Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
•
ติดตาม
21 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
คนอิฟูเกา เกาะลูซอน ฟิลิปปินส์
ชนเผ่าล่าหัวมนุษย์ในอดีต และการรับสู่วัฒนธรรมข้าวและการทำนาขั้นบันได
ท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตที่สูงทางตอนเหนือค่อนไปทางตะวันตกของเกาะลูซอนที่ฟิลิปปินส์ เป็นกลุ่มคนที่บรรพบุรุษของพวกเขาสร้างนาขั้นบันได [Rice Terraces] จำนวนมากตามไหล่เขาและหุบเขา พวกเขาเคยอยู่กันเป็นชุมชนแบบเผ่า [Tribe] แยกกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามายึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคม
คำว่าอิฟูเกา [Ifugal] มาจากคำว่า “i-pugo” คำว่า "i" หมายถึง “มาจากหรือคน” และ “pugo” หมายถึง “ภูเขา” รวมกันเข้าจึงหมายความว่า “ผู้คนแห่งภูเขา”
ชาวอิฟูเกาพูดภาษาอิฟูเกาหรือภาษาบอนต็อก (Bontoc) ซึ่งอยู่ในกลุ่มออสโตรนีเชียนในตระกูลมลาโย-โพลีนีเซียน [Melaya-Polynesian]
ในปัจจุบัน “อิฟูเกา” เป็นทั้งชื่อกลุ่มคนบนที่สูงและชื่อจังหวัดในเขตปกครองบนที่สูง [The Cordillera Administrative Region] ซึ่งประกอบไปด้วย ๖ จังหวัดทางตอนกลางและเหนือของเกาะลูซอนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายรวมทั้งการใช้ภาษาอันหลากหลายอยู่อาศัยในเขตนี้
เศรษฐกิจในปัจจุบันถือเอาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งการทำเหมืองแร่ เช่น ทอง ทองแดง เงิน สังกะสี การเพาะปลูก เช่น ข้าวโพดและข้าว รวมทั้งการท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจในสภาพภูมิประเทศแบบเทือกเขาและวัฒนธรรมประเพณีที่จัดเฉลิมฉลองเป็นงานเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้สำคัญในปัจจุบัน
จังหวัดอิฟูเกามีประชากรที่เป็นชาวอิฟูเกาอยู่ราวๆ ๖๘ % นอกนั้นเป็นชาวอิโลคาโนส, กาลาฮัน และอยันกัน [Ilocanos, Kalahan, Ayangan] ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๓๙ ประเมินว่ามีชาวอิฟูเกาอยู่ราว ๗๐,๐๐๐ คน และลดลงไปหลายหมื่นคนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งบริเวณนี้มีการสู้รบอย่างหนักของกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตร และประเมินว่าชาวอิฟูเกามีอยู่ราวกว่า ๑๙๐,๐๐๐ คนในปัจจุบัน
แม้จะมีนาขั้นบันไดหลายแห่งในเขตที่สูง [The Cordillera Administrative Region] แต่เฉพาะที่เมืองบานาเว่ [Banaue] ในจังหวัดอิฟูเกา นาขั้นบันไดที่นี่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๕ เพราะถือเป็นความมหัศจรรย์สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันที่สามารถทำนาขั้นบันไดและระบบชลประทานจากยอดเขาจากแรงงานมนุษย์ บ้างก็ประมาณว่าตั้งแต่เมื่อราว ๒,๐๐๐ ปี
นาขั้นบันไดในเขตที่สูงถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของฟิลิปปินส์ นอกเหนือไปจากภูมิประเทศแบบที่สูง สร้างความสบายสายตาจากความเขียวชอุ่มของนาข้าวในหุบเขาแล้ว อากาศก็ยังเย็นสบายและฝนตกอยู่ตลอดทั้งปี
