7 ก.ค. 2022 เวลา 23:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สะท้อนความเหมือนที่แตกต่างดีล“ทรู-ดีแทค”VS” AIS-3BB”
อดีต กสทช.ชี้ความเหมือน-ความแตกต่าง “ควบรวมทรู-ดีแทค”กับ” AIS-3BB” ระบุดีล AIS-3BB ตรงไปตรงมา ไม่มีการพยายามหลบเลี่ยงว่าเป็นการควบรวมบริษัทแม่
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ยักษ์สื่อสารอย่าง“เอไอเอส” ประกาศดีลควบรวมครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทลูกได้เข้า “เทคโอเวอร์”หุ้นใหญ่ทั้งหมดในบริษัท ทริปเปิลทีอินเทอร์เน็ต จำกัด หรือ 3BB จำนวน 7,529 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.87 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดด้วยเม็ดเงินกว่า 19,500 ล้านบาท
1
ทั้งยังเข้าซื้อหน่วยลงทุนใน “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)” อีก 1,520 ล้านหน่วยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด มูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท รวมแล้วดีลครั้งนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนไปกว่า 32,420 ล้านบาท ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในทำนองที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หรือไม่ เพราะมีการนำไปเปรียบเทียบกรณีควบรวม“ทรู-ดีแทค” ที่ค่ายเอไอเอสเคยออกโรงคัดค้านแบบสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่ก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามดีล AIS และ 3BB ในครั้งนี้ แหล่งข่าวในวงการสื่อสารโทรคมนาคมยืนยันว่า แตกต่างไปจากดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” แบบหนังคนละม้วน เพราะกรณีการควบรวมทรู-ดีแทคนั้น มาพร้อมกับการถือครองคลื่นความถี่ ซึ่งยากต่อการคลายตัว และเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่
เพราะคลื่นความถี่เหลือไม่พอให้รายใหม่เบียดเข้ามาสู่ตลาด แถมช่องทางการจัดจำหน่าย (ร้านค้าปลีกที่ขาย SIM) ส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยผู้ประกอบการรายเดิม ประกอบกับตลาดเริ่มมีความอิ่มตัวแล้ว มี penetration ถึง 145% โอกาสที่จะเจาะตลาดใหม่ๆนั้นแทบไม่มีช่องทางอีก
1
ขณะที่ตลาดอินเทอร์เน็ตหรือ Fixed Broadband : FBB หลังการซื้อกิจการ 3BB ไม่ได้มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะไม่ต้องใช้คลื่นความถี่ และสามารถเช่าใช้โครงข่ายจากกองทุน DIF และ JASIF ได้ทุกเมื่อ การสมัครเน็ตบ้านส่วนใหญ่สามารถสมัครได้ที่ operator shop / call center ไม่ได้สมัครที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเคาท์เตอร์ของผู้ประกอบการ เพราะต้องเช็คพื้นที่ให้บริการ ตลาดยังโตได้อีกมาก มี penetration ต่ำกว่า 60% ผู้เล่นรายใหม่สามารถจะเข้ามาแข่งขันง่ายกว่า
แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ในรายงานที่ผู้ประกอบการยื่นประกอบขออนุญาตมายัง กสทช.นั้นระบุว่า มูลค่าการตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ณ ไตรมาส 1/2565 มีมูลค่ารวม 52,800 ล้านบาท มีผู้ให้บริการอยู่ 4 รายประกอบด้วย ทรูออนไลน์ มีลูกค้า 4.73 ล้านราย มีส่วนแบ่งการตลาด 43.1% ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (3BB) มีลูกค้า 2.42 ล้านราย คิดเป็น 22.1%
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที 1.95 ล้านราย คิดเป็น 17.8% ส่วนเอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้า 1.87 ล้านราย คิดเป็น 17% ดังนั้นแม้เอไอเอสจะรวมกับ 3BB ก็ทะยานขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของตลาดโดยมีลูกค้าจำนวน 4.29 ล้านราย คิดเป็น 39.1% เท่านั้น
นอกจากนี้ ดีลซื้อกิจการ 3BB นั้นยังสอดรับประกาศ กสทช.ว่าด้วยการควบรวมกิจการ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใด เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการที่ต้องการเสริมความแข็งแกร่งของโครงข่ายไฟเบอร์ที่ตนเองมีอยู่ให้มีความสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ไม่กระทบต่อคู่ค้า พนักงานและตัวบริษัทแต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่หรือยกเลิกบริษัทเดิม
1
มีแต่จะเสริมผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจาก Content อันหลากหลายที่แต่ละเครือข่ายมีอยู่ โดยลูกค้า 3BB จะได้รับบริการมือถือ และสิทธิพิเศษที่ดีกว่า และประสบการณ์การบริการ ในขณะที่ลูกค้ามือถือเอไอเอส โดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงบรอดแบนด์พร้อมใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า
ความเห็นข้างต้นดูจะสอดรับกับความเห็นของนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และที่ปรึกษา กสทช.ที่ออกมาระบุว่า กรณีการยื่นขอควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการดังกล่าวก็ต้องพิจารณาอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน แต่กรณีของการเข้าซื้อกิจการ AIS- 3BB นั้นเป็นการดำเนินการไปตามกรอบกฎหมายและประกาศ กสทช.ไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งในแง่ของการพิจารณานั้น กสทช.ก็คงดำเนินการบนบรรทัดฐานเดียวกันกับ ทรูและดีแทค ว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหรือไม่ และก่อให้เกิดการกระจุกตัวหรือไม่อย่างไร
“กรณีของ AIS และ 3BB มีความชัดเจนทางกฎหมายมากกว่า เป็นธุรกิจเดียวกันทั้งคู่ ตรงไปตรงมา ไม่มีการพยายามหลบเลี่ยงว่าเป็นการควบรวมบริษัทแม่ ไม่เกี่ยวกับบบริษัทลูกอะไรทั้งสิ้น”
โฆษณา