7 ก.ค. 2022 เวลา 14:00 • ธุรกิจ
AIS VS TRUE แลกหมัด ไล่ฮุบกิจการมุ่งสู่เทคคอมพานี
1
ตลาดโทรคมนาคมไทยเดือด บิ๊กทุนใหญ่ เปิดเกมแลก “เอไอเอส” ปฎิบัติการโต้กลับกลุ่มทรู ล่าสุดประกาศไล่ฮุบกิจการ “ทริปเปิลที บรอดแบนด์” ผู้ให้บริการเน็ตบ้าน อันดับ 2 ต่อยอดสู่บริการคอนเวอร์เจนซ์-ขยายต่างจังหวัด นักวิชาการ ชี้ตลาดโทรคมนาคมไทยเข้าสู่ยุคผู้เล่นน้อยราย
สงครามแลกหมัดระหว่างบิ๊กทุนใหญ่ “ซีพี” และ“กัลฟ์” ช่วงชิงผู้นำตลาดโทรคมนาคมไทย ก่อนก้าวไปสู่ผู้นำเทคคอมพานีปะทุขึ้นอีกรอบ หลังจากปลายปีที่ผ่านมากลุ่ม “ซีพี” นำโดย ทรู ประกาศควบรวมกิจการดีแทค เขย่าบัลลังค์โอปอเรเตอร์มือถืออันดับหนึ่ง “เอไอเอส” ที่ยึดครองตลาดมาเป็นเวลานาน
1
ซึ่งขณะนี้กระบวนการควบรวมยังดำเนินต่อไปท่ามกลางกระแสการคัดค้านขององค์กรผู้บริโภคและนักวิชาการ รวมถึงการพิจารณาจากคณะกรรมการ กสทช. และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มทรู ยังได้ฉกตัว “ลิซ่า BlackPink” หนึ่งในพรีเซนเตอร์คนดังของเอไอเอส 5G
1
ล่าสุดเอไอเอส เริ่มปฎิบัติการโต้กลับ “กลุ่มทรู” โดยให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) เข้าซื้อหุ้นใน บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) จำนวน 7,529.24 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 99.87% และ ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จาก JAS จำนวน 1,520 ล้านหน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19.00% ของหน่วยลงทุนทั้งหมดของ JASIF โดยทั้ง 2 ธุรกรรมมีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท
5
การเข้าซื้อกิจการทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB ในฐานะผู้ให้บริการเน็ตบ้านอันดับ 2 ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 3.6 ล้านราย (ลูกค้าที่เก็บเงินได้จริง 2.4 ล้านราย) มีนัยยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงบริการเน็ตบ้านในไทย โดยเมื่อ 3BB มารวมกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ผู้ให้บริการเอไอเอสไฟเบอร์ ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการ 1.8 ล้านราย จะทำให้ผู้ใช้บริการเพิ่มเป็น 4.2- 5.4 ล้านราย ขณะที่ ทรู อินเตอร์เน็ตที่ครองผู้นำตลาดเน็ตบ้านมาเป็นเวลานาน มีผู้ใช้บริการ 4.7 ล้านราย
3
ชิงผู้นำเทคคอมพานี
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยุทธศาสตร์ ของ เอไอเอส และทรู มีเป้าหมายเดียวกัน โดยต้องการก้าวไปสู่ผู้ให้บริการดิจิทัลแบบหลอมรวม แต่เติบโตมาคนละฝั่งโดยฝั่งเอไอเอส เติบโต และเป็นผู้นำบริการมือถือ ต้องการขยายเข้ามาสู่ธุรกิจให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต ที่ผ่านมามีการซื้อซีเอสล็อกอินโฟ ที่เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี ที่มีความแข็งแกร่งตลาดองค์กร และเริ่มทำตลาดบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตภายในบริการเอไอเอส ไฟเบอร์
4
ล่าสุดเข้าซื้อหุ้น ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต อันดับ 2 มีความแข็งแกร่งด้านการตลาด โดยเฉพาะเรื่องราคา และคอนเท้นต์ รวมไปถึงมีความแข็งแกร่งในต่างจังหวัด ซึ่งเมื่อมีการควบรวมกิจการกันจะทำให้ เอไอเอส ไฟเบอร์ สามารถขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถต่อยอดหลอมรวมไปสู่คอนเวอเจ้นซ์ได้ดีขึ้น ส่วนทรู มีความแข็งแกร่งในตลาดบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต และประสบความสำเร็จในการทำตลาดแบบคอนเวอร์เจ้นซ์ โดยหลอมรวมบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน ต้องการก้าวไปสู่ผู้นำตลาดบริการมือถือ
“ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังก้าวสู่ยุคผู้เล่นน้อยราย โดยผู้เล่นที่สามารถอยู่รอดได้จะกลายเป็นผู้ให้บริการที่แข็งแกร่งในตลาด และขยายธุรกิจออกไปสู่เป้าหมาย คือการให้บริการแบบหลอมรวม ซึ่งโลกของบริการโทรคมนาคมยุคหน้า ไม่ใช่มีแค่บริการใดบริการหนึ่ง แต่ต้องมีทั้งโมบายบรอดแบนด์ และ ฟิกซ์ บรอดแบนด์
1
ส่วนในมุมของผู้บริโภคนั้นแม้ว่าจะเหลือผู้เล่นน้อยราย แต่ได้รับบริการครอบคลุมมากขึ้น ขณะที่เรื่องราคาค่าบริการนั้นคงต้องมาดูกันอีกครั้งภายหลังรวมบริการ เนื่องจากที่ผ่านมา 3BB เป็นผู้นำด้านราคา ส่วนเอไอเอสเป็นผู้นำเรื่องคุณภาพ”
กสทช.ชี้ดีลไม่ซับซ้อน
ส่วนแหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส ได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการกรณีการประกาศซื้อหุ้นบริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB
และเงินลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF มูลค่า 32,420 ล้านบาท มายังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือบอร์ด กสทช.แล้ว ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้สำนักงาน กสทช. จะสรุปรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงแผนการซื้อสินทรัพย์ เสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดอีกครั้ง
“ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องมีการรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) หรือต้องมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการรวมธุรกิจเหมือน กรณีควบรวมทรู-ดีแทค เพราะโดยรายละเอียดนั้น 2 ดีลนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยตามหลักการดำเนินนั้น สำนักงาน กสทช.จะเสนอโมเดลภาพการรวมธุรกิจในตลาดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปัจจุบัน เช่น ดัชนีการแข่งขัน จำนวนผู้เล่นในตลาด มูลค่าตลาดรวม จำนวนผู้ใช้บริการล่าสุด มาให้บอร์ดพิจารณา”
1
“การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เอไอเอสเข้าซื้อกิจการครั้งนี้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ซับซ้อนเพราะทั้งเอไอเอส ไฟเบอร์ และ3ฺฺBB ต่างเป็นผู้รับใบอนุญาต (ไลเซ่น) ประเภทสามแบบมีโครงข่ายเป็นของตัวเองทั้งคู่ ทำให้การซื้อกิจการจึงพิจารณาบนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่างกับดีลทรูและดีแทคที่ระบุว่าการควบรวมเป็นเรื่องบริษัทแม่คือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์”
1
ระบุได้ฐานลูกค้า3BB
ขณะที่ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า
ขณะนี้ AWN ได้มีการยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช. ในการเข้าทำธุรกรรมกับทริปเบิลทีบอร์ดแบนด์ ถ้าได้รับการอนุมัติจาก กสทช. ถึงจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นและหน่วยลงทุน โดยคาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ปี 2566 การเข้าไปซื้อหุ้นครั้งนี้ส่งผลให้ เอไอเอส ได้ฐานลูกค้าของ 3BB และ สายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง ต่อยอดธุรกิจแบบครบวงจร
AIS มุ่งขยายเน็ตบ้าน
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) กล่าวว่า การลงทุนขยายธุรกิจในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญตามเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน
1
และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านสายไฟเบอร์ที่ครอบคลุมลูกค้าที่กว้างขวางมากขึ้น และให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากบริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพที่ดี อีกทั้ง จะช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทยโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดทอนความซ้ำซ้อนของการลากสายไฟเบอร์โดยไม่จำเป็นซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โฆษณา