การปรับพื้นที่นาเพื่อทำนาแบบทดน้ำ [Wet Rice] โดยการใช้พื้นที่เชิงเขาทำเป็นที่ราบเล็กๆ ลดหลั่นกันลงไปตามความสูงของไหล่เขา สร้างคันนาจากหินก้อนใหญ่ๆ จากภูเขาที่ถูกทุบและจัดเรียงให้เป็นคันดินสูงและแนวคันนาพร้อมกัน บริเวณเทือกเขาสูงแถบนี้ไม่มีการทำเครื่องมือเหล็กเพราะไม่มีแหล่งแร่เหล็ก ดังนั้น ชาวอิฟูเกาจึงใช้เครื่องมือหินและไม้เหลาแหลมเป็นหลักในการปรับพื้นที่และเตรียมพื้นที่ทำนาโดยไม่ใช้ควายมาช่วยทุ่นแรง แต่ใช้แรงงานมนุษย์ทำแทบทุกขั้นตอน
เอกลักษณ์ของชาวอิฟูเกาก่อนที่คริสต์ศาสนาจะเข้ามาแทนที่พิธีกรรมและความเชื่อต่างๆ คือความเชื่อในผีต่างๆ [Spirits] และมีอยู่มากมายในอดีต ชีวิตที่ผูกพันอยู่กับการทำนาตลอดทั้งปีจึงมีวงจรชีวิตขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ฤดูกาล และประเพณีพิธีกรรมแบบสังคมชาวนาทั้งสิ้น
ตามความเชื่อชาวอิฟูเกาแบ่งภูมิจักรวาลออกเป็น ๕ ส่วน คือ โลกมนุษย์ [pagao], โลกฟากฟ้า [kabunian], โลกใต้พิภพ [dalum], เหนือท้องน้ำและลำห้วย [lagod] และใต้ท้องน้ำและลำห้วย [daiga] แต่ละภูมิมีผีดูแลในพื้นที่แต่ละแห่ง และมีการบูชาผีต่างๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่เป็นระบบ
โดยมีชื่อและสถานที่ซึ่งสถิตย์อยู่ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ถึง ๓๕ กรณี เช่น ผีที่เป็นตัวแทนของวีรบุรุษผู้เป็นบรรพบุรุษ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ และจะทำพิธีบูชาผีและเทพเจ้านี้เป็นวาระ เช่น ในช่วงที่ได้ผลข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ การล่าสัตว์เพื่อหาอาหารได้ผลดี ในระหว่างพิธีกรรมก็จะมีการเข้าทรงผ่านผู้ทำพิธีกรรมซึ่งเป็นผู้ชายในการสอบถามทำนายเรื่องเรื่องต่างๆ และจะบูชาด้วยหมากพลู เหล้าและสัตว์เช่น ไก่ หมู เป็นต้น
และในขณะเดียวกัน หากเกิดภัยธรรมชาติผลผลิตไม่ได้ตามฤดูกาลจนถึงกับทำให้เกิดความอดอยากเกิดขึ้น ชาวอิฟูเกาในหมู่บ้านต่างๆ ก็จะทำพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ในหมู่ชนเผ่าอื่นๆ ที่อาจจะเป็นศัตรูกัน เพื่อนำมาทำพิธีกรรมบัดพลีแทนไก่ หมูหรือควาย แม้ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่ก็ทำให้กลายเป็นว่า พวกเขาได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าล่าหัวมนุษย์กลายเป็นที่โจษจรรย์กันมาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในอดีต เชื่อกันว่าวิญญาณของผู้ตายจะไปอยู่กับวิญญาณบรรพบุรุษ การทำพิธีจะชำระร่างกายและนั่งไว้ในเก้าอี้สำหรับผู้ตาย แต่ละคืนจะมีการจุดไฟรอบๆ และดูแลร่างกายอย่างระมัดระวังเป็นสัญลักษณ์ของการ “ตื่น” หากมีฐานะก็จะจัดไปราว ๑๓ วัน จะฝังร่างกายที่สุสานหรือใต้ถุนบ้าน
และในบางกรณีก็จะฝังศพครั้งที่สองเมื่อเวลาผ่านไปราว ๓-๕ ปีต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ที่ยังอยู่เจ็บไข้ได้ป่วย ชาวอิฟูเกาบางกลุ่มฝังศพผู้ชาย ผู้หญิงแยกออกจากกัน และมักจะฝังศพเด็กในไห
แต่เมื่อคริสต์ศาสนาเข้ามากลายเป็นศาสนาหลักของชาวอิฟูเกา ผีต่างๆ ที่เป็นตัวแทนก็หายไป และกลายเป็นความเคร่งครัดในการเข้าโบสถ์วันอาทิตย์และถือพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธิลิคแทน
ผู้ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวอิฟูเกาในปัจจุบันจึงเพียงพบเห็นแต่เทพเจ้าสำคัญคือ “เทพโบลูน” เทพที่ดูแลพิทักษ์พืชผลและเป็นตัวแทนของผีบรรพบุรุษ มักจะอยู่ในรูปของคนนั่งชันเข่าทั้งเพศหญิงและชาย แกะสลักจากไม้ที่พบเห็นได้ตามทางเข้าที่นาหรือตามบ้านทั่วๆ ไป และกลายเป็นหัตถกรรมของที่ระลึกไปเมื่อศาสนาเข้ามามีส่วนในชีวิตของชาวอิฟูเกาจนทำให้วิถีชีวิตแตกต่างไปจากเดิม
นักรบในงานอิมบาย่าถือเทพเจ้าโบรูน สิ่งศักดิ์สิทธ์และตัวแทนผีบรรพบุรุษที่คุ้มครองและบันดาลให้มีความอุดมสมบูรณ์
เมื่อมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาอันเนื่องมาจากการได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ชาว อิฟูเกาที่มีการปกครองตนเองในส่วนภูมิภาคมาสักระยะและเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่ความเป็นพลเมืองชาวฟิลิปปินส์โดยทั่วไป ได้รับบูรณาการในเรื่องการศึกษา การมีโอกาสทำอาชีพต่างๆ นอกเหนือจากทำเกษตรกรรม ได้ทำให้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากชาวอิฟูเกาดั้งเดิมจนกลายเป็นชาวฟิลิปปินส์ทั่วไป
สามารถจัดการการท่องเที่ยวด้วยองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น มีการนำเอาประเพณีพื้นบ้านของชาวอิฟูเกามาร่วมกันจัดงานที่เมืองบานาเว่ และเชิญชวนให้ชาวบ้านตามหมู่บ้านหรือบาลังไกวต่างๆ [Balagay] ออกมาเดินพาเหรดและแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรม
และงานใหญ่ที่สุดจัดขึ้นในรอบสามปีต่อครั้งคืองาน “อิมบาย่า” [Imbayah] ซึ่งหมายถึง เหล้าที่ทำจากข้าวมีเหลือเฟือ เป็นงานเทศกาลที่ปรับมาจากงานประเพณีดั้งเดิมที่ชาวบ้านผู้มีฐานะดี ซึ่งประเมินจากการมีที่นาจำนวนมากและมีควายที่เลี้ยงไว้ ๔-๕ ตัว ก็จะจัดงานเลี้ยงเช่นนี้ในงานหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว หรืองานแต่งงานและงานมงคลอื่นๆ เพื่อแบ่งปันให้คนที่มีที่นาน้อยได้ดื่มกินร่วมกันไปด้วย
ในงานประเพณีนี้ขบวนพาเหรดจะตกแต่งประกวดกันแต่ละบาลังไกวที่มีทั้งประเพณีการเต้นรำแบบนักรบดั้งเดิมที่ใช้ฆ้องแผ่นเรียบเป็นเครื่องประกอบจังหวะหลัก และเต้นแบบก้นเตี้ยยกมือขึ้นร่ายรำเป็นจังหวะะซ้ำๆ ตลอดเวลา มือถือหอกหรือไม้ปลายแหลมเป็นอาวุธ ใส่เสื้อผ้าที่ทอกันเองในโทนสีแดงดำหรือสีเปลือกไม้น้ำตาลอ่อน
ซึ่งคล้ายคลึงกับเสื้อผ้าของชนเผ่าในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนและออสโตรเอเชียติคดั้งเดิม เช่นในเวียดนาม ในลาวหรือแม้แต่ในไทย ที่หัวใส่หมวกขนนกที่มีกระโหลกของสัตว์ติดอยู่ ใส่เครื่องประดับเป็นสร้อยเขี้ยวหมูป่าหรือต่างหูทำจากเปลือกหอยทะเล เป็นต้น งานเทศกาลเหล่านี้จัดขึ้นทั้งเพื่อชาวอิฟูเกาได้ออกมาพบปะสังสรรและสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นับแต่จะมีมากเพิ่มขึ้นทุกปี
ชาวอิฟูเกาเคยอยู่ในสภาพสังคมชาวนาที่เคร่งครัดในการแบ่งกลุ่มชนชั้นทางสังคม โดยจะมี ๓ ระดับ คือชนชั้นร่ำรวย ชนชั้นกลางๆ และชนชั้นยากจน ผู้ที่มีมากจะปรับสมดุลย์กันในสังคมโดยการจัดงานอิมบาย่าที่ต้องเตรียมต้มเหล้าและเตรียมอาหาร เช่น ต้องฆ่าควายครั้งละ ๒-๓ ตัวไว้เลี้ยงดูและแบ่งปันกับคนในระดับชั้นที่ยากจนกว่า แต่ปัจจุบันการแบ่งสถานภาพดังกล่าวลดน้อยลงไปมากแล้ว คงเหลือเพียงคำบอกเล่าและการแต่งกายแบบประเพณีที่บ่งบอกสถานภาพทางชนชั้นทางสังคมเหลืออยู่บ้าง
