17 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Paul Volcker ผู้สยบเงินเฟ้อ ในยุค The Great Inflation
2
ขณะนี้เงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก โดยตัวเลขเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศ กำลังทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปี เช่น
  • สหราชอาณาจักร เงินเฟ้อ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี
  • สวิสเซอร์แลนด์ เงินเฟ้อ 3.4% สูงสุดในรอบ 29 ปี
  • ยูโรโซน เงินเฟ้อ 8.6% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • ไทย 7.66% สูงสุดในรอบ 14 ปี
1
เมื่อเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเกินกว่ากรอบที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดเอาไว้ ผลที่ตามมา คือ ราคาข้าวของที่แพงขึ้น จนไปกระทบกับเงินในกระเป๋าและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ธนาคารกลางก็ต้องออกมาแก้ปัญหาด้วยการใช้นโยบายการเงิน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น เราอาจจะเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยทีละ 0.5-0.75%
1
แต่เคยมีครั้งหนึ่ง ที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาเคยพุ่งสูงไปถึง 20% นั่นก็คือ ยุคของคุณ Paul Volcker ที่ธนาคารต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
📌 ย้อนรอย The Great Inflation
The Great Inflation เกิดในช่วงเวลา 1965-1982 โดยในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น สหรัฐอเมริกามีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 1% จากนั้นอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปแตะที่ระดับ 14% ในปี 1980 ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 3.5% ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980
2
สาเหตุของ The Great Inflation ก็คือ การใช้นโยบายการเงินที่เอื้อให้ปริมาณเงินในระบบมีมากเกินไป ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าคือ ในช่วงของ The Great Depression ที่นำมาสู่ 3 เหตุการณ์หลักๆ คือ
สภาคองเกรส หันมาให้ความสำคัญกับ นโยบายส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือ การส่งเสริมให้มีการจ้างงาน การผลิต และอำนาจซื้อ สูงสุด รวมไปถึงส่งเสริมความสอดคล้องกันระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน แต่การที่จะรักษาอัตราการว่างงานให้อยู่ในระดับต่ำได้ ก็ต้องแลกมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
การล่มสลายของระบบ Bretton Woods ซึ่งระบบนี้ เป็นระบบการเงินที่ให้สกุลอื่นๆ ผูกไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินดอลลาร์สหรัฐผูกกับทองคำอีกทอดหนึ่ง โดยระบบนี้ทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐมีมากกว่าทองคำที่สะสมไว้ จนในที่สุด ประธานาธิบดี Nixon ต้องประกาศยกเลิกการผูกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไว้กับทองคำ
การดำเนินนโยบายไม่สมดุล และ การขาดแคลนพลังงาน โดยในสมัยของประธานาธิบดี Johnson ได้มีการดำเนินนโยบาย Great Society ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เงินมหาศาล ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การคลังของสหรัฐฯ กำลังตึงเครียดจากสงครามเวียดนาม จนเกิดความไม่สมดุลทางการคลังอย่างหนัก และในช่วงเดียวกัน สหรัฐยังเจอกับวิกฤติน้ำมันถึง 2 ครั้งด้วยกัน
1
เมื่อสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ก็ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ยุค The Great Inflation และธนาคารกลางในขณะนั้น ยังใช้นโยบายการเงินแบบ ไปๆ หยุดๆ คือ ลดดอกเบี้ย กระตุ้นการจ้างงาน เพื่อให้อัตราการว่างงานลดลง แต่พอเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางก็ใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวอย่างรุนแรงด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
การดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะนี้ ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ ไม่สามารถควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อ และ อัตราการว่างงาน มีเสถียรภาพได้ ทำให้ เงินเฟ้อค่อยๆ สูงขึ้น จากที่เคยอยู่ราวๆ 1% ก็เพิ่มมาเป็น 11% ในปี 1974 และหลังจากนั้นเพียง 6 ปี เงินเฟ้อสหรัฐก็พุ่งขึ้นมาแตะ 13.5% ประกอบกับมีอัตราการว่างงานเกิน 7%
2
📌 การเข้ามาเป็นประธาน Fed ของ Paul Volcker
หลังจากที่สหรัฐอเมริกา เผชิญกับ ยุค Great Inflation เงินเฟ้อสูงเกิน 10% อัตราการว่างงานสูง การลงทุนภาคเอกชนลดลง ทำให้ธนาคารกลางต้องเผชิญกับทางเลือกที่หนักใจ คือ ถ้าจะแก้ไขปัญหาการว่างงาน ก็ต้องยอมให้อัตราเงินเฟ้อ ที่ขณะนี้สูงอยู่แล้ว ให้สูงขึ้นไปอีก แต่ถ้าเลือกที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลง ธนาคารกลางก็ต้องยอมให้คนตกงานมากขึ้น
3
ในปี 1979 คุณ Paul Volcker ก็ได้เข้ามารับตำแหน่ง ประธาน Fed และหน้าที่ของคุณ Paul ก็คือ ต้องเข้ามาแก้ไขสถาณการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 9% และบางปีก็พุ่งสูงถึง 11% ในขณะที่อัตราการว่างงานก็สูงถึง 6%
1
ซึ่งคุณ Paul ก็เห็นว่า ธนาคารกลางต้องเลือกที่จะคุมเงินเฟ้อให้อยู่ ถึงแม้จะต้อมยอมผลักให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม
1
คุณ Paul จึงได้ตัดสินใจใช้ยาแรงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเคยขึ้นไปสูงถึง 20% ในปี 1980 ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคุณ Paul ก็ได้ผล เพราะอัตราเงินเฟ้อก็ค่อยๆ ลดลงจาก 13.5% ในปี 1980 เป็น 10.3% ในปี 1981 และลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือ 1.86% ในปี 1986
2
ถึงแม้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะได้ผล และทำให้เงินเฟ้อลดลงมาได้ แต่การกระทำในครั้งนั้น ก็ได้สร้างบาดแผลในกับชาวอเมริกัน เช่นกัน
เพราะหลังจากการที่คุณ Paul ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง อัตราการว่างงานก็เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 1980 ที่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยถึง 20% อัตราการว่างงานก็เพิ่มเป็น 7% และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปแตะที่ระดับ 9.7% ในปี 1982 ธุรกิจต่าง ๆ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และสุดท้ายสหรัฐอเมริกาก็เผชิญกับเศรษฐกิจถดถอย ที่ลากยาวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 1981 และ ลากยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 1982
2
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิดการประท้วงเรียกร้องให้คุณ Volcker ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งชาวนามาประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของธนาคารกลาง ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ที่ได้ส่งโลงศพและข้างในใส่กุญแจรถที่ขายไม่ได้เอาไว้มาให้ หรือการเขียนจดหมายร้องเรียนต่างๆ ว่าประชาชนหลายคนได้เก็บเงินซื้อบ้านมาอย่างยาวนาน แต่ในขณะนี้เขาไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนั้นสูงเกินไป
1
แต่เมื่อเวลาผ่านไป อัตราเงินเฟ้อก็ปรับลดลงมาต่ำกว่า 5% อัตราการว่างงานก็ลดลงเรื่อยๆ และเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ช่วงของการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่า สงครามเงินเฟ้อครั้งใหญ่สิ้นสุดลงแล้ว
1
มันเป็นช่วงเวลาที่เกิดเงินเฟ้อครั้งใหญ่และยั่งยืนที่สุดที่สหรัฐอเมริกาเคยมีมา
(It was the biggest inflation and the most sustained inflation
that the United States had ever had.)
Paul A. Volcker
1
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา