12 ก.ค. 2022 เวลา 08:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เปรียบเทียบภาพจากกล้องอวกาศ James Webb (ภาพแรก) และกล้องอวกาศ Hubble (ภาพสอง) จากมุมเดียวกัน คือภาพถ่ายอวกาศในแนวลึก (Deep Field) ของคลัสเตอร์กาแล็กซี่ SMACS 0723
หลังจากที่ NASA ปล่อยภาพแรกจากกล้องอวกาศรุ่นใหม่อย่าง JWST (James Webb Space Telescope) ที่เป็นภาพของคลัสเตอร์กาแล็กซี่ SMACs 0723 ซึ่งเผอิญเป็นภาพเดียวกับที่กล้อง Hubble (Hubble Space Telescope - HST) จึงเกิดการนำมาเปรียบเทียบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ไม่แปลกใจว่ากล้องรุ่นใหม่ที่เทคโนโลยีดีกว่า ย่อมเก็บภาพและแสงได้ดีกว่า
ภาพจากกล้องอวกาศ JWST
จุดแตกต่างหลักๆ ระหว่างกล้อง JWST และ Hubble คือ กล้อง Hubble สามารถรับแสงที่เรามองเห็นได้ (visible light) แสงอัลตร้าไวโอเล็ต และแสงอินฟาเรดเล็กน้อย
แต่การที่เราจะสำรวจดวงดาวหรือดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลออกไปมากๆ แสงอัลตร้าไวโอเล็ตที่ดาวฤกษ์เหล่านั้นปล่อยออกมา ได้กลายเป็นแสงอินฟาเรดแทน เนื่องจากช่วงคลื่นของแสงอัลตร้าไวโอเล็ตถูกยืดออกตามระยะทางที่ห่างไกล
ดังนั้นกล้อง JWST ที่หนึ่งในจุดประสงค์ของมันคือถ่ายภาพอวกาศแนวลึก (Deep Field) เพื่อค้นหาต้นกำเนิดของจักรวาล หรือกระทั่งขอบของจักรวาล หรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในอดีตที่ไกลมากๆ จึงถูกออกแบบมาให้รับแสงอินฟาเรดโดยเฉพาะ
ไม่รวมกระจกรับแสงที่ใหญ่กว่า และ Hubble ก็อยู่ใกล้โลกมากกว่า (Hubble โคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 570 กม. ขณะที่ JWST อยู่ที่จุด Lagrange Point 2 (L2) ที่ห่างจากโลก 1.5 ล้าน กม.) จึงทำให้ภาพด้านล่างที่ออกมาถึงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แถม JWST ใช้เวลาในการถ่ายเร็วกว่ามาก
ภาพจากกล้องอวกาศ Hubble
NASA ระบุในเชิงเปรียบเทียบด้วยว่า JWST สามารถถ่ายภาพได้ไกลกว่า Hubble ในระดับที่ Hubble เห็นได้แค่ช่วงที่จักรวาลยังเป็นเด็กหัดเดิน (toddler galaxies) แต่ JWST สามารถเห็นช่วงที่จักรวาลยังเป็นทารกได้เลยทีเดียว (baby galaxie)
.
โฆษณา