17 ก.ค. 2022 เวลา 02:46 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Global Recessions : โลกถดถอย !!!
1
เราเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอยู่บ่อยครั้ง
แต่ Global Recessions เป็นปัญหาที่หนักขึ้นจากเดิมไปอีกหลายขั้น
1
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
ประเทศที่พัฒนาแล้วเกิดเศรษฐกิจถดถอยรวมกันประมาณ 150 ครั้ง ในช่วงตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา
1
เวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวไปสักระยะก็จะสะสมปัญหาต่างๆ เอาไว้
ท้ายสุดก็มักจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นการชั่วคราว
การเข้าสู่ Recession จะช่วยชะล้างปัญหาต่างๆ
บริษัทที่อ่อนแอ ก็จะต้องปิดตัวไปในช่วงนี้
คนตกงาน รวมไปถึงคนที่จ้างมาเกินก็ตกงานกันช่วงนี้
ธนาคารจัดการปัญหาหนี้เสียออกจาก Balance Sheets
1
ถ้ามีเงินเฟ้อสูงด้วย ช่วงนี้เงินเฟ้อก็จะลดลง
ถ้ามีฟองสบู่ ฟองสบู่ก็จะแฟบ
ทั้งหมดจะช่วย Set zero ให้กับระบบ
หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่จุดเริ่มต้นใหม่ ที่ดอกเบี้ยต่ำ แบงค์เริ่มปล่อยกู้ หุ้นสดใส บริษัทเริ่มเปิดใหม่ ขยายกิจการ เริ่มจ้างงาน คนเริ่มใช้จ่าย
มีข่าวดี 5-6 วัน ใน 7 วัน
1
ทั้งนี้ วัฏจักรขยายตัว-ถดถอย หรือ Expansion-Recession เป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ ที่ปกติแล้วจะขยายตัว 4-5 ปี แล้วตามมาด้วยถดถอย 4-5 ไตรมาส สลับกันไป
1
"ธุรกิจมีขึ้นมีลง" เศรษฐกิจก็เช่นกัน "มีขึ้นมีลง"
ส่วนเวลาที่ใช้ บางครั้งสั้นกว่านี้ บางครั้งยาวกว่านี้
แล้วแต่ว่าปัญหานั้นลึกแค่ไหน
หากมีวิกฤตการเงิน วิกฤตฟองสบู่แตก ที่มีหนี้เสียมากมาย ประกอบอยู่ด้วยก็จะใช้เวลามากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ช่วงต้มยำกุ้งในไทย หรือ Subprime ในสหรัฐ
ประเทศที่เป็นต้นตอของวิกฤต ก็มักจะต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 3-4 ปี หลังผ่านช่วงถดถอยไปแล้ว ในการพักฟื้น ก่อนที่จะกลับมามีสุขภาพปกติ สามารถเริ่มต้นใหม่ได้
สหรัฐหลัง Subprime ถดถอยไป 1.5 ปี ตามด้วยการคลี่คลายปัญหาอีก 4-5 ปี
Dow Jones เคยสูงสุดที่ 14,000 ปลายปี 2007
กว่าจะกลับไปจุดเดิม ก็ต้องปี 2013
ส่วนราคาบ้านสหรัฐที่เคยสูงสุดปี 2006
กว่าที่ราคาบ้านจะคึกคักอีกครั้ง ก็ต้องปี 2012 กว่าจะกลับไปจุดเดิม ก็ต้องปี 2016
ไทยหลังต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 กว่าหุ้นจะเริ่มฟื้นก็ต้องปี 2002-2003 ไปแล้ว
แต่หากไม่มีวิกฤตการเงินภายในประเทศ การฟื้นตัวก็จะเร็วเป็นพิเศษ
เช่น ไทยหลัง Subprime ปี 2008 ที่ในปีต่อมา หุ้นเราก็เริ่มฟื้นอย่างคึกคัก และในปี 2010 ก็สามารถกลับไปที่เดิมได้ (ขณะที่สหรัฐยังต้องใช้อีก 3 ปี) !!!
เพียงแต่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้ กำลังจะยกระดับเป็น Global Recessions !!!
ที่ "ทั้งโลก" ประสบภาวะนี้พร้อมๆ กัน
1
แม้บางประเทศจะยังพอขยายตัวได้ แต่ใน Global Recessions โลกโดยรวมมีขนาดเศรษฐกิจที่ลดลง !!!
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ เกิดขึ้นเพียง 5 ครั้งเท่านั้น ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา คือ
1975 - วิกฤตน้ำมัน First Oil Shock
1982 - หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปอย่างรวดเร็วเพื่อสู้เงินเฟ้อ หลัง Second Oil Shock
1991 - หลัง Gulf War และการปรับขึ้นของราคาน้ำมันโลกอีกรอบ
2009 - หลังวิกฤต Subprime
2020 - ช่วงปิดเมืองพร้อมๆ กันรอบแรกจากโควิด-19
1
ทุกรอบเกิด "เศรษฐกิจถดถอยพร้อมๆ กัน ทั่วโลก" หรือ "Synchronized Recessions" ไม่ได้เฉพาะแต่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ที่น่ากังวลใจก็คือ จากช่วงแรกๆ ที่คนออกมาพูดว่าประเทศโน้น ประเทศนี้ เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว สิ่งที่กำลังรอเราอยู่ในรอบนี้ กำลังยกระดับขึ้นเป็น Global Recessions อีกครั้ง
ถ้าลองคิดดู 1975 1982 1991 ปัญหาเริ่มมาจากราคาน้ำมันที่คุกคามทุกประเทศ
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ราคาน้ำมันโลก ผสมผสานกับราคาอาหารโลก ส่งผลกระทบทุกคนพร้อมๆ กัน นำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 30-40 ปี เกือบทุกประเทศ
1
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายเข้มงวดเพื่อทำสงครามกับเงินเฟ้อ
ต้องใช้ยาแรงเป็นพิเศษ
และจากนโยบายธนาคารกลางต่างๆ เหล่านี้ ตลาดจึงคาดการณ์ต่อไปว่า จะมีหลายประเทศที่เริ่มเข้าสู่ Recession (อย่างจริงๆ จังๆ) ในช่วงปลายปีนี้ ต้นปีหน้า
และ Recession อาจจะมาเร็วกว่าที่เราคิด หากวิกฤตท่อก๊าซในยุโรปลุกลาม
สอดรับกับนักวิเคราะห์จาก Nomura ที่คาดไว้ว่าจะมี 7 กลุ่มประเทศที่เผชิญกับปัญหา คือ สหรัฐ กลุ่มยูโร อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย แคนาดา ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
รับกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IMF ที่ออกมาเตือนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
รับกับหัวหน้านักเศรษฐศาตร์ธนาคารโลก ที่ออกมาเตือนในเรื่องนี้เช่นกัน
และยิ่งจีนมีปัญหาภายใน การถดถอยของโลกรอบนี้ ก็จะไม่มีตัวช่วย
ทั้งหมดนี้จะมีนัยยะไปต่อราคาพลังงานโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ อย่างที่เราเห็นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
และจะมีนัยยะมายังประเทศไทยในช่วงต่อไป อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก
ทั้งหมดนี้ โชคดีที่เรายังมีเวลาอีกนิด
ถ้าเราใช้เวลาที่เหลือ หยิบฉวยโอกาสที่เปิดขึ้นจากวิกฤตราคาอาหาร ราคาพลังงาน และจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ทั้งในเรื่องสินค้าเกษตร การส่งออกไปสหรัฐ การท่องเที่ยว การลงทุนในพลังงานทดแทน และความสนใจที่ทุกคนมีเพิ่มขึ้นกับ ASEAN
เราก็จะพอผ่อนหนักเป็นเบา ผ่านไปได้ครับ
#ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ #GlobalRecessions
ขอขอบคุณภาพจาก WION และ Reuters ครับ
โฆษณา