11 ก.ค. 2022 เวลา 06:59 • ความคิดเห็น
คุณครูวินสตัน เป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ของโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในรัฐเคนตักกี้ เขาได้เล่าเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตครูซึ่งสอนมานานกว่า 12 ปี
ในการสอบวิชาประวัติศาสตร์ หัวข้อสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเรียนชายที่เขาไม่เปิดเผยชื่อได้ทำคะแนนสอบสูงสุดถึง 94 คะแนน ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้เขาแปลกใจเลยแม้แต่น้อย เพราะนักเรียนชายคนนี้เรียนเก่งมาก แต่ที่ทำให้เขาประหลาดใจคือ ตรงด้านล่างกระดาษคำตอบ- - นักเรียนคนนี้ได้เสนอคะแนนโบนัส 5 คะแนน ที่เขาจะได้รับพิเศษจากการทำคะแนนสอบสูงสุด มอบให้กับนักเรียนคนไหนก็ได้ที่ทำคะแนนสอบต่ำสุด!
1
คุณครูวินสตันเล่าว่า ปกตินักเรียนชายคนนี้มีจิตใจดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสมอ แต่ก็นึกไม่ถึงว่า เขาจะยอมสละ 5 คะแนนนั้น เพราะถ้าเก็บไว้เอง ก็จะทำให้เขาได้คะแนนรวมถึง 99 คะแนน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า-โดยทั่วไป ธรรมชาติของเด็กเรียนเก่ง มักจะยึดติดกับเรื่องคะแนนมาก และอยากได้เป็นที่หนึ่งสูงสุดเสมอ!
แต่ไม่ใช่นักเรียนคนนี้ เขากลับเสียสละได้อย่างง่ายดาย และให้โดยไม่สนใจว่าคนที่ได้รับคะแนนพิเศษนั้นจะเป็นเพื่อนที่ดีกับเขา, เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เขาให้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ไม่เกี่ยงด้วยซ้ำว่านักเรียนคนนั้นจะขี้เกียจ เกเร หรือสมควรได้รับคะแนนพิเศษหรือไม่
คุณครูวินสตันทำตามที่เขาขอ - - และปรากฏว่า 5 คะแนนนั้น ได้ช่วยนักเรียนหญิงคนหนึ่งซึ่งสอบไม่ผ่าน เพราะได้เพียง 58 คะแนน กลับกลายเป็นสอบผ่านด้วยคะแนน 63 จากคะแนนโบนัสที่นักเรียนชายใจดีสละให้! แน่นอน, คุณครูวินสตันไม่บอกทั้งสองฝ่ายว่าใครเป็นคนได้คะแนน และใครเป็นคนให้คะแนนพิเศษนั้น...
หลังจากที่คุณครูวินสตันได้แบ่งปันเรื่องนี้ทางโซเชียลมีเดีย มีคนพูดถึงและส่งต่อกันไปเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นกระแส - - หลายคนชื่นชม ในขณะที่อีกหลายคนตำหนิคุณครูว่าไม่ควรทำเช่นนั้น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว คุณครูวินสตันกับทางโรงเรียนก็ยังยืนยันและมองเห็นตรงกันว่าได้ผลดีมากกว่าผลเสีย!
เราเกิดมาในระบบของการแข่งขัน ที่มุ่งเน้นความเป็นที่หนึ่งมาตลอด ไม่ต้องดูอื่นไกล ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล เราก็ถูกแนะนำให้รู้จักกับเกมยอดนิยม”เก้าอี้ดนตรี”ที่เล่นกันมาทุกยุคทุกสมัย เล่นได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เกมนี้ดูผิวเผินเหมือนไม่มีอะไร เน้นความบันเทิงอย่างเดียว แต่ลองคิดดูดี ๆ ว่าเกมนี้บอกอะไรกับเราบ้าง
1
เพราะโลกนี้ให้ความสำคัญกับการเป็น “ที่หนึ่ง” ไม่ว่าในเรื่องการเรียน เกมหรือแม้แต่กีฬา ชีวิตตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ จึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน เรากำหนดกฎเกณฑ์ในการแข่งขันเกือบทุกประเภทจนถือเป็นมาตรฐานว่า ผู้ชนะคือผู้ที่เก่งกว่า, ฉลาดกว่า, แข็งแรงกว่า, ตัวใหญ่กว่า, หรือรวดเร็วกว่าเท่านั้น และแน่นอน ผู้แพ้ที่ถูกคัดออก ก็คือผู้ที่อ่อนแอ ตัวเล็ก ไม่ฉลาด หรือช้านั่นเอง
โลกทุกวันนี้ จึงมีแต่ผู้ที่มุ่งมั่นต้องการเป็นที่หนึ่ง ต้องการครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างไว้แต่เพียงผู้เดียว...
ผมนึกถึงคุณพ่อวิลเลี่ยมเคยพูดที่โบสถ์ St. Therese Parish (แซน ดิเอโก, แคลิฟอร์เนีย) ถึงเกม 'เก้าอี้ดนตรี"นี้ไว้อย่างน่าฟังเมื่อนานมาแล้ว... ท่านบอกว่า ถ้ากติกาการเล่นเกมนี้เปลี่ยนไป
เก้าอี้มีน้อยกว่าจำนวนผู้เล่นเหมือนเดิม แต่เมื่อเสียงดนตรีหยุดลง กติกาใหม่กำหนดว่า ผู้เล่นทุกคนต้องมีที่นั่งเสมอ นั่นหมายความว่าใครบางคนต้องแบ่งที่นั่งร่วมกับคนอื่น หรือให้ใครอีกคนนั่งตัก ลองนึกภาพดูสิว่า มันจะเป็นอย่างไร?
เมื่อกติกาเปลี่ยนไปอย่างนี้ การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันจะเกิดขึ้น มิหนำซ้ำ เด็กตัวเล็ก บอบบาง จะไม่ถูกผลักออกไปเป็นคนแรกอย่างที่เคยเป็น แต่กลับถูกดึงให้มานั่งร่วมเก้าอี้ตัวเดียวกัน เพราะเด็กตัวเล็กจะกินเนื้อที่น้อยกว่าและน้ำหนักเบากว่าหากจำเป็นต้องให้นั่งตัก เมื่อเล่นต่อไปเรื่อย ๆ เกมจะสนุกมากยิ่งขึ้นตรงที่พวกเขาต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้นั่งในขณะที่จำนวนเก้าอี้เหลือน้อยลงทุกที... จนในที่สุดเด็กทุกคนต่างนั่งซ้อนตักต่อ ๆ กันไปบนเก้าอี้ตัวเดียวกันครบทุกคน ไม่มีใครเป็นผู้แพ้ที่ถูกคัดออก
ชัยชนะเป็นของทุกคน ชัยชนะที่ได้มาจากการร่วมมือกัน แบ่งปันกัน ไม่ใช่”ที่หนึ่ง”ของใครเพียงคนเดียว ทุกคนล้วนเป็นที่หนึ่ง!
เรื่องของคุณครูวินสตันกับนักเรียนเก่งคนนี้ก็เช่นกัน
สะท้อนให้เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่าง และสามารถมองได้หลายมุม แต่มุมหนึ่งที่สำคัญ
 
คุณครูวินสตันต้องการแสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจและรู้จักช่วยเหลือของเด็กนักเรียนคนนี้ ที่เขาไม่ได้ยึดติดกับเรื่องคะแนนที่ต้องสูงสุดเป็นที่หนึ่งเสมอ!
เพราะที่ผ่านมา เราต่างเห็นผลร้ายจากคนเก่งที่เห็นแก่ตัวมามากมายแล้ว... บางครั้ง, การสอบผ่านหรือไม่ผ่าน เก่งหรือไม่เก่ง ไม่ใช่สาระของชีวิตเลย เมื่อเราออกมาใช้ชีวิตนอกโรงเรียน เราจึงรู้ว่าความรัก, การเห็นอกเห็นใจ, เสียสละ, แบ่งปัน ถึงจะทำให้โลกนี้อบอุ่น สวยงาม และยังคงน่าอยู่ต่อไป...
ปะการัง
โฆษณา