ด้วยเหตุนี้ชาวอิฟูเกาจึงรู้สึกภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองที่ไม่เคยมีผู้ใดอดอยากจนถึงต้องกลายเป็นขอทานเหมือนที่พบตามเมืองใหญ่ๆ เพราะมีการเฉลี่ยอาหารการกินแก่คนในสังคมด้วยวัฒนธรรมเช่นนี้เอง
ชาวอิฟูเกาปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยตามสภาพแวดล้อมและยังถือเครื่องลางเพื่อความโชคดีคือ “ลิงลิง-โอ” และจี้ห้อยคอสัญลักษณ์สัตว์สองเขา ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเครื่องประดับมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และปรากฏอยู่ตามกลุ่มคนตั้งแต่ยุคเหล็กหรือช่วงก่อนประวัติศาตร์ตอนปลายในหลายๆ ท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะทีเดียว
เรือนของชาวอิฟูเกาถือว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นทางวัฒนธรรม แม้ว่าปัจจุบันนี้บ้านเรือนเกือบทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงเป็นแบบบ้านสมัยใหม่ แต่เรือนดั้งเดิมบางหลังก็ยังถูกรักษาไว้หรือยังใช้สำหรับการอยู่อาศัยหรือเป็นที่พักค้างคืนสำหรับนักท่องเที่ยว ชาวอิฟูเกาสร้างบ้านหลังเล็กๆ มีเสาสูงสี่เสา ปลูกสร้างแข็งแรงโดยใช้ไม้จริงและไม้ไผ่ ไม่ใช้ตะปูแต่ใช้การผูกมัด หลังคามุงด้วยหญ้าคาทรงโดมกลมยอดแหลม ที่เสาต่อกับคานด้านบนทั้งสี่เสามีแผ่นไม้รองรับกันสัตว์เลื้อยคลานเลื้อยขึ้นบ้าน
ภายในบ้านแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนที่เป็นห้องใต้หลังคาใช้เก็บข้าวเปลือกที่ได้จากการทำนาสะสมไว้กินใช้ เครื่องเรือนไม่มีอะไรมากเพราะเป็นห้องรวมอยู่อาศัยในห้องเล็กๆ นี้ราวๆ ๖-๗ คน ชาวอิฟูเกาบอกว่าในสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ การนอนรวมกันในบ้านหลังเล็กให้ความอบอุ่นดี
ส่วนพื้นใต้ถุนบ้านใช้ประกอบอาหาร ตำข้าว หรือกิจกรรมพักผ่อนอื่นๆ เสาหรือบ้านเรือนมักประดับหรือแกะสลักรูปเทพบอรูนหรือ สัตว์สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เช่นสัตว์เลื้อยคลาน กบ และมักประดับด้วยหัวควาย
รูปแบบการตกแต่งบ้านเรือนเช่นนี้คล้ายคลึงกับศาลากลางบ้านที่ประกอบพิธีกรรมส่วนกลางของ “ชาวตะโอย” กลุ่มชาติพันธุ์ที่ที่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมรหรือกลุ่มข่ากลุ่มหนึ่งที่แขวงสาละวันในประเทศลาวซึ่งมีทั้งสัตว์เลื้อยคลานและเต่า ล้วนแต่ใช้รูปสัญลักษณ์เดียวกันคือสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืน
จากบทความ “ลิงลิงโอ” เครื่องลางก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังคงสืบเนื่องความหมายสำหรับชาวอิฟูเกา ในฟิลิปปินส์ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ใน จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๐๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๗)
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
Official Web :
https://siamdesa.org
https://www.facebook.com/สยามเทศะ-โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ-วิริยะพันธุ์-323215901674254
https://www.youtube.com/user/lekprapai/featured
https://www.instagram.com/siamdesa_lekprapai/?hl=th
https://lek-prapai.org/home
https://www.blockdit.com/pages/60934dc31b39400c4b221773
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย