14 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
"ทำเลเปลี่ยน บ้านก็เปลี่ยน" มาเตรียมพร้อมก่อนสร้างบ้านให้เหมาะกับทำเลที่แตกต่าง
ทำเลที่ตั้งของบ้านแต่ละแห่ง ล้วนมีเสน่ห์และเหมาะสมกับรูปแบบการอยู่อาศัยที่แตกต่างกัน เช่น บ้านริมทะเล ที่จะได้สัมผัสทั้งเสียงคลื่นและวิวทะเล หรือบ้านทางภาคเหนือที่ต้องสร้างบ้านบนเนินเขา ซึ่งมาพร้อมความสวยงามจากทัศนียภาพของทิวเขา
ดังนั้น การสร้างบ้านให้สอดคล้องกับทำเลที่ตั้ง เราต้องมีความเข้าใจลักษณะ ภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศ จะได้เตรียมความพร้อมทั้งสภาพที่ดิน วัสดุ และโครงสร้างให้เหมาะสม เพราะประสิทธิภาพการใช้งานของวัสดุแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน เมื่อถูกนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศ หรือสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความแข็งแรง และอายุการใช้งานของบ้าน
วันนี้เราจึงมีความรู้เรื่องการสร้างบ้านในแต่ละทำเลมาฝาก เช่น บ้านบนที่ราบ บ้านบนเขา บ้านชายทะเล และบ้านริมน้ำ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังจะสร้างบ้านตามทำเลแต่ละแห่ง เรียกว่ารู้ก่อน ก็เตรียมพร้อมก่อน บ้านจะได้สวยงาม และแข็งแรงทนทาน เป็นบ้านในฝันที่อยู่แล้วสุขสบาย
บ้านบนเขา
บ้านที่ก่อสร้างบนภูเขาที่มีความลาดชันตามลักษณะภูมิประเทศ อาจมีความยุ่งยากในการจัดการพื้นที่ ดังนั้นการสร้างบ้านแบบเล่นระดับจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากไม่ต้องปรับที่ดินให้เรียบ แต่ใช้การเล่นระดับของบ้านตามแนวเส้นระดับที่ค่อย ๆ สูงขึ้นของภูเขาแทน วิธีนี้นอกจากไม่ยุ่งยากกับการปรับหน้าดินแล้ว ยังช่วยสร้างเอกลักษณ์และมุมมองที่หลากหลายให้กับตัวบ้าน แต่เนื่องจากบนเขาอาจมีอากาศหนาวกว่าที่ราบ การออกแบบบ้านจึงควรก่อสร้างกำแพงให้หนากว่าปกติ และทำช่องเปิดให้น้อยเพื่อช่วยกันลม
สำหรับงานคอนกรีต เนื่องจากบนเขามีอากาศค่อนข้างชื้น จนอาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างไม่ต่างจากลมทะเล ปูนฉาบภายนอกควรมีความหนาอย่างน้อย 5 เซนติเมตร หรืออาจใช้วัสดุทดแทนเหล็กอย่าง GFRP (Glass Fiber Reinforced Plastic) เพื่อป้องกันสนิม
นอกจากความลาดเอียงของพื้นที่อาจจะทำให้เกิดดินสไลด์ได้ในฤดูฝน จึงควรทำกำแพงกันดินเพื่อความปลอดภัย หรือพิจารณาทำคันดินขั้นบันไดเพื่อปลูกพืชคลุมดินประเภทไม้พุ่มเตี้ย เช่น หญ้าแฝก ตะไคร้ เตยหอม ถั่วบราซิล รวมถึงไผ่บางพันธุ์ เพื่อช่วยพยุงดิน และลดความแรงของกระแสน้ำป้องกันการชะล้างของหน้าดิน
บ้านบนที่ราบ
"ที่ราบ" คือทำเลมาตรฐานส่วนใหญ่ของการสร้างบ้าน ซึ่งเป็นที่ดินที่จัดการค่อนข้างง่าย เพราะไม่ค่อยมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก แต่ในบางทำเลที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง หรือที่ดินที่อยู่ต่ำกว่าระดับถนน อาจต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาวได้
ดังนั้น เราจึงควรเตรียมทางระบายน้ำไว้ด้วย รวมถึงการยกบ้านขึ้นให้มีใต้ถุนด้านล่างก็เป็นอีกทางเลือกในการป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมได้ หรือการถมดินเพื่อให้ระดับบ้านสูงขึ้น ไม่ให้ต่ำกว่าระดับถนนก็สามารถช่วยให้บ้านไม่ต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่ทั้งนี้การถมดินควรถมให้สูงกว่าระดับที่ตั้งใจไว้ขึ้นมาสักหน่อย เพราะหลังจากถมดินแล้ว เมื่อผ่านไปสักพักดินอาจยุบตัวลงเล็กน้อย ทำให้ต้องถมดินซ้ำอีกรอบ
การเลือกฐานรากเสาเข็ม
การเลือกฐานรากเสาเข็มก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง ควรเลือกใช้ตามลักษณะของดินในพื้นที่นั้น ๆ อย่างลักษณะดินที่มีความแข็งแรงมาก หรือเป็นชั้นหิน เช่น ภาคอีสาน และภาคเหนือ ฐานรากของบ้านอาจไม่จำเป็นต้องมีเสาเข็ม แต่ควรใช้เป็นฐานรากแบบแผ่ เพื่อกระจายแรงลงดิน เพราะความแข็งของชั้นดินและหิน สามารถช่วยพยุงโครงสร้างได้
สำหรับดินแถบภาคกลางบางจังหวัด ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างอ่อน ฐานรากเป็นสิ่งจำเป็นมาก ต้องมีเสาเข็มเพื่อความแข็งแรง โดยต้องเจาะให้ถึงชั้นดินแข็งเพื่อกระจายแรงลงดิน ซึ่งเป็นฐานรากแบบวางบนเสาเข็ม แต่ละพื้นที่มีลักษณะดินแตกต่างกันออกไป จึงจำเป็นต้องปรึกษาวิศวกรให้ออกแบบโครงสร้างที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่เพื่อความปลอดภัย โดยสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด
บ้านชายทะเล
"บ้านริมทะเล" เป็นบ้านที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ลมและไอเค็มของทะเลอาจจะสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างได้ โครงสร้างที่เลือกใช้จึงควรเป็นเหล็กที่มีความแข็งแรงได้มาตรฐาน และทาสีกันสนิมเสียก่อน ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้กับบ้านในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง หรือบริเวณที่มีดินเค็มด้วย
อีกเรื่องที่ควรคำนึงถึง คือการป้องกันการกัดเซาะและแรงปะทะจากคลื่นทะเล เนื่องจากในช่วงมรสุมที่มีคลื่นสูง ลมแรง อาจทำให้เกิดการปะทะกับพื้นที่ หรือตัวบ้านได้ น้ำทะเลอาจกัดเซาะที่ดินทำให้ดินทรุดตัว เพราะลักษณะดินบริเวณทะเลมีความร่วนซุยและเป็นดินทราย เกิดการทรุดตัวได้ง่าย จนอาจสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างของบ้าน โดยเฉพาะคลื่นทะเลที่มีความสูงกว่าปกตในช่วงมรสุม
ดังนั้น จึงไม่ควรวางตัวบ้านให้อยู่ใกล้ริมทะเลจนเกินไป หรืออีกวิธีหนึ่งคือการทำ "เขื่อน" กันดินทรุด จะช่วยลดการปะทะจากคลื่นทะเลในช่วงมรสุมได้ โดยสามารถปรึกษาและติดต่อขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำได้ที่กรมเจ้าท่า กระทรงคมนาคม
งานคอนกรีตสำหรับบ้านริมทะเล
สำหรับงานคอนกรีต ปูนฉาบภายนอกควรมีความหนาอย่างน้อย 5 เซนติเมตร เพื่อป้องกันตัวเหล็กภายในโครงสร้างจากไอทะเล และน้ำทะเลที่อาจซึมผ่านเข้ามาในคอนกรีตได้ ทำให้โครงสร้างภายในเสียหายจากการขึ้นสนิม ความหนาของปูนจึงควรมีมากกว่าปกติ หรือเลือกใช้วัสดุทดแทนเหล็กอย่าง GFRP หรือเส้นไฟเบอร์เสริมแรงคอนกรีต ซึ่งใช้ทดแทนเหล็กเส้นได้
บ้านริมน้ำ
บ้านริมน้ำไม่ว่าจะเป็นริมแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำขุดขึ้นมาเอง วัสดุโครงสร้างที่ควรคำนึงถึงไม่แตกต่างจากบ้านริมทะเล และบ้านบนภูเขา เพราะต้องอยู่กับความชื้นตลอดเวลา และอีกสิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องการกัดเซาะของน้ำ
ก่อนสร้างบ้านอาจจะต้องดูทิศทางของน้ำก่อนสร้างบ้านอาจจะต้องดูทิศทางของน้ำประกอบด้วย ถ้าทิศทางของน้ำพัดมากัดเซาะตลิ่ง อาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างของบ้าน จึงควรทำเขื่อนกันน้ำ หรือใช้เสาเข็มที่รับแรงเสียดทานได้ดี เช่น เสาเข็มรูปตัวไอ (I-section) หรือการปลูกพืชคลุมดิน เช่น ใบต่างเหรียญ กระดุมทองเลื้อย หรือต้นไม้ริมน้ำ เช่นมะพร้าว และไผ่ นอกจากจะช่วยป้องกันหน้าดินแล้ว ยังมีผลผลิตให้เก็บมารับประทานได้ อีกทั้งบางต้นยังช่วยบังแดดที่สะท้อนมากับผิวน้ำ ป้องกันการสะท้อนความร้อนเข้าบ้านได้อย่างดี
ยิ่งกว่านั้นกรณีบ้านที่ตั้งอยู่ริมแหล่งน้ำธรรมชาติ ยังควรให้ความสำคัญกับเรื่องระดับน้ำ เพราะแต่ละช่วงฤดูกาล ระดับน้ำจะขึ้นลงไม่เท่ากัน ดังนั้นควรหาข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดของบริเวณนั้นว่าอยู่ในระดับใด เพื่อที่เราจะได้ยกตัวบ้านให้พ้นระดับน้ำ เพราะหากบ้านอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ หรือเสมอกับระดับน้ำเกินไป เมื่อน้ำเกิดกระเพื่อมอาจซัดเข้ามาในบ้านได้
เรื่อง : จาเนียว
เรียบเรียง : Phattaraphon
ภาพประกอบ : คณาธิป
ภาพปก : Rungkit Charoenwat
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา