14 ก.ค. 2022 เวลา 13:40 • ธุรกิจ
“อาชีพแห่งอนาคต” ที่ต้องเริ่มคิด
สงวนไว้ให้คนไทย
กลายเป็นกระแสฮอตฮิตในปี 2565 เมื่อช่างตัดผมชาวเกาหลีมายึดอาชีพช่างตัดผมในประเทศไทย ถูกกล่าวถึงบนสื่อออนไลน์จนเป็นกระแสโพสต์ใน TikTok กันเพียบ และมีการถกเถียงว่า อาชีพ "ช่างตัดผม" เป็นอาชีพที่ชาวต่างชาติสามารถทำได้หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อพลิกไปดูประกาศไว้ในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ระบุชัดเจนว่า อาชีพตัดผม เป็นหนึ่งใน 40 อาชีพที่สงวนไว้ให้เฉพาะ คนไทย ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด
เรามาดูกัน 40 อาชีพที่สงวนไว้ให้คนไทยทำมีอะไรบ้าง แล้วโลกทุกวันเป็นโลกแห่งดิจิตอล อาชีพเหล่านี้จะยังจะสงวนต่อไปให้คนไทยอีกต่อไปไหม แล้วอาชีพอะไรบ้างที่ควรสงวนให้คนไทยสำหรับ 10 ปีข้างหน้า
40 อาชีพที่สงวนไว้เฉพาะให้คนไทย
บัญชีที่ 1 ห้ามคนต่างด้าวทำ 27 อาชีพ โดยเด็ดขาด ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ
8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ 27.งานบริการทางกฎหมาย
บัญชีที่ 2 งานที่คนต่างด้าวทำได้โดย เงื่อนไขตามพันธกรณีระหว่างประเทศ 3 งานได้แก่ 1. วิชาชีพบัญชี 2. วิชาชีพวิศวกรรม 3. วิชาชีพสถาปัตยกรรม
บัญชีที่ 3 งานห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข 7 งาน ได้แก่ 1.งานกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ ทำป่าไม้ 2. งานทำที่นอน ผ้าห่มนวม 3.งานทำมีด 4.งานทำรองเท้า 5.งานทำหมวก 6.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 7.งานปั้นเครื่องดินเผา โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้น ได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานในอุตสาหกรรมการผลิตคนไทยไม่นิยมทำแต่จะอนุญาตให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีนายจ้างเป็นคนไทย ไม่อนุญาตให้เป็นเจ้าของกิจการเอง
บัญชีที่ 4 ไม่เป็นงานต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวอีกต่อไป แต่ต้องมีเงื่อนไขได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศได้แก่ งาน กรรมกร (งานก่อสร้าง งานก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง) และงานขายของหน้าร้าน ซึ่งเดิมเป็นอาชีพหรืองานต้องห้าม แต่ผ่อนผันให้ทำแค่กรรมการใช้แรงงาน ไม่ใช่งานช่างฝีมือ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน
อาชีพแห่งอนาคต
แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้แนวโน้มของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป แรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะกับงานแห่งอนาคต กลายเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว จากวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในหัวข้ออนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย หลังพลิกฟื้นจากโควิด-19 และการรับมือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ภายในงาน Creative Economy Forum Thailand 2022 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
พบว่าสาขาอาชีพที่มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มี 3 ส่วนคือ
1.สาขาของเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI (AI Specialist) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data Developer) ผู้ช่วยด้านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Assistant) ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา (Content Specialist) และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing Specialist)
2.งานในสาขาเศรษฐกิจใส่ใจ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพร่างการและจิตใจเป็นอีกเทรนด์ที่สำคัญหลังโควิด-19 ได้แก่ นักสุขภาพจิต (Behavioral Health Technician) ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด (Physical Therapist Aides) นักรังสีวิทยา ผู้ฝึกซ้อมนักกีฬา นักสรีรวิทยาการออกกำลังกาย พนักงานดูแลและบริการสันทนาการ และผู้ช่วยการดูแลส่วนตัว (Personal Care Aides) และนักดนตรีบำบัด
3.งานในเศรษฐกิจสีเขียว ได้แก่ นักการตลาดสีเขียว (Green Marketers) ผู้บิหารด้านความยั่งยืนขององค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน โดยงานในส่วนของสาขาอาชีพนี้ต้องมีความรู้ในหลายด้าน ได้แก่ มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องของวัสดุและอาคาร ความรู้ด้านกฎหมาย ความรู้ไอทีพื้นฐาน การสื่อสารภาษาอังกฤษ ความสามารถในการคิดวิพากษ์ และความสามารถในการสื่อสาร
ภาครัฐต้องริเริ่ม ทุกภาคส่วนต้องร่วมคิด อาชีพสงวนแห่งอนาคตของคนไทย
ขณะที่เทคโนโลยีหยั่งรากลึกลงในสังคมดิจิทัลและเติบโตมากขึ้นทุกขณะ เราก็จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำงานของมนุษย์จากอดีตจนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล ปัจจุบันมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมายเพื่อสอดรับความต้องการในยุคดิจิทัล ยังคงมีอาชีพแห่งอนาคต อีกมากมาย ซึ่งภาครัฐต้องเป็นผู้ริเริ่มและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิด ประกาศอาชีพสงวนสำหรับคนไทยใน 10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐประกาศให้ประชาชนทราบถึง อาชีพแห่งอนาคต ที่จะสงวนให้เฉพาะคนไทยในสิบปีข้างหน้า ก็จะส่งผลให้สถาบันการศึกษา ทั้งในระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัย ร่วมสร้างการเรียนรู้และกระตุ้นการพัฒนาทักษะสำคัญในอนาคตที่ตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐกิจอนาคตไทย พัฒนาศักยภาพคนในประเทศให้ตามทันสังคมอนาคตอย่างยั่งยืน
โฆษณา