18 ก.ค. 2022 เวลา 03:37 • สุขภาพ
“สนิมปากขวด” อันตรายหรือไม่?
Image Credit: Pixabay / Twitter: “lll Chriss mé (คริสมี)”
“สนิม” เป็นเหล็กหรือโลหะส่วนที่มีการเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม เนื่องจากได้รับปฏิกิริยาเคมีที่มีอากาศ น้ำ หรือความร้อนเป็นตัวการสำคัญ
ทำให้เหล็กมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากเดิม เช่น สีที่เปลี่ยนไป มีความแข็งแรงลดลง และทำให้เกิดการผุกร่อน เป็นต้น
หรือจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “สนิม” ก็คือผลลัพธ์ของกระบวนการทางเคมีและไฟฟ้าระหว่างเหล็กและสิ่งแวดล้อม เมื่อผิวเหล็ก ความชื้น และ ออกซิเจน ได้โคจรมาเจอกันโดยนัดหมายนั่นเอง
Image Credit: Pixabay
“เหล็ก” หรือ “ธาตุเหล็ก” นั้น มนุษย์จะได้รับแร่ธาตุนี้เป็นประจำอยู่ทุกๆ วันอยู่แล้ว ผ่านทางอาหาร เช่น เลือดสัตว์ เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง ซึ่งประโยชน์ของมันก็มีมากมาย
ทั้งช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลีย เสริมภูมิต้านทาน เสริมสร้างการเจริญเติบโต ช่วยป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อีกทั้งช่วยให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่งอีกด้วย
และอีกช่องทางหนึ่งที่เราจะได้รับธาตุเหล็กก็คือ ผ่านทางน้ำประปาในปริมาณที่ปกติพอดีในแต่ละวัน โดยคุณลักษณะทางเคมีตามมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาของทั้งการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และการประปานครหลวง (กปน.) ได้กำหนดให้มีเหล็ก (Iron) ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายมนุษย์
## การดื่มน้ำขวดที่ปากมีสนิมอยู่นั้นอันตรายหรือไม่? ##
Image Credit: Twitter “lll Chriss mé (คริสมี)”
ข้อมูลอ้างอิงจากมูลนิธิหมอชาวบ้านบอกว่าการดื่มน้ำจากปากขวดที่มีสนิมนั้น “ไม่มีอันตราย” เพราะปริมาณเหล็กที่เข้าสู่ร่างกายนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายต้องการ และควรได้รับในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม ก็ “ไม่ได้หมายความว่าควรกิน หรือกินได้” เพราะสนิมนั้นมีของแถมอย่างอื่นปะปนแฝงตัวมาด้วยฟรีๆ แบบไม่ต้องจัดโปรโมชั่นนั่นก็คือ “เชื้อโรค” ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังกันอย่างยิ่งยวด
ซึ่งโรคยอดฮิตที่เราคุ้นหูกันก็อย่างเช่น “โรคบาดทะยัก” ก็นับเป็นอีกหนึ่งโรคติดเชื้อแบคทีเรียอันตรายร้ายแรง พบได้ในทุกเพศทุกวัย
Image Credit: Pixabay
โดยเชื้อมักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลสดต่างๆ หรือทางสายสะดือ (สำหรับเด็กทารกในครรภ์) และมันสามารถแบ่งตัวเจริญเติบโตบริเวณแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลที่ลึก แคบ และมีออกซิเจนน้อย
กลับมาที่ “สนิม” ที่จริงๆ แล้วเป็นแพะรับบาปมาโดยตลอด เพราะสนิมไม่ได้เป็นตัวก่อให้เกิดเชื้อโรคขึ้น แต่เป็นเพียงสิ่งที่เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงในการติดเชื้อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนิมบนพื้นผิวที่มีความขรุขระ จะเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อชั้นดี เราจึงพบเชื้อในเหล็กหรือโลหะที่มีสนิมได้มากเป็นพิเศษ
หรืออาจจะสรุปได้ว่า “สนิมไม่ได้ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก” มันเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สร้างหรือเพิ่มโอกาสซ่อนตัวในบริเวณนั้นได้มากขึ้นนั่นเอง
Image Credit: Pixabay
## แล้วจะทำอย่างไรให้บริโภคอย่างปลอดภัย? ##
สำหรับคนที่ต้องการบริโภคพวกน้ำอัดลมขวดแก้วที่มีฝาเป็นโลหะ หรืออาหารกระป๋องต่างๆ จะมีสนิมหรือไม่มีสนิมก็ตาม เราควรล้างหรือเช็ดทำความสะอาดก่อนเสมอ
ให้ตั้งธงไว้ก่อนเลยว่ามีโอกาสที่ตัวกลางเหล่านั้นจะนำเชื้อโรคที่ปนเปื้อนส่งต่อเข้าสู่ร่างกายและเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา หรืออาจจะเทใส่แก้ว/ภาชนะอื่นแล้วค่อยบริโภคแทน
หรือหากพิจารณาดูแล้วว่ามันน่าจะอันตรายเกินไปในการจะบริโภค ก็เลี่ยงการบริโภคนั้นไปก่อนเลยดีกว่า
Image Credit: Pixabay
อีกทั้ง ในปัจจุบันเองก็มีวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถึงแม้จะเป็นโรคที่พบได้น้อยแล้ว แต่ก็ควรได้วัคซีนป้องกันไว้ก่อน
โดยเฉพาะการฉีดให้กับเด็กทุกๆ คนตั้งแต่ยังเล็กก็เป็นสิ่งที่ควรต้องทำ หรือหากเกิดความกังวลว่าได้สัมผัสกับสนิมซึ่งเป็นตัวกลางที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและตรวจรักษากันต่อไป.
Source:
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน
- อ.นพ.ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- การประปาส่วนภูมิภาค
- การประปานครหลวง
- คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) http://med.swu.ac.th/microbiology/images/M_G33P9.pdf
โฆษณา