12 ก.ค. 2022 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
👵🏻🧓🏻เตรียมตัว เตรียมใจไว้หรือยัง ?
หากมีความจริงของ “การเกษียณอายุ” ที่ไม่เคยมีใครบอกคุณ
และอาจทำให้แผนการเกษียณของคุณผิดพลาดไปจากเดิม “โดยสิ้นเชิง”
📌วันนี้ SkillLane ได้มัดรวมความจริง 8 ข้อของ “การเกษียณอายุ” ที่คุณต้องเจอหลังเกษียณอายุจริงๆ มาเล่าและลงลึกถึงคำแนะนำกับแต่ละเหตุการณ์
อ่านแล้วรับรองว่า คุณจะได้อีกแง่มุมของการเกษียณอายุ รวมถึงสามารถวางแผนรับมือได้อย่างแน่นอน
📌 ความจริงข้อที่ 1
“ความมั่งคั่งในปัจจุบัน ไม่ได้บอกว่าคุณจะสบายตอนเกษียณ”
จริงอยู่ที่คุณอาจจะเก็บเงินได้มากมายมหาศาลในช่วงชีวิตการทำงานของคุณ
แต่ 10 ล้านบาทในปัจจุบันนี้ อาจมีมูลค่าเหลือเพียง 1 ล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้าด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ในประเทศที่ค่าครองชีพสูง
น่าเสียดายที่เวลาคนเราตั้งเป้าหมายการเก็บเงินเกษียณ มักจะละเลยการคิดอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้รู้จำนวนเงินที่ต้องใช้จริงๆ พอเกษียณจริง เงินที่เก็บไว้ (ที่รู้สึกว่าเยอะแล้ว) ก็กลับไม่พอใช้แล้ว
👉🏻 คำแนะนำ : วางแผนรายได้หลังเกษียณ
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นวางแผนเกษียณ อย่าคิดเอาเองว่าหลังเกษียณคุณจะใช้จ่ายน้อยลงเด็ดขาด เพราะผู้เกษียณอายุส่วนใหญ่จะใช้เงินอยู่ที่ 80-90% ของรายจ่ายก่อนเกษียณ ดังนั้นเงินออมของคุณต้องสามารถสร้างรายได้รายเดือนให้คุณได้อย่างเพียงพอ คิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบันของคุณเอง
📌 ความจริงข้อที่ 2
“เกษียณแล้วมีรายได้ ก็ยังต้องจ่ายภาษีนะ”
หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า พอเกษียณไม่ได้ทำงานแล้ว ก็คงไม่ต้องจ่ายภาษีแล้ว ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดมาก เพราะในประเทศไทย ผู้สูงอายุที่มีรายได้ก็ยังต้องเสียภาษีตามกฏหมายเช่นกัน ดังนี้
- รายได้จากดอกเบี้ยเงินออม และรายได้เงินปันผลต่างๆ ถ้าได้รับมากกว่า 30,000 บาท ต้องนำไปรวมกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเสียเป็นภาษี Final Tax โดยหัก ภาษี ณ ที่จ่าย 15 % กรณีได้รับดอกเบี้ย หรือ 10% กรณีได้รับเงินปันผล
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (เบี้ยคนชรา) และเงินบำนาญข้าราชการ ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
👉🏻 คำแนะนำ : ฝากเงิน (หรือหารายได้) แบบปลอดภาษี
จะเห็นว่าพวกดอกเบี้ยจากเงินออมก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “เงินฝากปลอดภาษี” เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณต้องออมเงินสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ไปจนถึง 5 ปี และได้รับดอกเบี้ยในระดับที่สูงกว่า 2% ต่อปี รวมถึงไม่ต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้เกษียณอายุมากๆ
นอกจากนี้ถ้าเราลองดูข้อมูลแล้ว ยังมีรายได้อื่นๆ ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่
- เงินคืนประกันบำนาญ ได้รับยกเว้นภาษี
- กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการยกเว้นภาษี
- เงินบำเหน็จ / บำนาญชราภาพ เงินจากกองทุนประกันสังคม เงินบำเหน็จดำรงชีพ ได้รับยกเว้นภาษี เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข
ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และทำให้คุณสามารถวางแผนรายได้หลังเกษียณแบบปลอดภาษีได้ด้วย
📌 ความจริงข้อที่ 3
“อัตราเงินเฟ้อ อาจทำให้คุณไม่ได้ใช้ชีวิตตามแผนเกษียณ”
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อที่ 1 ว่าเมื่อวางแผนเกษียณ คุณต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย
โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ก็ได้ออกมาเผยว่า เงินเฟ้อไทยเดือน มิ.ย.65 สูงสุดรอบ 14 ปี แตะ 7.66%
แล้วถ้าหากเงินเฟ้อขึ้นทุกปีจนถึงเวลาที่เราเกษียณ จะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เงินออมของเราสามารถสู้กับเงินเฟ้อได้ล่ะ?
👉🏻 คำแนะนำ : กระจายการลงทุนในตราสารทุน
ตราสารทุน หรือตราสารหนี้ เป็น 1 ทางเลือกที่คนไทยนิยมใส่ไว้ในพอร์ตเกษียณ
โดยเฉพาะในตราสารหนี้อ้างอิงเงินเฟ้อ” (Inflation Link Bond) ที่ให้ผลตอบแทนสูงตามเงินเฟ้อ เป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่น่าสนใจในระยะยาวมากๆ เพราะสามารถให้ทั้งผลตอบแทน และกระจายความเสี่ยงของพอร์ตได้เป็นอย่างดี
📌 ความจริงข้อที่ 4
“คุณมีโอกาสอยู่ได้นานกว่าแผนเกษียณที่วางไว้”
อายุยืน สุขภาพแข็งแรง มักเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่มันอาจเป็นดาบสองคมสำหรับคนที่ไม่มีเงินออมที่เพียงพอในการใช้ชีวิต
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
คนไทยมีอายุเฉลี่ย 80 ปี และมีแนวโน้มอายุขัยเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี นั่นหมายความว่าในอนาคต คนไทยอาจจะต้องใช้เวลาในชีวิตหลังเกษียณมากกว่าที่ตัวเองคาดไว้ก็เป็นได้
👉🏻 คำแนะนำ : คำนวณอายุขัย และวางแผนการออมให้เพียงพอ
ไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้ แต่รู้หรือไม่ว่าเรามีเครื่องมือที่เรียกว่า “เครื่องคำนวณอายุขัย หรือ Life Expectancy Calculator” อยู่ โดยคิดจากอายุปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และค่าเฉลี่ยของอายุของคนบนโลก ใครที่สนใจลองไปเล่นกันดูได้ครับ https://www.johnhancock.com/life-insurance/life-expectancy-calculator.html
เมื่อลองประเมินอายุขัยของตัวเองแล้ว อย่าลืมวางแผนการเงินให้พอกับอายุหลังเกษียณ หรือถ้าเอาแบบง่ายๆ กว่านั้น ก็ต้องมีเงินให้พอใช้อย่างน้อย 30 ปีขึ้นไปหลังเกษียณครับ
📌 ความจริงข้อที่ 5
“เงินออมทั้งชีวิต อาจหายไปชั่วพริบตา เพราะค่ารักษาพยาบาล”
แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายน้อย แต่เงินออมของคุณก็สามารถหมดได้อย่างรวดเร็วกับค่ารักษาพยาบาล
โดยผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปกว่าครึ่ง ต้องพบกับการรักษาพยาบาลในระยะยาว (จากโรคประจำตัวต่างๆ ของตัวเอง) ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างแพงซะด้วย
แน่นอนว่าคุณอาจจะสามารถใช้สิทธิการดูแลรักษาต่างๆ ได้ แต่จะดีกว่าไหมหากเราได้วางแผนสำหรับการรักษาพยาบาลที่ดีกว่านั้นไว้แล้ว?
👉🏻 คำแนะนำ : ทำประกันสุขภาพ
เพราะสิทธิการรักษาต่างๆ นั้นให้การรักษาที่ค่อนข้างจำกัด และการใช้เงินออมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลก็เป็นวิธีที่เสี่ยงเกินไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คุณต้องทำประกันสุขภาพไว้รองรับการเจ็บป่วยหลังเกษียณ
📌 ความจริงข้อที่ 6
“อย่ายืนบนเส้นด้าย ด้วยการหวังพึ่งเงินประกันสังคม”
ข้อนี้ยังรวมไปถึงเงิน สิทธิหลังเกษียณจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
เนื่องจากเป็นนโยบายที่สามารถมีการปรับเปลี่ยนได้จากสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้
การวางแผนการเงินของตัวเองจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
👉🏻 คำแนะนำ : วางแผนการออมและลงทุนตั้งแต่วัยทำงาน
แน่นอนว่าหากคุณต้องการหลีกเลี่ยงการเกษียณบนเส้นด้าน การสร้างเงินออมและลงทุนในช่วงชีวิตการทำงานจึงเป็นวิธีที่จะสะสมความมั่งคั่งนั้นได้อย่างมั่นคง
📌 ความจริงข้อที่ 7
“อย่าดูถูก “ภาวะซึมเศร้าหลังเกษียณ (Late-Life Depression)””
เราพบว่าเมื่อคนส่วนใหญ่เกษียณจากการทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือรู้สึกเหงา เบื่อ หมดอาลัยในชีวิต จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าในที่สุด
ซึ่งภาวะซึมเศร้านั้นเมื่อเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุแล้วเป็นเรื่องที่รับมือได้ยากมาก ทั้งในแง่ของการรักษา การใช้ชีวิต และการเงิน
2
การจัดการเรื่องการเงินหลังเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญก็จริง แต่อย่าลืมว่า เวลาหลังเกษียณก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำสิ่งใหม่ๆ เช่นกัน
1
👉🏻 คำแนะนำ : ลิสต์สิ่งที่อยากทำสักครั้งในชีวิต (Bucket Lists)
การใช้จ่ายเงินเพื่อลดความน่าเบื่อในชีวิตหลังเกษียณนั้น อาจใช้เงินมากกว่าเมื่อเทียบกับการวางแผนใช้เงินกับ Bucket Lists
คุณอาจจะลองลิสต์สิ่งที่อยากทำมาทั้งชีวิต แต่ไม่เคยได้ทำ เช่น การเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ไกลๆ การออกกำลังกาย กีฬาใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ทำ หรือแม้กระทั่งการเที่ยวรอบโลก ซึ่งการที่คนเราได้มีกิจกรรมให้ทำนั้น จะส่งผลดีต่ออารมณ์อย่างแน่นอน
📌 ความจริงข้อที่ 8
“แม้เกษียณแล้ว ก็ยังต้องทำงานต่อ”
ข้อนี้อาจจะดูไม่สวยงามนัก แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคนเกษียณอายุกว่าครึ่ง
เกษียณแล้ว ลาออกจากองค์กรแล้วก็จริง แต่ก็ยังต้องทำงานต่อเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ
หลายคนพบว่าการหางานในวัยนี้เป็นเรื่องที่ยาก และจบลงด้วยการทำอาชีพที่ได้รายได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรายได้ก่อนเกษียณ
ถ้าคุณมีเงินสะสมมากพอในการดำรงชีวิต การทำงานต่อก็เป็นเรื่องที่ไม่น่ากดดันนัก แต่ตรงกันข้ามกับผู้ที่เกษียณแล้ว แต่มีเงินออมสะสมไม่มากพอ และต้องหาเงินในการเลี้ยงชีพอย่างจริงจัง
👉🏻 คำแนะนำ : หารายได้ด้วยสิ่งที่ชอบ
การทำงานในวัยเกษียณไม่ได้เป็นเรื่องไม่ดี แต่ยังช่วยแก้เบื่อได้เป็นอย่างดี และทำให้คนรู้สึกมีจุดมุ่งหมายหลังเกษียณ
ลองหารายได้ด้วยสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่นการทำอาหารขายเดลิเวอรี่ การเพาะต้นไม้ขาย การเทรดหุ้นแบบ Full-time แน่นอนว่าต้องเป็นกิจกรรมที่คุณสามารถทำได้ไหว และไม่เป็นภาระกับสุขภาพกายมากจนเกินไป ไม่แน่ว่าการหารายได้ด้วยสิ่งที่ชอบนั้น อาจทำให้คุณมีรายได้เข้ามามากกว่างานประจำที่เคยทำก็ได้
โฆษณา