17 ก.ค. 2022 เวลา 14:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ถอดรหัส!!! เศรษฐกิจที่แตกร้าวของประเทศลาว
ประเทศลาวเป็นจุดหมายการเดินทางของหลายๆ คนด้วยความงามทางวัฒนธรรมและสภาพอากาศ แต่ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านแสนสำคัญของไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพสูงเป็นประวัติการณ์ไปจนถึงความขาดแคลนในทรัพยากรที่ต้องนำเข้าต่างๆ เรามาดูกันครับว่าทำไมประเทศลาวถึงก้าวมาถึงจุดนี้ได้
1
เปิดประวัติประเทศลาว
ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานสามารถนับย้อนไปตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้างอันเกรียงไกร ต่อมาได้แตกออกเป็นอาณาจักร์หลวงพระบาง เวียงจันทร์ และจำปาศักดิ์ และได้ถูกฝรั่งเศสยึดครองและรวมชาติให้เป็นหนึ่งในชื่อของประเทศลาว
ในปี 1953 ประเทศลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสและมีการปกครองแบบราชาธิปไตยโดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ซึ่งภายหลังขบวนการประเทดลาว (Pathet Lao) ของฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะฝ่ายประชาธิปไตยและเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในที่สุด
1
อย่างไรก็ตามประเทศลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked country) การส่งออกหรือนำเข้าต้องพึ่งพาการขนส่งทางบกเป็นหลัก โดยเฉพาะผ่านทางประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม และจีน นอกจากนี้ประเทศลาวต้องพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากรต่างๆ โดยใช้เงินตราต่างประเทศที่ได้จากการท่องเที่ยว และการขายพลังงานไฟฟ้า
จุดเริ่มต้นของการล่มสลายทางเศรษฐกิจของลาว
ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะได้เห็นประชาชนลาวเริ่มขาดแคลนน้ำมัน แต่ที่ผลที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศลาวกำลังไปต่อไม่ไหวคือค่าเงินเฟ้อสูงมากถึง 23.6% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นับว่าสูงที่สุดในรอบ 22 ปีก็ว่าได้ ชนวนที่เป็นสาเหตุอาจแบ่งได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 และสงครามยูเครนรัสเซีย:
ในเบื้องต้นการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงเงินตราต่างประเทศดำเนินการได้น้อยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID ในทางกลับกันทางลาวกลับหาซื้อน้ำมันจากต่างประเทศได้ยากและราคาแพงเพราะเกิดสงครามระหว่างรัสเซียยูเครน นั่นหมายความว่าทางการลาวต้องหาเงินตราต่างประเทศมากขึ้นเพื่อใช้ในการซื้อน้ำมัน ส่งผลให้ค่าเงินของลาวอ่อนตัวลง เงินเฟ้อมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันทางประเทศลาวสามารถนำเข้าน้ำมันได้ประมาณ 20 ล้านลิตรต่อเดือน หากแต่ความต้องการที่แท้จริงคือ 120 ล้านลิตรต่อเดือน
2. หนี้สินจำนวนมากที่กู้ในสกุลเงินต่างชาติ
ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่ของประเทศลาวกู้มาเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ทำให้เกิดโครงสร้างหนี้สาธารณะสูงถึง 13,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ทางการลาวอาจต้องหาเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ทั้งจ่ายหนี้ดังกล่าวและจัดหาน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
เมื่อทั้ง 2 สาเหตุมาบรรจบกันก็จะทำให้เกิดวงจรที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ (Vicious Cycle) ทางสถาบันต่างๆ ปรับลดความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของลาวลง ทำให้ต่อไปลาวอาจจะหาแหล่งเงินเพื่อเข้ามาใช้จ่ายได้ยากยิ่งขึ้น จุดที่ทางประเทศลาวจะได้เงินตราต่างประเทศมาได้คือการขายพลังงานไฟฟ้า ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่งธาตุ ผนวกกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่จะช่วยให้มีเงินตราต่างประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ต่อให้สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนคลี่คลายลง แต่เงินกู้ที่ทางลาวต้องหาทางชำระให้ได้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที แนวโน้มที่ทางการลาวอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ค่อนข้างสูง คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าประเทศลาวจะหาทางออกจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร การช่วยเหลือของเจ้าหนี้เดิมอย่างจีนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือแหล่งเงินทุนช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
โฆษณา