17 ก.ค. 2022 เวลา 15:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินอ่อนแตะ 37.10 บาท
สัปดาห์หน้าเตรียมตัว กรอบ 36.30 - 37.10 บาท
กังวลจาก FED ขึ้นดอกเบี้ย 1% เงินต่างชาติไหลออก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุดแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือน ที่ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังปรับขึ้นมากเกินคาด
การอ่อนค่าของเงินบาท ณ ขณะนี้ ถือว่าระดับอ่อนค่าสุดในนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
โดยในระหว่างสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าผ่านแนว parity เมื่อเทียบกับเงินยูโร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 นอกจากนี้ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียและเงินหยวนยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อสัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิดในจีนด้วยเช่นกัน
ขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกลายเป็นประเด็นหลักของตลาดในสัปดาห์นี้ หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อ (ทั้ง CPI และ PPI) เดือนมิ.ย. พุ่งสูงขึ้นกว่าที่คาด และทำให้ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 100 basis points หรือ 1% ในการประชุมรอบ 26-27 กรกฎาคมนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดีการคาดการณ์ดังกล่าวชะลอลงบางส่วน หลังเจ้าหน้าระดับสูงของเฟดให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 75 basis points หรือ 0.75% ในรอบนี้
เมื่อศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2565 เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือนที่ 36.73 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 36.60 เทียบกับระดับ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า
ขณะที่ระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,141 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 2,079 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,063 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 16 ล้านบาท)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป ในช่วงวันที่ 18 - 22 กรกฎาคม ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 36.30 - 37.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนมิถุนายน ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนกรกฎาคม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิถุนายน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา