4 ก.ค. 2022 เวลา 12:45
[ปลาตาบอดในถ้ำวงกต]
ในถ้ำอันมืดมิด พลังงานเป็นของหายาก
เมื่อไม่มีพืชหรือสาหร่ายคอยสังเคราะห์แสง พลังงานที่สัตว์ในถ้ำได้รับล้วนมาจากการนำเข้าจากสถานที่อื่น บ้างก็ผ่านสายน้ำที่ไหลจากโลกภายนอกเข้าสู่ถ้ำ บ้างก็ผ่านค้างคาวที่ออกท่องโลกยามราตรีแล้วกลับมาปล่อยมูลลงสู่พื้น ถ้าถ้ำเป็นประเทศ ประเทศนี้คงขาดดุลการค้าย่อยยับ
เมื่อมีวิกฤตพลังงานเกิดขึ้น พอค่าน้ำมันแพง ค่าไฟแพง เราก็มักจะได้เห็นรัฐบาลรณรงค์ให้คนในประเทศช่วยกันประหยัดพลังงาน ซึ่งน้องแอสตี้ (Astyanax mexicanus) ก็ประหยัดด้วยการเลิกใช้ตามันซะเลย
แอสตี้ในโลกภายนอกมองเห็นทุกอย่างได้ปกติ (บน) ส่วนแอสตี้ถ้ำจะตัวขาว ตาบอด (ล่าง) ภาพจาก NIH Image Gallery
ความแปลกอย่างหนึ่งของระบบการมองเห็นในสัตว์มีกระดูกสันหลังคือเซลล์ประสาทรับแสงจะขยันทำงานเมื่อไม่มีแสงมาตกกระทบ แปลว่าในถ้ำมืดๆ ที่มองอะไรไม่เห็น ดวงตาได้กลายเป็นของที่ไร้ประโยชน์แถมยังสิ้นเปลืองพลังงาน การปิดใช้งานดวงตาจึงเป็นทางเลือกที่ชาญชลาดอยู่ทีเดียว
แม้ดวงตาจะหายไป แต่แอสตี้ตาบอดก็ได้อัพเกรดประสาทสัมผัสอันอื่นมาใช้ทดแทน รูจมูกที่ใหญ่ขึ้นก็ช่วยให้รับกลิ่นได้ดี แถมยังไวต่อแรงต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย
เนื่องจากแอสตี้ถ้ำไม่ได้มีนักล่ามาคอยรังควาน แรงกระเพื่อมที่มากระทบตัวจึงไม่ใช่สัญญาณจากนักล่าที่ควรว่ายหนี แต่อาจเป็นสัญญาณชี้เป้าอาหารมื้อถัดไป ทำให้แอสตี้ถ้ำเป็นสัตว์ที่ไม่เกรงกลัวต่อแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำ จริงๆ อาจจะดีใจซะด้วยซ้ำ
ตัดจบแบบค้างคาเช่นเคย ถ้าใครสนใจสามารถไปอ่านเรื่องราวของเศรษฐศาสตร์ในถ้ำได้ที่
Maderspacher, F. (2022). White, fat and blind—Economy and evolution in caves. -> https://doi.org/10.1016/j.cub.2022.05.040
โฆษณา