18 ก.ค. 2022 เวลา 20:00 • นิยาย เรื่องสั้น

นิวยอร์กกู ตอน อยู่นิวยอร์ก เก็บเงินกี่ปี ถึงจะมีล้าน (บาท) แรก!

เปิดหน้า Feed ช่วงนี้ เห็นแต่แปะข่าว แชร์ข้อมูลกันว่า ‘เก็บเงินกี่ปี ถึงจะมีล้าน(บาท)แรก?’ พร้อมทั้งการอธิบายความสำคัญของพลังดอกเบี้ยทบต้น และอีกสารพัดพลังงานที่โคตรพ่อโคตรแม่นักเทคนิคการเงินและพี่ Life Coach จะนำมาเล่า พร้อมปั่นความคิดคนอ่านอย่างผม ให้ฝันหวานเนื้อเต้นเหลือเกินว่า ถ้าทำได้อย่างที่เขาบอกล่ะก็ อีกไม่นาน ไม่เกิน 5-10 ปีก็จะมีเงินล้านกับเขาสักที เหอๆ
ภาพตัดกลับมาสู่ความจริง หลังจากได้ยินเรื่องราวของเพื่อนพี่น้องที่เมืองไทย กับเงินเดือนหลักสามสี่หมื่นไปจนถึงเป็นแสน เมื่อมาหักลบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน, ค่ารถ, ค่าน้ำมัน, ค่ากิน, ค่า Entertain และค่าจิปาถะที่นับดูแล้วเหมือนจะพอกันหรือเผลอๆ จะมากกว่าเงินเดือนเสียด้วยซ้ำ ก่อให้เกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องไปชักๆๆ เอาเงินจากอนาคตข้างหน้าจากบัตรเครดิตมาแทน เวลาผ่านไปก็ก่อหนี้บัตรเครดิตขึ้นมาจนมันสุมเต็มไปหมด ผ่อนกันไม่หวาดไม่ไหว
ไม่นับพวกที่มีลูกอีกนะ ที่ค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าเรียนรายเดือน ค่าเทอมรายปี แต่ละอย่างนั้นแพงสั๊ส! เรียกว่า ถ้าไม่ได้กำสมบัติ หรืออมรถนำขบวนมาเกิด ก็เรียกได้ว่า น่าจะมีเครียดลงตับ ลงกระเพาะกันบ้าง ไม่มากก็น้อยล่ะนะ
และก็เนื่องจากพิษเศรษฐกิจ พาลให้ชีวิตมันบัดสบเหลือเกิน อยู่ไปก็มีแต่อดตาย หลายคนก็เลยตัดสินใจ เดินทางข้ามโลกมายังอเมริกา มาเป็นกะเหรี่ยงต่างด้าว ชนชั้นแรงงานที่นี่กัน
มีตำนานว่ากันว่า ไอ้ที่เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่มหาลัยในอเมริกานั้น ร้อยละ 99% ล้วนแต่ต้องเคยผ่าน เคยเฉียดเข้ามาลงทะเบียนที่มหาลัยห้องครัวกันบ้างล่ะ บางคนเข้ามหาลัยห้องครัวไปได้ซักสองสามปี เรียนจบกลับไทยไปได้ดิบได้ดีก็เยอะ บางคนก็เรียนมาเป็นสิบปีแล้ว ก็ยังเรียนไม่จบ ยังคงลงทะเบียนเรียนต่อ จนเป็นรุ่นใหญ่ เป็นรุ่นปู่ให้รุ่นน้อง เด็กๆ ที่มาใหม่ได้กราบไหว้กันก็มี อ้าว! กูเองนี่หว่า สั๊ส!
แต่ด้วยความที่มันเป็นเงินดอลล่าห์ ค่าเงินมันแข็งกว่าบ้านเรา จะเก็บเงินล้านบาทแรกใช่ว่าจะยากเกินไป ไม่ต้องอาศัยพลังดอกเบี้ยทบต้นทบดอก ไม่ต้องไปนั่งลุ้นนพลังกองทุน เปลี่ยน Strategy อะไรกันให้วุ่นวาย หลายคนก็อาศัยสองมือ, หนึ่งสมองกับความถึกที่พกมาตั้งแต่เกิดนี่แหละวะ ไม่นานเกินรอ ได้เงินล้านแน่! วันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังถึง เรื่องราวของการเก็บเงินล้าน(บาท)ที่อเมริกากันว่า มันต้องใช้เวลาเท่าไหร่กันนะ ถ้าพร้อมแล้ว ก็ขอเชิญติดตามรับฟังกันได้เลยครับ
หลังจากที่ตัวผมได้เข้าทำงานเป็น Busser ของร้านทะเลแล้ว ชีวิตก็ล่ำซำขึ้นเรื่อยๆ ทำงานคืนนึง แค่ Shift เย็นอย่างเดียวก็ได้ตกวันละ $200 ทำงานสัปดาห์ละ 3 Shift บวกกับทำงานเสริม เพิ่มอีกร้านนึงก็มีรายได้สัปดาห์ละ เกือบ $1,000 โอ้ววว
เรียกว่า ตอนนั้นผมมีเงินเก็บซื้อกล้อง ซื้อเลนส์ ซื้ออุปกรณ์ใหม่มากมาย แต่ก็ลืมไปเลย ใช้กล้องถ่ายยังไง วัดแสงอะไรเพี้ยนไปหมด เพราะมัวแต่หาเงินอย่างเดียวจนไม่มีเวลาออกไปถ่ายรูป หาอะไรใส่หัว หรือทำอะไรอย่างที่ใจชอบเลย เอาแต่เข้าร้านอาหาร จับจานชามมากกว่าจับกล้องเสียอีก จนตัวเองเริ่มเกิดความดราม่าเบาๆ ว่า นี่กูมาทำอะไรที่นี่วะเนี่ย!
ณ บริเวณ หน้าร้านทะเล ร้านไทยที่ใหญ่และก็โด่งดังที่สุดในนิวยอร์ก ผมนั่งคิดถึงอนาคตของตัวเองพลางจุดบุหรี่ดูด เพราะว่าไปถึงก่อนเวลาเข้างานเกือบสิบนาที
“หนุ่มอมควันด้วยเรอะ?” เสียงภาษาไทยลอยมาจากทางด้านหลัง ผมหันไปเห็นเป็นโกวี แกเป็น Sous-Chef รุ่นเดอะของร้าน, Sous-Chef คือ ตำแหน่งขาใหญ่อันดับสองของห้องครัว เป็นรองเพียงแค่ Head-Chef มีหน้าที่เป็นผู้ช่วย Head-Chef คอยควบคุมดูแลทุกอย่างในห้องครัวให้ดำเนินการไปได้อย่างไหลลื่นนั่นเอง ไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้ว่าแกน่ะเป็นรุ่นใหญ่, โกวีเป็นคนใต้ รุ่นอายุน่าจะ 60 ปลายๆ แต่ยังขยันขันแข็ง ยังดูกระฉับกระเฉงอยู่เลย
จริงๆ ผมไม่เคยคุยกับแกมาก่อนเลย ที่เจอกันทุกครั้งก็เป็นเวลาทำงาน ผมก็ยกมือไหว้ สวัสดีตามประสาเด็กใหม่ เห็นแกทักเรื่องบุหรี่ สงสัยแกจะดูดเหมือนกัน ผมเลยถามว่าโกสูบไหม แต่โกวีส่ายหัว
“โกไม่สูบแหล๊ว” โกวีบอกสำเนียงทองแดงนิดๆ ก่อนจะบอกต่อว่า “ไม่ช่ายไรนะ บุหรี่ที่นิวยอร์กมันแพง ซื้อไม่ลง เลยเลิกดีกว่า” โกวีพูด บุหรี่ที่นิวยอร์กนี่ถูกที่ไหนกันละ ซื้อจากร้านใบ๋สะดวกซื้อตกซองละ $12 เรียกว่า ซองนึงคิดเป็นเงินไทยนี่คือ 300 บาทได้ อันนี้ราคาปี 2007 นะ ตอนนั้นเพื่งมาใหม่ กินอะไรนอกบ้านแต่ละที อดคูณเป็นเงินไทยไม่ได้ 555 แต่แปลกที่บุหรี่นี่ต้องยกไว้อย่าง จะแพงแค่ไหน แต่ก็ยังต้องซื้อ แต่ดูดแต่ละที ก็ต้องเอาให้เกลี้ยง หัวยันก้นเลยทีเดียว
“โกวีเลิกบุหรี่มานานยังครับ” ผมชวนโกวีคุย
“ก็หลายปีแล้ว บุหรี่มันไม่ดีน่ะ แก่แล้ว ต้องดูแลสุขภาพด้วย” โกวีตอบกึ่งสอน
“แต่เบียร์ยังมีจิบๆ บ้าง พอเป็นกระษัย” โกวีบอกต่อ ที่นิวยอร์กนั้น ราคาเบียร์พอๆ กับที่บ้านเรา ยิ่งถ้าเบียร์ตลาดเมกันนี่ยิ่งถูก อย่าง Budweiser นี่ ขวดนึงไม่ถึง $2 ด้วยซ้ำ ทำไมราคาเบียร์กับบุหรี่มันต่างกันแบบนี้วะ!
“แล้วโกวีกลับไทยบ้างป่าวครับ” ผมถาม ชวนคุยเก็บข้อมูลไปเรื่อย
“ถ้ากลับไปก็กลับมาไม่ได้แล้วน่ะซิ” โกวีตอบเสียงนิ่งๆ ก่อนจะเล่าต่อว่า โกวีมานิวยอร์กนานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงเทพยังไม่เริ่มสร้างรถไฟฟ้าเลย แล้วก็ตั้งใจมาโดดเป็น Robinhood เข้าร้านอาหาร ทำงานเก็บเงินอย่างเดียว เรียกว่าเป็นนักศึกษาประจำรุ่นเดอะ ลงทะเบียนเรียนมหาลัยห้องครัวมายาวนานเป็นสามสิบปี
ผมฉุกคิดได้ว่า ไม่ควรถามแกเลย เดี๋ยวจะมีดราม่า คิดถึงเมืองไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พอมองหน้าแก ก็เห็นแกอมยิ้มอยู่ ก็โล่งใจ
1
“แต่โกว่า อีกสองเดือน ก็ว่าจะกลับไทยแล้วล่ะ” โกวีบอก เล่นเอาผมงง อ้าวเฮ้ย นี่ถามปุ๊ป จะกลับปั๊ปเลยเหรอ รู้งี้ไม่ถามก็ด้ายยย....
“จริงๆ โกเก็บเงิน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายหนี้ ส่งลูกหลานเรียนจนจบหมดแล้ว เมื่อหลายปีก่อนก็คิดจะกลับไทยมาแล้วครั้งนึง ตอนนั้นเมียตาย” โกวีเล่า
10
“แต่ตอนนั้นยังไม่มีเงินเก็บ ลูกหลานก็โตกันหมดแล้ว โกเองก็อายุปาไปจะ 60 แล้ว กลับไทย? จะไปทำอะไรได้ล่ะ ก็เลยตัดสินใจจะอยู่ต่ออีกสักหน่อย กะจะเก็บเงินสัก 7 ล้าน เอาไว้ใช้ตอนเกษียณที่เมืองไทย” โกวีเล่า เล่นเอาผมตาลุกโพล่ง!
2
เฮ้ยยย เดี๋ยวๆ โกจะมาเก็บตังอะไร 7 ล้าน ตอนอายุ 60 กว่าๆ เนี่ยนะ ลุงแกคงเห็นหน้างงๆ ของผม ก็เลยอธิบายต่อ ถ้าอยู่เมืองไทย ไม้ใกล้ฝั่งอย่างแกจะไปทำอะไรได้ แต่อยู่ที่นี่ แกเป็น Sous-Chef ของร้านทะเล ร้านอาหารไทยอันดับหนึ่งของนิวยอร์ก รายได้ไม่ต้องพูดถึง มากกว่า Busser ชนชั้นแรงงานอย่างผมอยู่แล้ว ในจะโบนัสสิ้นเดือน สิ้นปี วันทองแตกอะไรอีกมากมาย
1
“อยากจะกลับไทยไปจิบเบียร์ เชียร์นักร้อง ฮ่าๆๆ” โกวีเล่าพลางหัวเราะ ก่อนจะบอกต่อว่า นี่ก็ผ่านมาสามสี่ปีแล้ว ตอนนี้ก็มีเงินเก็บอยู่ใกล้กับที่วางเอาไว้แล้ว ก็เลยอยากจะเกษียณ ถึงตอนนั้นจะใช้ชีวิตนอกห้องครัวให้หายอยากเสียที โกวีเล่า พลางลุกขึ้นชวนเข้าร้าน
“ป่ะ เข้าร้านๆ เลิกบุหรี่ได้ ก็เลิกซะล่ะ” โกวีชวนเข้าร้าน พลางแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ หลังจากเม๊าท์มอยจนลืมเวลาเลย
ได้ยินว่าโกวีแกกลับไทยไปหลายปีแล้ว ตอนนี้ก็ชิลๆ คง ‘จิบเบียร์ เชียร์นักร้อง’ ทำตามอย่างที่แกลั่นวาจาไว้ ก็ได้แต่หวังว่าคงไม่ไป ติดเบียร์ ติดนักร้องนะค้าบ ไม่อย่างนั้น กี่ล้านก็คงไม่เหลือ!
ส่วนผมนั้นหลังจากลงทะเบียนร่ำเรียนมหาลัยห้องครัว ผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว ตอนนี้ก็ทำได้อย่างโกวีแล้ว ไม่ใช่มีเงินเก็บหลายล้านนะ แต่เลิกสูบบุหรี่ได้ต่างหากล่ะ
อย่าว่าแต่เงินล้านเลย แค่ไม่ให้มีหนี้ก็บุญแล้ว 555 อย่างน้อยผมก็โชคดีอยู่ที่ว่า ไม่มีอะไรให้ต้องรับผิดชอบ นอกจากตัวเอง ไม่เหมือนเพื่อนๆ พี่น้องๆ หลายคนที่แวะเวียนมานิวยอร์กพร้อมกับหนี้ก้อนโต มีแบบต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ใช้หนี้เพื่อครอบครัวก็มี ทำงานแบบสัปดาห์ละ 6 วัน ตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต ลงทะเบียนเต็มหน่วยกิจ เป็นนักเรียนมหาลัยห้องครัวโดยสมบูรณ์แบบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโอกาสได้เดินทางมาอยู่ที่นิวยอร์ก ได้มีโอกาสทำงานสัมผัสเงิน Dollar ที่เป็นเงินสกุลหลักของโลก เทียบกับค่าเงินบาทแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ทุกครั้ง เวลาที่แลกเงินกลับไทย
ส่วนคำตอบของคำถามตอนต้นว่า ที่นิวยอร์กต้องเก็บเงินกี่ปี ถึงจะมีเงินล้านนั้น ผมก็มานั่งคำนวณเป็นตารางเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจนะครับ ไม่ได้ถามโกวีว่าได้เงินเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าไม่น้อยกว่าผมแน่ๆ
ทำงานวันละ $200 สัปดาห์ละ 6 วัน = $1,200 ต่อสัปดาห์
ทำงาน 4 สัปดาห์ = $4,800 ต่อเดือน
ทำงาน 12 เดือน = $57,600 ต่อปี
พอเอามาคูณเป็นเงินไทยพอเอามาคูณเป็นเงินไทยตอนนั้นก็ประมาณ ดอลล่าห์ละ 30 บาท ก็ปาเข้าไป 1,700,000 บาท ต่อปี หักค่าใช้จ่าย ค่าเช่าบ้านผมว่าไม่ถึงปี ก็มีเงินล้านได้ครับ ถ้าอยู่ไทยแต่อยากมีรายได้แบบนี้ ไม่ขายยา ก็ต้องเป็นตั้งด่านล่ะครับ!
ก็ไม่ได้จะมาอวดว่าอยู่ที่นิวยอร์กมันสบาย ที่นี่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดี เรื่องดราม่า การถูกเหยียด เป็นพลเมืองชั้นสอง ชั้นสาม ก็เห็นให้มีอยู่ทุกวี่วันไป Stay Strong ทนไหวหรือเปล่าล่ะ? ไม่ได้จะมาชี้โพรงให้ หอบผ้าหอบผ่อน ทุบหม้อข้าวตัวเองมาอยู่ที่นี่นะครับ
อย่างไรก็ตามเมื่อความฝัน(ที่จะรวย) กับชีวิตจริงมันยังเป็นเส้นขนานกันขนาดนี้ จะให้ทำยังไงได้ล่ะ อ่านแล้วก็คิดเอาเองแล้วกันว่าจะทำยังไงกับชีวิต ถ้ายังมัวอยู่ในโลกสวยก็ตามใจ กินหญ้า กินลาเวนเดอร์แทนข้าวได้ไหมล่ะ!
หากชอบใจ ฝากกดติดตาม กดไลค์ อ่านเรื่องราวอัพเดทของ นิวยอร์กกู NYKU: New York Kitchen University เรื่องวุ่นๆ ของพวกเราพี่น้องคนไทย ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ห้องครัวในมหานครนิวยอร์กได้ที่นี่นะครับ ขอบคุณครับ
#นิวยอร์กกู #nyku #newyorkkitchenuniversity #คนไทยในนิวยอร์ก #มหาลัยห้องครัว #ชีวิตเด็กเสิร์ฟ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา