10 ก.ค. 2022 เวลา 15:41 • ความคิดเห็น
พนักงานฝ่ายปกครองกับตำรวจ
ใครจะอยู่ใครจะไป.....?!
เมื่อสองสามวันก่อน สื่อมวลชนกระแสหลักทุกแขนงรายงานข่าวกันครึกโครม กรณีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองนำทีมไปล้อมจับตำรวจท่องเที่ยวที่บางใหญ่ นนทบุรี
รายงานระบุว่า เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจากศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ไปทำการจับกุมนายดาบตำรวจนายหนึ่งสังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวด้วยข้อกล่าวหาเรียกรับสินบนจากผู้ประกอบการสถานบันเทิง
การจับกุมครั้งนี้เป็นข่าวครึกโครม อาจเป็นเพราะ “คุณละม่อม” ไม่ได้ไปร่วมปฏิบัติการด้วย มีการใช้กำลังไล่ล่าปิดล้อม เผชิญหน้ากันถึงขั้นต้องชักอาวุธปืนออกมาข่มขู่กันกลางวันแสกๆท่ามกลางผู้คนที่พลุกพล่านในย่านนั้น
นายดาบตำรวจนายนั้นพร้อมด้วยคู่หูอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นพลเรือน ถูกตั้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น (ป.อาญามาตรา 148)
ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น และร่วมกันกรรโชกทรัพย์ (ป.อาญามาตรา 337)
ผู้ต้องหาทั้งสองถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางใหญ่ท้องที่เกิดเหตุ และได้รับการประกันตัวไปในตอนดึกวันเดียวกัน แต่เรื่องดูเหมือนจะไม่จบเพียงแค่นั้น
หลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาทั้งสองก็แจ้งความร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ด้วยข้อหาความผิดต่อเสรีภาพ (ป.อาญามาตรา 309) โดยอ้างว่าเป็นการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า กรณีลักษณะอย่างนี้จะเกิดผลเป็นประการใดในภายภาคหน้า จะเกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างพนักงานฝ่ายปกครองกับตำรวจหรือไม่ และเมื่อคดีขึ้นไปถึงชั้นศาล ฝ่ายใดจะอยู่ฝ่ายใดจะไป (เข้าคุก)
มีคำถามว่าพนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจทำการล่อซื้อและจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดในลักษณะนี้หรือไม่ และการนำกำลังนับสิบนายเข้าปิดล้อมจับกุมโดยมีการใช้อาวุธปืนด้วยนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยหลักการกว้างๆตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้เช่นเดียวกับตำรวจ ประเด็นจึงเหลือแต่เพียงว่า การจับกุมในวันนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 บัญญัติไว้ว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้...
แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นอยู่หลายข้อด้วยกัน เช่น เมื่อพบว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือเมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นได้แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ในขณะนั้น....
ประมวลจากข้อเท็จริงเบื้องต้นตามข่าวและจากข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น สถานการณ์ของนายดาบตำรวจผู้ตกเป็นผู้ต้องหารายนี้ค่อนข้างจะหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
มีข้อหน้าสังเกตอยู่ว่า การที่นายดาบตำรวจผู้ต้องหาแจ้งความกลับเพื่อดำเนินคดีกับชุดจับกุมของฝ่ายปกครองนั้น มีน้ำหนักมากน้องเพียงใดในการที่จะเอาตัวรอดไปจากคดีนี้
โดยความเห็นส่วนตัวของผม การกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นยุทธวิธีที่ผิดพลาดบกพร่องเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ตัวเองต้องถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
การแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่นั้น สามารถทำได้ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า ฝ่ายเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ในกรณีที่ทำไปเพียงเพื่อตอบโต้แก้แค้นอีกฝ่ายหนึ่ง ผลจะกลับเข้าตัวเสียมากกว่า
ต้องไม่ลทมนะครับว่า การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนนั้น เป็นความผิดอาญาอีกกระทงหนึ่งต่างหาก เอาเวลาไปหาหนทางแก้ข้อกล่าวหาเรื่องเรียกรับสินบนจะคุ้มกว่ากันเยอะเลย
@@@@@@@@@
ปรึกษาปัญหากฎหมาย โทร. 0860400091
โฆษณา