6 ก.ค. 2022 เวลา 07:39 • ท่องเที่ยว
สาธารณรัฐมาลาวี (Republic of Malawi) มีชื่อเดิมว่า ไนแอซาแลนด์ (Nyasaland) เป็นรัฐประชาธิปไตยที่มีประชากรหนาแน่นอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศแซมเบียทางตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับประเทศแทนซาเนียทางเหนือ และมีประเทศโมซัมบิกล้อมรอบทางทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรพร้อมกับเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1966 โดยมีนาย Hastings Kamuzu Banda เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ
•เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ล้อมรอบด้วยแซมเบีย แทนซาเนีย และโมซัมบิก
•เป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด เป็นผู้รับเงินบริจาคจากต่างประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก และมีอัตราผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS สูง
•เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศขึ้นอยู่กับการเกษตร
มาลาวีปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (จำนวน 46 ตำแหน่ง) ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 193 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2009
ฝ่ายตุลาการประกอบด้วย ศาลอุทธรณ์สูงสุด ศาลสูง (หัวหน้าคณะผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี) และศาลแขวง เดิมดินแดนมาลาวีชื่อ นยาซาแลนด์ (Nyasaland) ประกอบด้วยประชากรจากหลายชนเผ่า ชนเผ่า Bantu เป็นชนเผ่าแรกที่อพยพไปในบริเวณที่เป็นประเทศมาลาวีปัจจุบัน จากนั้น เป็นชนเผ่า Tumbuka เผ่า Phoka เผ่า Maravi เผ่า Yao และเผ่า Zulu ตามลำดับ
เศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเกษตร มีสินค้าออกคือ ยาสูบ ชา น้ำตาล มีแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุ คือ บ๊อกไซต์ เยื่อหินทนไฟ กราไฟต์ และยูเรเนียม แต่ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่ จำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศ รัฐบาลมาลาวีต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ โดยมีแหล่งท่องเที่ยว คือ ทะเลสาบมาลาวี (ใหญ่อันดับ 3 ในแอฟริกา)
แต่ยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากนัก เนื่องจากปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงจากไกด์ท้องถิ่น และความกลัวของนักท่องเที่ยวต่อสถานการณ์ความไม่สงบในแถบอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้ รัฐบาลมาลาวียังต้องการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย มาลาวีพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ มาลาวีอยู่ในกลุ่มประเทศ Highly Indebted Poor Countries (HIPC)
ซึ่งได้รับการยกเว้นหนี้และเงินช่วยเหลือเพิ่มอย่างเป็นระบบจากสหประชาชาติและกลุ่มประเทศ G8 ปัจจุบัน รัฐบาลมาลาวีเร่งพัฒนาประเทศในด้านการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจแบบตลาด การพัฒนาการศึกษา และการควบคุมการระบาดของโรคเอดส์และการรักษาประชากรที่ติดเชื้อ HIV/AIDS
#ประเทศมาลาวี #Malawi #ไนแอซาแลนด์ #Nyasaland #ทวีปแอฟริกา #Africa
โฆษณา