11 ก.ค. 2022 เวลา 10:39 • ปรัชญา
คนรุ่นใหม่อดทนน้อยกว่าคนรุ่นเก่าจริงเหรอ?
วลี “พวกเด็กสมัยนี้มัน...” ถูกพูดซ้ำมาเป็นร้อยๆ ปี
คนยุคเก่าในตอนนี้ก็เคยเป็นเหมือนคนยุคนี้ในตอนนั้น
การถูกตราหน้าว่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” ไม่รู้จักอดทน ทำงานไม่เท่าไหร่ก็ลาออกแล้ว “เด็กสมัยนี้มัน...” คำพูดเหล่านี้คงเป็นสิ่งที่ได้ยินมากันตลอด เมื่อผู้ที่อาวุโสกว่า ผ่านประสบการณ์มามากกว่า มักพูดถึงคนที่อายุน้อยกว่าที่อาจจะมีวิถีชีวิต หรือมีความคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะเรื่องของการทำงาน ที่คนรุ่นเก่ามักมองว่าคนรุ่นใหม่ไม่อดทน ไม่สู้งาน ไม่พยายาม อะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็ลาออก
อันที่จริงนี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะผู้ใหญ่ทุกยุคสมัยก็บ่นเกี่ยวกับ 'เด็กๆ ในสมัยนี้' มานานหลายทศวรรษ แต่ในปัจจุบันที่โลกมีการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด และโอกาสในชีวิตที่มีมากมายอยู่รอบตัว ขนบความคิดเดิมๆ อาจถูกทำลายลงต่างจากโลกที่คนยุคก่อนๆ คุ้นเคย ทำให้มุมมองต่อคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z อ่อนแอกว่า Boomers หรือ Gen X หรือไม่?
1
ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยามองว่า Baby Boomers (เกิดประมาณปี 1946 - 1964) และ Gen X (เกิดระหว่างปี 1965 - 1980) อาจตัดสินคนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วนทัศนคติที่รุนแรงเกินไป และตัดสินกลุ่มคนที่เยาว์วัยกว่าด้วยพื้นฐานความคิดตามมาตรฐานในโลกของตัวเองที่มันไม่เหมือนเดิมมานานแล้ว
ผู้คนบ่นเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่มาหลายพันปีแล้ว ในความเป็นจริงการมองลงไปที่ความคิดของคนแต่ละรุ่นอาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ปีเตอร์ โอคอนเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านการจัดการที่สถาบันเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียกล่าวว่า "แนวโน้มที่ผู้ใหญ่จะดูหมิ่นวิธีคิดของเยาวชนเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้ว"
1
เขาชี้ให้เห็น เด็ก ๆ ในทุกวันนี้ขาดคุณสมบัติเชิงบวกที่จะดีลกับคนรุ่นเก่า แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะสิ่งที่เยาวชนในปัจจุบันแสดงออกนั้น ที่จริงแล้วพวกเขากำลังฉายภาพสะท้อนกลับพฤติกรรมของคนรุ่นก่อนในอดีต ที่เคยทำกับคนในยุครุ่นพ่อ แม่ หรือปู่ย่า ตายาย แต่ปัจจัยทางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ทำให้การแสดงออกมันชัดเจนมากขึ้น
เพราะสมัยที่คนยุค Boomers หรือ Gen X ยังเป็นเด็ก เขาก็มีความคิดที่เป็น “ขบถ” ต่อผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน และภาพก็ฉายวันซ้ำไปซ้ำมาไม่ว่าเราจะอยู่ในทศวรรษใดก็ตาม
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รวดเร็วอย่างมากหลังจากปี 2000 กระตุ้นให้สังคมมีการแยกตัวอย่างชัดเจน โดยคนรุ่นเก่าจำนวนมาก จะยังไม่สามารถก้าวข้ามความคิดจากยุค 1990 มาได้ แม้จะมีการปรับตัวให้ทันตามเทคโนโลยี แต่พื้นฐานความคิด และสังคมที่เคยอยู่ จะยังคงมีพื้นฐานของความเป็นคนในยุค 70 80 หรือ 90 ซึ่งนั่นคือโลกที่หล่อหลอมคน Gen ดังกว่ามา
แต่สำหรับคนใน Gen Y และ Gen Z คือคนที่เกิดในยุคที่โลกเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยี และมีการสร้างอัตลักษณ์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ฉะนั้นกรอบความคิดของคนยุคนี้ จึงมีความแตกต่างและกล้าทำ กล้าเผชิญ กล้าถาม หรือกล้าที่จะแสดงออกอย่างที่คนใน Gen ก่อนไม่กล้านั่นเอง
1
เช่นคนในยุคก่อนจะถูกสอนให้ให้เรียนเก่งๆ สูงๆ โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ต้องสอบเข้าข้าราชการ ชีวิตจะได้สบาย มีบำนาญกินไปจนตาย พ่อแม่ ลูกเมีย เบิกค่ารักษาได้ หรือไม่ก็ถูกสอนให้เก็บเงินฝากธนาคารกินดอกเบี้ย อย่าเที่ยวเยอะ อย่าฟุ่มเฟือย แก่ตัวไปจะลำบาก
