่น มาจาก E หรือกำไร น้อย ขณะที่ราคาสูง ทำให้ PE สูงหรือเปล่า หรือมาจากกำไรเยอะ แต่ราคาต่ำ ทำให้ PE ต่ำ
แล้ว PE สูงน่าซื้อไหม คำตอบคือได้ เพราะการที่ PE สูง อาจจะเกิดมาจาก กำไรยังไม่มา แต่นักลงทุนคาดหวังไว้มากว่าธุรกิจจะเติบโต กำไรมา และสุดท้ายทำให้ PE ต่ำลงได้ แต่!! การที่นักลงทุนคาดหวังมากไป ก็เป็นความเสี่ยงหากกำไรไม่มาจริง หุ้นอาจจะถูกเทขายได้
PE ต่ำควรซื้อไหม? บางช่วงธุรกิจอาจจะแย่จริงๆ ทำให้ PE ต่ำลงแต่มีแนวโน้มดีขึ้น แบบนี้ก็น่าสนใจ ยกเว้นแต่ PE ต่ำ เพราะนักลงทุนอาจจะมองว่าต่อให้ตอนนี้กำไรเยอะ แต่อนาคตไม่ได้สดใส หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ควรเทรดแพง หรืออาจจะไม่ได้อยู่ในธุรกิจที่เป็น Mega trends ใหญ่ ก็เป็นไปได้ที่ PE ที่ต่ำนั่นเหมาะสมแล้ว เพราะนักลงทุนไม่ได้สนใจเล่น
เคยได้ยินไหมครับ ถ้า PE 10 หมายความว่าใช้เวลา 10 ปี คืนทุน การลงทุนสมัยก่อนจะดูแบบนี้ แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป หุ้น PE สูงกลับเล่นได้
การใช้ PE ประเมินมูลค่าหุ้นนั้น ถูกใช้ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเลย เช่น อสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอาหาร พลังงาน
ข้อดีของการใช้ PE ประเมินมูลค่าหุ้นก็คือมันทำให้ง่ายต่อการคิดหาราคาหุ้นเป้าหมายได้ ขณะที่ก็ค่อนข้าง Subjective คือแล้วแต่เราเลยว่าจะใช้ PE ระดับที่เท่าไหร่ในการประเมิน เช่น สมมติ EPS ปีนี้ 15 เราประเมินคร่าวๆ ปีหน้าน่าจะทำได้ EPS 20 เราก็ลองใช้ PE ระดับ 10 เท่า ก็คือ 10x20 = 200 บาท แสดงว่าราคาที่ควรจะเป็นประมาณ 200 ถ้ากำไรขนาดนั้น และเทรดที่ระดับพีอีที่ 10 เท่า
ข้อเสียก็คือเราก็ไม่รู้จะใช้ PE ระดับไหนดีที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือเราต้องเข้าใจหุ้นนั้นอยู่พอสมควร แล้วดู PE ย้อนหลัง 1 / 3 / 5 / 10 ปี ว่าในแต่ละช่วงที่มันเทรด PE ในแต่ละระดับ เพราะเรื่องอะไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำไมมันอยู่ใน Range นั้น แล้วจึงนำพวกนั้นมาใช้ประเมิน PE ที่เหมาะสม ในปัจจุบันที่สถานการณ์คล้ายกับอดีต เพียงเท่านี้ก็จะได้ราคาหุ้นเป้าหมายที่เราคิดได้แล้ว
📌PBV หรือ Price to Book Value ก็คือการที่เราเอาราคาหุ้นเทียบกับมูลค่าทางบัญชี
สูตรมันคือ Price / Book Value โดย Book Value ก็คือการที่เราเอา สินทรัพย์​ (Assets) ทั้งหมดของบริษัท - หนี้สิน (Liabilities) ทั้งหมด ก็จะเหลือส่วนที่เป็น Book Value ซึ่ง Book Value ที่มาคิดในสูตรนี้ก็คือใช้เป็น Book Value per share หรือ มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น เราจะเอา Book Value มาหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดก่อน
Book value จะสะท้อนมูลค่าของบริษัททางบัญชี ซึ่งเป็นมูลค่าที่คนเป็นเจ้าของได้ ซึ่งจริงๆ Book value อาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าตลาดปัจจุบันได้นะ
การใช้ PBV มักจะใช้ประเมินมูลค่าหุ้นบริษัท ที่อาจจะมีการเหวี่ยงของกำไรตลอด มีขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง เพราะจะหา PE ไม่ได้ เนื่องจากตัวหารเป็นกำไรบริษัท จะทำให้ PE ติดลบ
ที่เห็นคือ PBV ใช้หามูลค่าหุ้นกลุ่มแบงค์​ การเงิน และก่อสร้าง หลักการคิดว่าอันไหนดีไม่ดีเหมือนกัน คือ เอาตัวเองไปเทียบอดีต และเทียบกับคู่แข่ง จากนั้นเอามาคูณเข้ากับ Book value per share ที่เราหามาได้
📌EBITDA Multiple
EBITDA ย่อมาจาก Earnings before interest taxes & depreciation amortization
แปลก็คือเป็นกำไรก่อนหักดอกเบี้ย จ่ายภาษี และค่าเสื่อมต่างๆ โดยส่วนนี้มักจะสะท้อนกำไรของบริษัทซึ่งมาจาก Operation และเป็นสะท้อนเงินสดได้ดีกว่า เพราะกำไรสุทธิที่เราเห็นเวลาเขาประกาศกันมาจะหักค่าเสื่อมแล้ว ค่าเสื่อมก็คือการที่เราไปซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ ตามบัญชีต้องมีการตัดค่าเสื่อมด้วย โดยพวกนี้มาถูกบันทึกในค่าใช้จ่ายเพื่อทางบัญชีเท่านั้น ไม่ได้มีเงินสดจ่ายออกไป
EBITDA สามารถคำนวณเองก็ได้ แต่คิดว่าจะยากเหมือนกันสำหรับมือใหม่ แต่ใน Settrade เข้าไปที่ Factsheet เลื่อนมาตรงงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Income Statement หรือ P&L) ก็จะเจอ EBITDA
1
เมื่อได้ EBITDA มาแล้ว เราก็สามารถเอามาคูณกับเลขที่เราคิดว่าเหมาะสม เช่น ธุรกิจ Food ร้านอาหารในไทย ปกติเทรดอยู่ที่ EBITDA 10x ในตลาด (ยกเว้น AU) เราก็สามารถเอาเลข 10 มาคูณกับ EBITDA ที่เราคิดว่าบริษัทจะทำได้ แค่นี้ก็จะได้มูลค่าบริษัทแล้ว
เช่น สมมติเราคิดว่าบริษัท A จะทำ EBITDA ได้ 500 ล้านบาท โดยเราคิดว่ามันควรเทรดประมาณ 10x เหมือนคู่แข่งในตลาดที่จดใน SET ก็เอา 10 x 500 = 5,000 ล้าน คือมูลค่าเหมาะสมของบริษัท A
ถ้าต้องการราคาหุ้นเหมาะสม ก็เอา 5,000 / จำนวนหุ้นทั้งหมด แค่นี้ก็ได้ราคาหุ้นที่เหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ดี EBITDA เองก็ต้องดูเทียบตัวเองในอดีต หรือคู่แข่งในตลาด และอุตสาหกรรมที่อยู่ด้วย ไม่ต่างกับ PE / PBV
วิธีที่เล่ามาในวันนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งในหมู่นักลงทุน นักวิเคราะห์ หรือ Investment banker ที่ต้องใช้คิดมูลค่าเหมาะสมของบริษัท ทั้งสามแบบสามารถใช้คิดมูลค่าบริษัทอะไรก็ได้นะ ไม่ว่าจะ Private หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็สามารถทำได้
โฆษณา