11 ก.ค. 2022 เวลา 07:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธปท.ไม่กลัวนักเก็งกำไรโจมตีบาทคล้ายวิกฤตปี 40
เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแห่งอาถรรพ์ค่าเงินบาทไทยก็ว่าได้ โดยที่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ของไทยพังทลายลงเมื่อ 25 ปีก่อน ปัจจุบันค่าเงินบาทที่กำลังอ่อนค่าลงมากทำให้คนทั่วไปวิตกว่า เหตุการณ์วันนี้จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ที่นักเก็งไรโจมตีค่าเงินบาทจนค่าเงินบาทร่วงไปมากกว่า 50 บาทต่อดอลลาร์ในวิกฤตปี 2540 หรือไม่ เรื่องนี้ทำให้ธปท.ต้องรีบออกมาชี้แจง
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวเมื่อวันศุกร์ (8 ก.ค.) ว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาท ที่ผ่านมาเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยเฉพาะ 1-2 วันที่ผ่านมา ที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
หลักๆ มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก จากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จากความกังวลจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าแข็งค่าขึ้นมา 11.3%
ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ปรับตัวอ่อนค่าลง ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า 7.6% นับแต่ต้นปีถึง 7 ก.ค. ถือว่ายังเกาะกลุ่มกับประเทศในภูมิภาค โดยเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่ามากสุด 15.3 % ตามด้วยเปโซฟิลิปปินส์อ่อน 9% และวอนเกาหลีใต้ 8.5 % เช่นเดียวกับความผันผวนของเงินบาทที่ยังสอดคล้องภูมิภาคที่ระดับ 6.8%
เช่นเดียวกัน การเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาท ที่เทียบกับคู่ค้าและ คู่แข่งสำคัญของไทย (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ที่พบว่า อ่อนค่า 1.5% ซี่งเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งถือว่าอ่อนค่าไม่มากเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลไม่แต่เฉพาะเทียบดอลลาร์
หากดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงิน ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 5 ก.ค. พบว่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ยังซื้อสุทธิที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดหุ้นยังบวก 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดบอนด์มีแรงขายสุทธิที่ 7 พันล้านบาท ดังนั้นภาพวันนี้ ธปท.ยังไม่เห็นเงินไหลออก
ธปท.แนะผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยง
นางสาวดารณี กล่าวว่า ดังนั้นการดูแล “เงินบาท”ของ ธปท.ปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่หากมีความผันผวนในตลาดที่มากเกินไป ธปท.ถึงเข้าไปดูแล  แต่จะไม่แทรกแซงจากราคาหรือทิศทางของเงินบาท เพราะการคาดการณ์เงินบาท ว่าควรอยู่ที่ระดับไหน เป็นเรื่องที่ยาก และการเข้าไปแทรกแซง อาจเป็นการสะสมความเสี่ยงที่ไม่ยั่งยืนระยะยาวได้
ดังนั้นหากทุกคนมองว่า ทิศทางเงินบาทในระยะข้างหน้า จะยิ่งอ่อนค่า ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการจำเป็นที่ต้องเข้าไปป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจในระยะข้างหน้า
“การเคลื่อนไหวของเงินบาท ฝืนทิศทางยาก แต่หากผันผวนผิดปกติเราถึงเข้าไปดูแล แต่ไม่ได้บอกว่าเรา ชะล่าใจ หรือวางไว้ เรามีการติดตาม และศึกษาผลกระทบจากเงินบาทในมุมต่างอยู่แล้ว และหากทุกคนมองว่าทิศทางข้างหน้าบาทจะอ่อนค่าลงอีก สิ่งที่ควรทำคือ การป้องกันความเสี่ยง และอยากให้มองว่าเราจะยังอยู่กับความผันผวนไปอีกนาน” นางสาวดารณี กล่าว
ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไม่ใช่อ่อนค่าอย่างเดียว
สำหรับปัญหาตลาดอาจจะมองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนไปเรื่อยๆ และเปิดช่องให้นักเก็งไรโจมตีค่าเงินบาทคล้ายวิกฤตปี 2540 นั้น
น.ส.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินบาทไม่ใช่ว่าจะอ่อนค่าลงอย่างเดียว แต่มีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้เช่นกัน ธปท. คาดว่าครึ่งปีหลังเงินบาทจะกลับมาเป็นบวก หรืออาจกลับมาแข็งค่าขึ้น หากภาคการท่องเที่ยวของไทยกลับมาได้ และหากราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะติดลบ 8 พันล่้านดอลลาร์ จากที่ติดลบแล้วขณะนี้ 9 พันล้านดอลลาร์นับแต่ต้นปี
แต่ ธปท. เริ่มเห็นว่าปัญหาซัพพลายคลี่คลายแล้ว ทำให้ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มปรับลดลง และหากท่องเที่ยวกลับมาด้วย บวกกับราคาน้ำมันไม่สูง ก็จะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลังหรือต้นปีหน้าที่ 5,000 ล้านดอลลาร์
ธปท.แจง สถานการณ์บาทอ่อนปีนี้ กับบาทวิกฤตปี 40 ต่างกัน
เจ้าหน้าที่ ธปท.กล่าวว่า เหตุการณ์ค่าบาทอ่อนค่าปีนี้ไม่เหมือนเหตุการณ์นักเก็งกำไรระดับโลกร่วมกันโจมตีค่าเงินบาทที่ผูกไว้กับ ตระกร้าเงิน หรือเทียบค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 25 บาท ในปี 2540 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ทำให้ระบบไม่ยืดหยุ่น จนพังทลายลงและเป็นชนวนให้เกิดวิกกฤตการเงินทั่วเอเชีย
การใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (Mangaged Float )ในปัจจุบันทำให้ไม่ได้เป็นเป้านิ่ง ปัจจุบันเสถียภาพเศรษฐกิจยังดี คาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัว 3.3 % ในขณะที่ปี 40 ติดลบ 2.8 % และปี 41 ติดลบ 7.6%
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ปีนี้คาดอยู่ที่ -1.5 % เทียบกับปี 39 ที่ - 8% อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนต่ำ
ปัจจุบันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย(รวมฐานะล่วงหน้าสุทธิ) มีสูงถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 12 ของ โลก หรือมีมากถึง 52 % GDP ติดอันดับ 6 สูงสุดของโลก
ณ พ.ค ปี 65 ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ(ไม่รวมฐานะล่วงหน้าสุทธิ) มีทั้งหมด 2.3 แสนล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เงินสำรองระหว่างประเทศยังสูงกว่า หนี้ต่างประเทศระยะสั้น มากถึง 2.6 เท่า เทียบกับปี 2540 ที่มีเพียง 0.7 เท่า หรือบางช่วงวิกฤตมีทุนสำรองเท่ากันกับหนี้ระยะสั้น
ธปท. ยืนยันว่า ปัจจุบันไทยหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี รวมกันทั้งหนี้ภาครัฐและเอกชนเพียงประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่ายังไม่สูงมาก
โฆษณา