ในขณะที่คนยุคนี้มองว่า ทำไมต้องเป็นเจ้าคนนายคน ทำไมไม่เป็นเจ้านายตัวเอง การประสบความสำเร็จในชีวิตจำเป็นต้องเป็นข้าราชการ หรือเป็นหมอ ทหาร ตำรวจ เท่านั้นเหรอ ทั้งที่เงินเดือนน้อย และมีโอกาสสร้างรายได้ที่มากกว่าจากอาชีพอื่น
1
ทำไมต้องเลี้ยงดูพ่อแม่จนตัวเองลำบาก ชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำไมไม่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐที่จัดสรรให้เพียงพอในยามชราภาพเหมือนในประเทศอื่นๆ หรือทำไมต้องเอาแต่เก็บเงินฝากธนาคารอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยก็ไม่ชนะเงินเฟ้อ เก็บไปเก็บมาเงินต้นหาย ทั้งๆ ที่สามารถนำเงินไปต่อยอด ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แทนเพื่อให้เงินงอกเงย และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเท่าที่ตัวเองต้องการ
1
แม้แต่การทำงานที่ทุกวันนี้การเข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงงาน 5 โมงเย็นคงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ตราบใดที่ผลงานที่ทำออกมานั้นมีประสิทธิภาพ มีผลลัพธ์ที่เทียบเท่าหรือดีกว่าการที่จะต้องฝ่ารถติดมาออฟฟิศให้เสียสุขภาพจิตทุกวัน เพียงเพื่อมาตอกบัตรสแกนนิ้วให้เป็นตัวชี้วัดว่ามาทำงานแล้ว
🔵 มาตรฐานเดิมที่ล้าสมัย
คนรุ่นเก่าอาจยังสงสัยว่าพวกเขาแข็งแกร่งกว่า อดทนกว่าเด็กในปัจจุบัน แต่สิ่งนี้สามารถวัดผลลัพธ์ความสำเร็จของชีวิตได้จริงหรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญต่างมีมุมมองที่ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งในกลุ่มที่เห็นด้วยระบุว่า ผลการศึกษาในปี 2010 กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลที่สําเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยระหว่างปี 2004 - 2008 แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีลักษณะที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าคนที่จบการศึกษาก่อนปี 1987 งานวิจัยอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ผลการศึกษาในปี 2012 ชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าเยาวชนมีความเอาแต่ใจตัวเองมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่านี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาวัดคุณค่าของคนรุ่นใหม่ และบอกว่าพวกเขามีความอดทนน้อยว่าคนรุ่นเก่า แต่พวกเขาเป็นเพียงมีวิธีการคิดและตัดสินใจโดยสังคมสมัยใหม่ที่หล่อหลอมให้เป็นตัวของตัวเองและมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีตามมาตรฐานของโลกปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากโลกของคนรุ่นเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อน
Dr. Carl Nassar ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของ LifeStance Health กล่าวว่า คนรุ่นก่อนๆ ถูกสอนให้สงบปากสงบคำ ถูกสอนให้ไม่เถียง ไม่ถาม ทำตามก็พอแทนที่จะแสดงออกอย่างชัดเจน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่มันเป็นอีกทางหนึ่งที่ตรงกันข้าม ซึ่งการทำงานร่วมกับวัยรุ่นและกลุ่มคนยุคเก่าทำให้รู้ว่าช่องว่างความไม่เข้าใจกันระหว่างคนสองวัยมีความกว้างมาก โดยคนรุ่นเก่ามองว่าการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมานี้เป็นความอ่อนแอ เพราะพวกเขาได้รับการสอนว่าความอ่อนแอเป็นจุดอ่อนไม่ใช่จุดแข็ง
1
Nassar เชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกมองว่าอ่อนแอก นั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ไม่ตรงกันระหว่างคนสองรุ่น การแสดงออกถึงปัญหาอย่างชัดเจนของคนรุ่นใหม่อาจบิดเบือนข้อมูลว่าพวกเขามีความยืดหยุ่นเพียงใดในการรับมือ
ในยุค Boomers สมัยที่ยังเป็นผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเพิ่งฟื้นตัวจากสงคราม คนกลุ่มนี้ต้องทำงานหนักทุกอย่าง เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเจริญรุ่งเรืองเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว โดยการมีบ้านหลังแรกของพวกเขา
แต่ตอนนี้คนใน Gen X หรือ Gen Y กลับไม่สามารถทำแบบคนในยุค Boomers ได้ เนื่องจากปัญหาของราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้น ค่าจ้างที่ลดลง สวนทางค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ซบเซา
2
ในทํานองเดียวกันคนรุ่นเก่าอาจชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ว่า Gen Z เป็นคนรุ่นที่น่าหดหู่และวิตกกังวลมากที่สุด เป็นสัญญาณของการขาดความยืดหยุ่น โดยลืมไปว่านี่คือคนรุ่นที่กําลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างแทบหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่คนรุ่นต่าง ๆ เผชิญมานไม่สามารถเทียบเคียงไม่ได้เลยกับสิ่งที่เผชิญในตอนนี้
1
ความจริงก็คือ Gen Z กําลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่กําลังเผชิญกับความท้าทายมากมายกว่าคนรุ่นอื่น ๆ ที่ไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์ในช่วงชีวิตเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโรค และแรงกดดันจากโซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังสมาร์ทโฟนของพวกเขา ที่เพิ่มความท้าทายด้านสุขภาพจิตจาดการเว้นระยะห่างทางสังคม และการแยกตัวในช่วงการระบาดใหญ่ ความท้าทายในการเรียนทางไกล มันไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะเห็นว่าเหตุใดคนรุ่นหลังจึงรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย
🔵 ทางเลือกของชีวิตที่ไม่เท่ากัน
การกระทำและความเชื่อของคนแต่ละรุ่นถูกกำหนดขึ้นจากปัญหาและความท้าทายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดย Boomers และ Gen X อาจเติบโตขึ้นมาโดยปราศจากความสะดวกสบายของสมาร์ทโฟน แต่พวกเขาก็ไม่ต้องต่อสู้กับความซับซ้อนของการเติบโตทางออนไลน์
1
ในทํานองเดียวกันคนรุ่นเก่าอาจไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ แต่พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะได้งานระดับกลางที่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัยและไม่ต้องเจอปัญหาจากหนี้กองทุนเพื่อการศึกษา หรือหนี้สินจากการเรียน
และในอีกด้านหนึ่ง Gen Z อาจเชื่อว่ารุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของพวกเขาไม่ได้ต่อสู้อย่างหนักพอกับปัญหาทางสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียมกันทางการเงิน ที่ทำให้พวกเขาเกิดมาแล้วยังต้องมาแก้ปัญหาที่คนรุ่นก่อนไม่ใส่ใจแก้ไข ซึ่งมักมีการเรียกเชิงเหยียดหากเด็กสมัยนี้ฟังคำแก้ตัวของผู้ใหญ่ที่คิดว่าที่ตัวเองทำมาดีแล้วว่า “OK Boomer”
กระนั้นพวกเขาอาจลืมไปว่าหลายคนต้องต่อสู้กับปัญหาทางสังคมอื่น ๆ เช่น รูปแบบการกีดกันทางเพศที่สิ้นหวัง และความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ ท้ายที่สุดเมื่อ Boomers ที่มีอายุมากกว่าบางคนอยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้หญิงยังคงต้องให้ผู้ชายอีกคนหนึ่งร่วมลงนามในใบสมัครเครดิต หรือขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านในหลายประเทศ และการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติยังคงถูกห้ามในบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผู้คนต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ความจริงก็คือคนรุ่นเก่าก็เคยกล่าวหาว่าคนรุ่นก่อนของพวกเขาขี้เกียจ มีสิทธิที่จะทำอะไรหลายอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะมาถึงรุ่นของพวกเขานานหลายศตวรรษเหมือนกัน พูดง่ายๆ คือก็มีการโทษกันมารุ่นต่อรุ่นเสมอ
มันเป็นการตระหนักถึงสิ่งที่คนรุ่นหลังเหล่านี้ได้ผ่านไปแล้ว ทําไมพวกเขาถึงเป็นอย่างที่พวกเขาเป็นอยู่ วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้คนรุ่นเก่าหยุดปรามาศคนรุ่นใหม่คือ การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา การยอมรับจุดบกพร่องของตัวเอง และเปิดใจที่จะฟังกันให้มากขึ้น ไม่ใช้บรรทัดฐานทางของคิดจากพื้นฐานชีวิตในยุคของตัวเองมาตัดสินความคิดของคนต่าง Gen นั่นเอง
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
1
โฆษณา